วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

3 จี "หนังชีวิต สื่อสารไทย"


3 จี, 3 จี, 3 จี! ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำว่า "3 จี" ตกเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ "กทช." ระงับการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ IMT ระบบ 3 จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ตามคำฟ้องของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT

ผลกระทบลูกโซ่ที่ตามมามีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางบวกและลบ

3 จี ดีอย่างไร จำเป็นหรือไม่ รอ "4 จี" ไปเลยดีกว่าไหม

เรื่องนี้แต่ละฝ่ายมีมุมมองเช่นไร มาร่วมตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน!



ในมุมของผู้ประกอบการ สรุปได้คำเดียวสั้นๆ ว่า

การลงทุนวางเครือข่ายมือถือยุคที่ 3 หรือ 3 จี นั้น ต้องใช้เงินมหาศาล

แต่ทุกฝ่ายดูเหมือนจะมองไปในทิศทางเดียวกันว่า

ผลกำไรที่จะวกกลับมาจะคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้าน "วอยซ์" (เสียง) และการขาย "คอนเทนต์" ผ่านการเชื่อมต่อมือถือเข้ากับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ส่วนมุมของผู้บริโภค "ความเร็ว" ของสัญญาณ 3จี จะทำให้มือถือที่รองรับระบบๆ นี้ เปลี่ยนสภาพกลายเป็นเหมือนกับคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว

คอยทำหน้าที่รับส่ง-ถ่ายโอนข้อมูลสาร พัดรูปแบบด้วยความเร็วสูงสุดถึง 7 Mbps (แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ความเร็วจะอยู่ที่ประมาณ 4 Mbps)

ถ้าลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ระยะเวลาการดาวน์โหลดไฟล์เพลง เอ็มพี3 ความยาว 3 นาทีนั้น ถ้าใช้มือถือยุคที่ 2 หรือ "2 จี" ทั่วไป จะกินเวลาราว 7-8 นาที

แต่ถ้าเป็น 3 จี จะใช้เวลาเพียง 7 วินาที

จุดแข็งของระบบ 3 จี ประกอบด้วย

1. คุณภาพเสียงคมชัดกว่า 2 จี

2. การดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตไร้สาย มีความเร็วสูงขึ้น เช่น ไฟล์มัลติมีเดีย ไฟล์เพลง ไฟล์ภาพยนตร์เต็มเรื่อง ฯลฯ

3. มือถือ 3 จี รองรับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์

4. 3 จี รองรับระบบ "วิดีโอคอลล์" หรือการโทรศัพท์มือถือแบบเห็นหน้าเห็นตากันทั้งฝั่งคนโทร. และคนรับสายปลายทางผ่านสัญญาณจากกล้องวิดีโอที่ติดตั้งอยู่บนมือถือ และยังเหมาะสำหรับใช้ส่งไฟล์ประเภทวิดีโอคลิป และวิดีโอเมล์

5. เครือข่าย 3 จี ยังทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์แสดงพิกัดบนพื้นโลกไปด้วยในตัว

6. สิ่งที่จะตามมาแน่ๆ พร้อมกับยุค 3 จี คือ บริการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านมือถือด้วยคุณภาพระดับดิจิตอล คมชัด ราบรื่น ไม่กระตุก แม้ขณะเคลื่อนที่

เมื่อพิจารณาจากข้อดีเหล่านี้แล้วจะพบว่า 3 จี มีส่วนกระตุ้นให้ ผู้ใช้ "เสพความบันเทิง" ง่ายดายและสะดวกสบายขึ้นเป็นหลัก


นอกเหนือจากแง่มุมความบันเทิง ซึ่งคาดว่าจะเป็น "ปัจจัย" หลักขับเคลื่อนธุรกิจ 3 จี

หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า ความเร็วของ 3 จี จะช่วยให้พัฒนา- การด้าน "อี-เลิร์นนิ่ง" หรือ การศึกษาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล หรือ "เทเลเมดิซีน" ก็น่าจะได้รับอานิสงส์จากระบบนี้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น

แพทย์เก่งๆ ในเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเข้าไปถึงถิ่นทุรกันดาร

แต่ใช้เครือข่าย 3 จี เป็นช่องทางตรวจดูวินิจฉัยคนไข้

และให้คำแนะนำด้านการผ่าตัดแบบเรียลไทม์ (ตามเวลาจริง) กับแพทย์ท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดใช้ 3 จี ในหลายประเทศแถบยุโรป และเอเชีย พบว่า

เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับความคุ้มค่า ประโยชน์ และพิษภัยจากเทคโนโลยีนี้หลากหลายความเห็นด้วยกัน นั่นคือ

1. ราคาการประมูลหรือให้สัมปทาน 3 จี สูงลิบเกินไป ซึ่งจะส่งผลมาถึงราคาค่าบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. การวางเครือข่าย 3 จี ต้องใช้งบมหาศาล และทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ตามหัวเมือง กับมหานครเท่านั้น

3. การเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 3 จี เท่ากับว่า บีบให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินซื้อมือถือใหม่ไปโดยปริยาย

4. ควรจัดทำข้อมูลแถลงให้ชัดต่อสังคมว่า คลื่นแม่เหล็กไฟ ฟ้า 3 จี ส่งผลกระทบต่อมนุษย์แค่ไหน

5. ถ้ามือถือยุค 2 จี โทร.ข้ามเครือข่ายเข้าไปถึง 3 จี ไม่ได้ จะเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่

ต่อกันด้วย ข้อ 6 ผู้ควบคุมการวางโครงข่าย 3 จี ควรเป็นภาครัฐ หรือเอกชน หรือร่วมทุนกันทั้งสองฝ่าย ถ้าในกรณีเป็นภาครัฐ จะเหมาะสมกว่าหรือไม่ เพราะเท่ากับว่ายังสามารถ "ยึดกุม" โครง สร้างพื้นฐาน 3 จี เอาไว้ได้ ไม่ปล่อยให้เอกชนเข้าครอบงำ

7. การแข่งขันในยุค 3 จี ถ้าไม่เปิดกว้าง ไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขันเสรี โอกาสที่ ผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบจะมีมากน้อย เพียงใด

8. ภาครัฐและสังคมจะมีมาตรการรับมือกับการไหลบ่าของ "ข้อมูล-ข่าวสารด้านมืด" ผ่านเครือข่าย 3 จีได้อย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลจำพวกไม่เหมาะสม ขัดต่อศีลธรรมอันดี ที่มีอยู่เกลื่อนโลกอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้

9. เมื่อโยงวกกลับมาถึง กรณี กทช. เปิดประมูล 3 จี มีผู้ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว "มีอำนาจ" ในการปฏิบัติงานหรือเปล่า หรือว่าต้องรอให้ "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" (กสทช.) ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง เข้ามาดำเนินการ

ที่สำคัญ งบประมาณ หรือเงินหลวง 50 กว่าล้านบาทที่ กทช. นำไปจัดงานประมูล 3 จี ณ โรงแรมหรู "เอวาซอน หัวหิน" นั้นมัน "สูงเกินกว่าเหตุ" ไปหรือไม่

และ 10. ทำไมรัฐบาลไทย ไม่สนับสนุนให้กิจการโทรคมนาคมของตัวเอง ทั้ง CAT และทีโอที สานต่อธุรกิจ 3 จี ให้ดีขึ้นจนทัดเทียมภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มนักวิชาการและบุคคลที่มีความเห็นว่า "3 จี" นั้นสำคัญต่อ "พัฒนาการ" ของสังคมไทย

อาทิ กลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ ได้เคยออกแถลง การณ์ล่ารายชื่อเพื่อให้รัฐบาลเจรจากับ กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทบทวนการฟ้องร้อง กทช. เพื่อให้การประมูลใบอนุญาต 3 จี เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมให้เหตุผลว่า

การยกเลิกประมูล 3 จี จะนำไปสู่การชะงักงันของการพัฒนาประเทศ ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย การฟ้องร้องครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่มีต่อองค์กรอิสระ ในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ

แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีความซับซ้อนสูง เพราะปัญหาภายในที่สั่งสมมายาวนานของสังคมไทย แต่ทุกอย่างย่อมแก้ไขได้ด้วยเจตจำนงทางการเมือง

ดังนั้น จึงขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อกรณีการประมูล 3 จี ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้


1. ขอให้รัฐบาลเจรจากับผู้บริหาร กสท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับ เพื่อพิจารณาทบทวนการฟ้องร้อง กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การประมูลเดินหน้าไปได้

2. ขอให้รัฐบาลมีแนวทางในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อแก้ปัญหาของทั้งสองหน่วยงาน ที่จะได้รับผลกระทบจากการประมูล 3 จี สำหรับทางออกในระยะยาว

