เมื่อวันที่ 22 กันยายน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า" ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ โดยนายสุรจิต ลักษณะสุต หัวหน้านักวิจัยฝ่ายเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธปท. ได้เปิดเผยบทวิจัยเรื่อง ความท้าทายของนโยบายการคลัง สู่ความยั่งยืน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวว่า ไทยยังมีช่องว่างจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น 5% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จากผลการศึกษาพบว่า ตามโครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรจะมีการจัดเก็บภาษีได้ 21.4% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันเก็บได้จริงเพียง 16.2% ของจีดีพี พร้อมเสนอให้ปฏิรูปภาษี โดยปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อีก 3% (ปัจจุบันจัดเก็บ 7%) เพราะไทยมีอัตราการเก็บแวตต่ำเป็นอันดับสององโลก และให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีและค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล และบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยรวมก็จะสามารถเพิ่มรายได้ 1.4-2.8% ของจีดีพี และหากรัฐบาลอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลงก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้าน บาท หรือ 0.2% ของจีดีพี
นายสุจริตกล่าวว่า หากสามารถลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้อีก 2.2% ของจีดีพีจึงจะเพียงพอในการรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะหากพิจารณาแนวโน้มน่าจะมีปัญหาความยั่งยืนทางการคลัง โดยปัญหาสำคัญคือ อาจไม่รองรับกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดูจากงบประมาณรายจ่ายปี 2550-2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.8% เทียบกับปี 2540-2549 ที่ขยายตัวที่ 4.9% ขณะที่รายได้รัฐบาลสุทธิลดจาก 4.7% เป็น 4.2% ในปี 2550-2554 ขณะที่ภาระการคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภาระผูกพันและการดูแลผู้สูงอายุ ต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพราะหากยังรอต่อไปอาจจะต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 4.2% ของจีดีพี" นายสุจริตกล่าว และว่า การใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่ผ่านมา ยังเข้าถึงกลุ่มคนจนค่อนข้างน้อย เฉลี่ยเพียง 5-10% ของกลุ่มคนจนทั้งหมด ขณะที่รายจ่ายด้านสาธารณสุขของไทยไม่ได้ต่างจากค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในภูมิภาค แต่คุณภาพยังต้องพัฒนาและปัญหาสำคัญอยู่ที่ประสิทธิภาพการใช้จ่าย และการจัดสรรงบประมาณให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น