นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดระบบปลูกข้าวของประเทศไทย ภายใต้วงเงินงบประมาณ 2,180,360 บาท เพื่อให้ระบบการผลิตข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากในปัจจุบันมีการเพิ่มพื้นที่และจำนวนรอบการเพาะปลูกหลายครั้งในแต่ละปี ส่งผลทำให้คุณภาพข้าวไทยมีปัญหา และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคแมลงด้วย
นายวัชระกล่าวต่อไปว่า การจัดระบบปลูกข้าวดังกล่าวมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2554-2556) กำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าว 9 ล้านไร่ ใน 22 จังหวัด ในเขตชลประทาน ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และจังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหา โดยแบ่งการปลูกข้าวออกเป็น 4 ระบบ ให้เกษตรกรเลือก คือ 1.ปลูกข้าวนาปี ต่อด้วยข้าวนาปรัง และปลูกพืชหลังนาเพื่อพักดิน 2.ปลูกข้าวนาปีต่อด้วยข้าวนาปรัง และเว้นการปลูก 3.ปลูกข้าวนาปี และเว้นวรรคปลูกพืชหลังนา ก่อนที่จะปลูกข้าวนาปรัง และ 4.ปลูกข้าวนาปี และเว้นวรรคการปลูก ก่อนที่จะปลูกข้าวนาปรังอีกครั้ง
"นายธีระ (วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ) ยืนยันต่อที่ประชุมว่าการปลูกข้าว 2 ครั้งต่อปี จะช่วยให้เกษตรกรมีกำไรมากกว่าการปลูกหลายครั้งในปัจจุบัน เพราะผลผลิตจะมีคุณภาพและมีต้นทุนน้อยกว่า ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณว่าแต่ละปีจะใช้เท่าไรในกรอบวงเงิน 2 พันกว่าล้านบาท กระทรวงเกษตรฯจะไปหารือร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อกำหนดความชัดเจนอีกครั้ง"
นายวัชระกล่าวต่อไปว่า ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเร่งสำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ และวิเคราะห์ให้เรียบร้อยภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำมาใช้วางแผนและเตรียมการใช้การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร รวมทั้งจัดเตรียมและสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรที่จะเริ่มปลูกในพื้นที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต่อไป
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นว่า กระทรวงเกษตรฯควรมีมาตรการในการบริหารจัดการโครงการที่ชัดเจนในพื้นที่ชลประทานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงมาตรการรองรับในกรณีเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าระบบเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น