3. ใน ขณะที่ กทช. เดินหน้าเรื่องการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม ขอให้รัฐบาลและรัฐสภาผลักดันกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เป็นอิสระเพื่อมาปฏิรูปกิจการกระจายเสียงต่อไป

กลุ่มของน.ส.สุภิญญา ระบุด้วยว่า การประมูล 3 จี ภายใต้เงื่อนไขของ กทช. จะนำไปสู่การปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การประมูลครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม จากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ภายใต้การกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันเสรีตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

2. การประมูลครั้งนี้จะนำไปสู่กระบวน การปฏิรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการปรับตัวในเรื่องประสิทธิภาพของการบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคม

3. การประมูลจะนำไปสู่การพัฒนากิจ การโทรคมนาคมเพื่อกระจายการเข้าถึงเทค โนโลยีสารสนเทศออกไปในชนบท ลดช่องว่างทางเทคโนโลยี หรือ "ดิจิตอล ดิไวด์" ในสังคม (ปัจจุบันไทยมีอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์พื้นฐาน 10.37% อินเตอร์เน็ต 25.80% ในขณะที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือ 122.57%)

4. รัฐจะได้ประโยชน์จากรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่ กทช. ต้องนำส่งเข้ารัฐเต็มจำนวน โดยไม่ถูกหักรายทางเหมือนระบบสัมปทาน

5. ถ้าการประมูลครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ต่อสายตาคนไทยและชาวโลกด้วยความโปร่งใสมากที่สุด จะช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการทุจริต การสมยอมได้

ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมือง สนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม ด้วยการให้ กสท.ยุติการดำเนินการทางกฎหมายต่อ กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ

เพื่อให้การประมูล 3 จี เดินหน้าไปได้ และก่อประโยชน์ร่วมของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ต้องยุติลงไป พร้อมๆ กับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั่นเอง


อีกประเด็นที่เริ่มมีการพูดจากันมากขึ้นตามเว็บบอร์ดข่าวสารไอทีโลกไซเบอร์ ก็คือ

ในเมื่อโครงการ 3 จี ของไทย "เดินช้า" กว่าชาติเพื่อนบ้านบางประเทศ

ฉะนั้น จึงสมควรตั้งเข็มทิศขับเคลื่อนเทคโนโลยีสื่อสารข้ามไปสู่ยุค "4 จี" เลยดีกว่าหรือไม่

เพราะเครือข่าย 4 จี มีจุดเด่นตรงที่ใช้วิธีรับส่งข้อมูลและสัญญาณเสียงแบบ IP digital packet ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยราคาค่าบริการถูกกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่า 3 จี

โดยความเร็วเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของ4จี ตามทฤษฎีจะสูงกว่า 3 จี ประมาณ 4-10 เท่า

และปัจจุบันนี้ ชาติใหญ่ๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ก็เริ่มเดินทางไปในทิศทางนี้กันแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเทคโนโลยี 4 จี ยังติดอยู่ตรงที่ในวงการโทรคมนาคมระดับโลกยังตกลง "มาตรฐานการพัฒนาร่วมกัน" ไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไรแน่

สำหรับบ้านเราก็น่าคิดอยู่ว่า ปม 3 จี ยังวุ่นวายปั่นป่วน ขาดการรับรู้ข้อเท็จจริงถึงเพียงนี้

แล้วถ้าก้าวกระโดดทะยานไปสู่ 4 จี เลย การต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์จะรุนแรงดุเดือดเลือดพล่านสักเพียงไหน!



วิวัฒนาการ 3 จี ระดับโลก

ปี 2542 : กำเนิดมาตรฐานคลื่นวิทยุ 3 จี

ปี 2543 : เริ่มดำเนินการสร้างเครือข่าย 3 จี ให้กลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) พิจารณารับรองมาตรฐานมือถือระบบ 3 จี (IMT-2000)

รัฐบาลบางประเทศในยุโรปและเอเชีย ออกใบอนุญาตมือถือ 3 จี เฟสแรก

ที่ประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม พิจารณาระบบ 3 จี เฟสสอง

ปี 2544 : ญี่ปุ่นเริ่มทดลองเปิดบริการ 3 จี

บริการ 3 จีเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ เปิดบริการในยุโรป

ไม่มีความคิดเห็น: