วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่งตามศาลปกครองกลางระงับประมูล 3 จี

เปิดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่งตามศาลปกครองกลางระงับประมูล 3 จี

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ให้กทช.ระงับการประมูลใบอนุญาต3 จี โดยมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต 3จี ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เมื่อเวลา9.00น. วันที่23กันยายน2553 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด องค์คณะที่ 5 นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายไพบูลย์ เสียงก้อง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายสุชาติ มงคลเลิศลพ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายพรชัย มนัสศิริเพ็ญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำสั่ง กรณีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดี 3G ความว่า

คดีนี้ผู้ฟ้องคดี บมจ.กสท โทรคมนาคม ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้ศาลเพิกถอนนประกาศดังกล่าว และสั่งระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิพากษา ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดงกล่าวของศาลปกครองชั้นต้น

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในสามกรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ที่ประกาศเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นกฎที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อ พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้คณะกรรมการร่วมมีอำนาจจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรรคลื่นความถี่ ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคม แม้ กทช. จะอ้างว่าคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นโทรคมนาคมตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ประกาศไว้เดิม และสอดคล้องกับตารางกำหนดความถี่วิทยุแห่งข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศก็ตาม


แต่เมื่อ กทช. จะดำเนินการตามมาตรา 51 วรรค 1 (1) (3) (4) และ (5) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ ต้องมีการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคมโดยคณะกรรมการร่วมก่อน ตามมาตรา 63 และมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน


ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีคณะกรรมการร่วมการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคมจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุของ กทช. ตามมาตรา 51 วรรค 1 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การออกประกาศของ กทช. จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว


กรณีที่ 2 การให้กฎดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขให้ภายหลังหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ยังไม่มีการประมูลและยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎต่อไป จึงมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย หากให้มีการประมูลล่วงเลยไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล หากต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายที่มากกว่า และยากกว่าในการเยียวยาแก้ไขภายหลัง โดยอาจเกิดกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับผลการประมูล ทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนตามมา


กรณีที่ 3 การให้ทุเลาการบังคับตามกฎเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในปัจจุบันการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ได้มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้ง กทช. ได้ยอมรับว่าในระยะแรกการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ทำได้เพียงโครงข่ายขนาดเล็ก ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ และการจะครอบคลุมทั่วประเทศต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี จึงเห็นได้ว่าการที่ขณะนี้ยังไม่มีการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด


นอกจากนี้ แม้การดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของ กทช. จะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่การดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมายด้วย


ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ลงวันที่ 23 ก.ค. 2553 โดยให้ กทช. ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป


ไม่มีความคิดเห็น: