สุเทพ
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2553
สำหรับผมแล้ว การที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะลงเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 1 แทน นายชุมพล กาญจนะ ที่ถูกถอดสิทธิทางการเมืองไป ถือเป็นเรื่องทางการเมือง “ปกติ” ในยุคที่การเมืองไทย “ไม่ปกติ”
ที่บอกว่า “ปกติ” และไม่น่าจะเสียหายก็เพราะ นายสุเทพ เดิมก็เป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” จากสุราษฎร์ธานีอยู่แล้ว ทั้งเมื่อต้องออกจากตำแหน่งเพราะคดีความเดิมที่ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย และหากเคลียร์ประเด็นนั้นได้แล้วคุณสมบัติก็น่าที่จะครบถ้วน
ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 ที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัคร ไม่ได้บัญญัติโดยตรง โดยเฉพาะตาม “(8) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง” หรือ “(9) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น” เพราะตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน และตำแหน่งตามทั้งสองวงเล็บคงเทียบเคียงไม่ได้
ความจริงเรื่องนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยอยู่แล้ว การที่ว่าเมื่อไปสมัครลงเลือกตั้ง ต้องลาออกจากตำแหน่งอื่นๆก่อน ในหลายประเทศไม่ต้องทำ เหตุผลหนึ่งก็เพราะสิ้นเปลือง เกิดผู้ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ลาออกมาลงสมัคร สส. ระดับชาติ แต่สอบตก การเลือกตั้งซ่อมก็ต้องมีที่ท้องที่นั้นใหม่เช่นกัน สู้สอบตกแล้วกลับไปทำงานต่อได้ทันทีจะดีกว่า
อย่างในสหรัฐอเมริกา คนที่เป็นวุฒิสมาชิกจะลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็ไม่ต้องลาออก มาลงได้เลย สอบตกก็กลับไปทำงานต่อ สอบได้ค่อยลาออก
ผมจึงไม่ติดใจอะไรมาก หาก นายสุเทพ จะเป็นรองนายกฯแล้วลงสมัครรับเลือกตั้งไปด้วย ในเมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่ได้ห้าม สส. เป็นรัฐมนตรี ก็ต้องปล่อยไป ไม่เหมือน รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่เมื่อ สส. เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ต้องปล่อยที่นั่ง สส. ของตนไป โดยจะมีการเลือกตั้งซ่อม หรือ เลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อ แล้วแต่กรณี
แต่ก็ไม่รู้ว่าเขียนเสร็จ ส่งต้นฉบับแล้ว คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินเป็นอย่างอื่นหรือไม่!!
และที่ “ปกติ” อีกเรื่อง คือ การที่จะส่ง นายสุเทพ ลงนั้น ในเมื่อวาระของสภาฯชุดนี้เหลืออีกเพียง 1 ปีเศษๆ จะส่งคนใหม่ลงอาจได้ไม่คุ้มเสีย ให้ นายสุเทพ ลง น่าจะ “ประหยัด” ที่สุดสำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ ชื่อก็เป็นที่รู้จัก คุมหัวคะแนนได้หมด แถมลงเองยังไม่ต้องไปโต้เถียงกับ “สาย” อื่นในพรรคที่อาจต้องการส่งคนของตนลง
แต่ที่ว่า “ไม่ปกติ” นั้น ก็คงเป็นเพราะความคาดหมายในวงการเมืองถึงคดี “ยุบพรรค” ที่ส่อท่าทีว่า อาจถึงคราวเคราะห์ของ พรรคประชาธิปัตย์ แล้ว และถึงจะคาดเดาต่อว่า ยุบแล้วอาจมีทั้งความเป็นไปได้ที่จะ “ตัดสิทธิ์” กรรมการบริหารหรือไม่นั้น “ผู้ใหญ่” หลายคนใน พรรคประชาธิปัตย์ เอง คงไม่อยากเสี่ยงรอดวงโดยไม่หาวิธีป้องกันดูแลสมาชิกที่เหลือในสภาฯไว้ไม่ให้กระจัดกระจาย
การที่ นายสุเทพ จะคืนถิ่นสู่สภาฯ จึงไม่ใช่เรื่องของการเตรียมการเป็น “นายกรัฐมนตรี” เท่ากับ ความคิดว่าจะต้องมีคนที่มีบารมีพออยู่ในสภาฯ หากกรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ติดกับดัก” 5 ปี พรรคกลายเป็นพรรค “หัวขาด” อย่าง พรรคพลังประชาชน สส. ที่อยู่ในสภาฯอาจถูก “ตอด” รวบไปทางอื่นได้ นายสุเทพ จึงเป็น “กุญแจ” สำคัญ ที่จะคอยต้อนไพร่พลให้เข้าคอกที่เตรียมไว้แล้ว
พรรคประชาธิปัตย์ เห็นบทเรียน “งูเห่า” และการก่อกำเนิดของ พรรคภูมิใจไทย จนสลับขั้วได้ คง “หนาว” และต้องหาวิธีป้องกันให้ดีที่สุด
และ นายสุเทพ จะได้เป็น “King Maker” ผู้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ส่วนจะหันไปหนุน นายกรณ์ จาติกวนิช หรือ ต้องกลับไปยกมือให้ นายชวน หลีกภัย ทำ “Hat Trick” เป็นนายกฯสมัยที่ 3 ไว้ว่ากันเมื่อถึงเวลา ส่วนที่ว่า ตัว นายสุเทพ จะเป็นนายกฯเองเลยนั้น นายชวน “ตีกัน” ไปเรียบร้อยว่า คงต้องเป็นไข้หวัดนกตายกันทั้งพรรคก่อน!!
คนเก๋า อย่าง นายสุเทพ มองเกมออก เพราะนอกจากจะมีเกมการเมืองภายใต้ภาวะที่ “ไม่ปกติ” ในระบอบรัฐสภาแล้ว ยังมีการเดิมเกมที่ออกนอกระบบอยู่ด้วย เพราะถ้ายุบพรรคจริง การซาวเสียงนายกฯคนใหม่ล้มเหลว เกิดภาวะ “สุญญากาศ” อาจมีการ “เสียบ” ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่รวมพลคนกลางและคนการเมืองไว้ทั้งในรัฐบาล สภานิติบัญญัติ
นายสุเทพ ที่นั่งอยู่ในสภาฯ ก็จะ คงอยู่ในเกมและการ “ต่อรอง” แหม ระดับนี้แล้วไม่ “Game Over” ง่ายๆ!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น