วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มสถานีเรดาร์ลับที่ 85 ของตนในลาว

Photo courtesy of Lt/Col Jeannie Schiff USAF (ret)
การศึกษาของ Timothy N. Castle จากหนังสือ One Day Too Long: Top Secret Site 85 and the Bombing of  North Vietnam (New York: Columbia University Press, 1999) ชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างสงครามเวียดนามนั้น สหรัฐฯ ได้เข้าไปปฏิบัติการในลาว แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีทหารอเมริกันอยู่ในประเทศที่เป็นกลางอย่างลาว ทหารที่ถูกส่งไปติดตั้งเรดาร์ในลาวจึงถูกปลดประจำการก่อน และส่งเข้าไปทำงานในฐานะลูกจ้างของบริษัทเอกชน ปฏิบัติการสำคัญในลาวของสหรัฐฯ ประการหนึ่งคือการก่อสร้างสถานีเรดาร์ต่างๆ ที่สำคัญคือ สถานีลับที่ 85 ในระหว่างก่อสร้าง สหรัฐฯ อ้างว่าสถานีดังกล่าวถูกกองกำลังของเวียดนามเหนือบุกทำลายและฆ่านายช่างอเมริกันไปส่วนหนึ่ง โดยสหรัฐฯ สามารถช่วยเหลือออกมาได้เพียง 5 นาย  และเพื่อไม่ให้เวียดนามได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ต่างๆ สหรัฐฯ จึงทิ้งระเบิดสถานีดังกล่าวเสีย อย่างไรก็ดี เวียดนามเหนือปฏิเสธเรื่อยมาว่าไม่ได้โจมตีสถานีลับดังกล่าว Castle ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับทหารที่สหรัฐฯ ช่วยออกมาไม่ได้ คนเหล่านี้รอดชีวิตจากการโจมตีจากเวียดนามและสหรัฐฯ หรือไม่ และทั้งๆ ที่รู้ว่า เวียดนามเหนือก่อกำลังเพื่อบุกสถานีที่ 85 ทำไม่สหรัฐฯ จึงรีรอที่จะถอนนายช่างอเมริกันออกจากสถานี

ระหว่างสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ รังเกียจที่จะยอมรับว่ามีทหารอเมริกันอยู่ในลาว แม้ว่าจะมีปฏิบัติการทางอากาศภายใต้รหัส Barrel Roll ในลาวภาคเหนือและ Steel Tiger ในลาวภาคใต้ ภารกิจเหล่านี้มุ่งขัดขวางการใช้เส้นทางสายโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail)

Site 85's location in northern Laos was roughly 120 Miles from Hanoi, or the distance between San Diego and Los Angeles, CA. The existence and location of Site 85 was declassified in 1983.
ปฏิบัติการทางอากาศในลาวที่เพิ่มขี้นในกลางทศวรรษที่ 1960 ทำให้ต้องมีเครื่องช่วยนำทางการบินที่ดีขึ้น การขาดเครื่องช่วยดังกล่าวเป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติการทางอากาศ โดยเฉพาะปฏิบัติการ Rolling Thunder  ในเวียดนามเหนือ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเริ่มด้วยการได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวภายใต้เจ้ามหาชีวิตให้จัดตั้งสถานี TACAN (Tactical Air Navigation) ในลาว สถานีแรกตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 1966 แต่ไม่เพียงพอสำหรับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ทางออกที่ดีกว่าน่าจะเป็นการติดตั้งระบบการทิ้งระเบิดที่ควบคุมด้วยเรดาร์จากภาคพื้นดิน (a ground-directed radar bombing system)    เช่นแบบ MSQ-77   แต่ได้รับการคัดค้านว่าระบบที่มีลักษณะคุกคามเช่นนั้นไม่เหมาะที่จะติดตั้งในประเทศที่เป็นกลางที่เต็มไปด้วยประเด็นปัญหาที่อ่อนไหวต่างๆ กระนั้นก็ตามทำเนียบขาวก็ตัดสินใจติดตั้งเรดาร์พิฆาตที่สถานีที่ 85 (Site 85)

ปฏิบัติการติดตั้งเรดาร์พิฆาตในลาวภายใต้ชื่อ Heavy Green  และระบบเรดาร์เคลื่อนที่ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษแบบ TSQ-81  มีขึ้นพร้อมกันในปี 1967 นายทหารช่างของกองทัพอากาศถูกเลือกให้ไปปฏิบัติการที่สถานีดังกล่าว และเพื่อสร้างนิยายต่อไปว่า พวกเขาไม่ใช่ทหาร นายทหารช่างเหล่านี้จึงถูกปลดออกจากกองทัพอากาศและถูกจ้างโดยบริษัทล็อกฮีด (Lockheed)   Castle ยืนยันว่า กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิบัติไม่ดีต่อคนเหล่านี้และลูกน้อง

การก่อตั้งสถานีสำหรับ TSQ-81 และ TACAN ในที่ต่างๆ ของลาวได้รับความสนใจจากเวียดนามเหนือ เดือนมกราคม 1968 เครื่องบินเวียดนาม 4 ลำทิ้งระเบิดถล่มและยิงกราดเส้นทางไปยังสถานีที่ 85 แต่ไม่สามารถทำลายได้ ต่อมาในเดือนมีนาคม กองทหารภาคพื้นดินของเวียดนามเหนือบุกเข้าทำลายและฆ่านายช่างส่วนหนึ่ง หน่วยงาน CIA ซึ่งรับผิดชอบต่อการสนับสนุนสถานีเรดาร์ในลาวสั่งให้ถอนกำลังพลทั้งหมดออกจากลาวโดยเฮลิคอปเตอร์ แต่ทำได้เพียง 5 นาย และด้วยความกลัวว่า เวียดนามเหนือจะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ทางเทคนิคต่างๆ ได้ กองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงทิ้งระเบิดถล่มสถานีดังกล่าวเสียเอง

ที่มา พ.ต.ศรศักร ชูสวัสดิ์สรุปจาก David H. Eyman. "Review of Timothy N. Castle, One Day Too Long: Top Secret Site 85 and the Bombing of North Vietnam," H-War, H-Net Reviews, October, 1999. URL: http://www.h-net.msu.edu/reviews/showrev.cqi?path=2885948317125. 30/11/44.

แหล่งข้อมูลอื่น:
   - Major General Richard Secord, Disaster at Site 85, Chapter 6 of "Honored and Betrayed."  http://homeearthlink.net/~aircommando1/secord85.html.
    - Federationl of American Scientists. www.fas.org
    - USAF Museum at Wright-Patterson Air Force Base.  www.wpafb.af.mil

ไม่มีความคิดเห็น: