ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ( เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 กันยายนถึงผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เปิดใจสาธารณชน วิเคราะห์เชิงลึกกลุ่มผู้ที่ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งใหม่วันนี้ พรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ใครจะได้เป็นรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งและตัดสินใจแล้วใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 4,312 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 25 กันยายน 2553 ผลการสำรวจพบว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ประชาชนที่ตัดสินใจแล้วประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.7 ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่ประมาณเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 16.3 จะเลือกพรรคอื่นๆ
เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกข้อมูลทางสถิติจำแนกลักษณะของผู้ตัดสินใจจะเลือกตั้ง พบความแตกต่างระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาย และหญิง โดยผู้หญิงมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่ากลุ่มผู้ชาย คือร้อยละ 54.8 ต่อร้อยละ 46.7
ขณะที่กลุ่มคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนของผู้ชาย มากกว่า ผู้หญิงคือร้อยละ 37.2 ต่อร้อยละ 28.8อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่จะเลือกพรรคอื่นๆ ไม่พบความแตกต่างกัน
ที่น่าสนใจคือ เมื่อวิเคราะห์กลุ่มคนตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มคนที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยในทุกช่วงอายุ และ กลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด คือ ร้อยละ 56.3
ขณะที่ กลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่ร้อยละ 42.4
แต่เมื่อจำแนกตามอาชีพประจำของคนที่จะเลือกตั้ง พบว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ใจมากที่สุดอยู่ที่กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน คือร้อยละ 57.7
แต่ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มอาชีพถูกแบ่งออกในสัดส่วนพอๆ กันที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย กลับกลายเป็นกลุ่มอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ คือร้อยละ 47.8 ระบุจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 40.5 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 11.7 จะเลือกพรรคอื่นๆ
จากข้อมูลที่ค้นพบนี้จะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนไม่ถึงครึ่งคือ ร้อยละ 47.8 กับร้อยละ 47.5 คือในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสหกิจ และกลุ่มเกษตรกร กับผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป
เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า ถ้าคนที่มีรายได้สูงคือมากกว่า 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปจะมีสัดส่วนผู้จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุดคือร้อยละ 59.3
ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยคือต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพียงร้อยละ 45.5 เท่านั้น
เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 และร้อยละ 56.6 ที่สูงกว่าปริญญาตรีจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์
แต่ถ้าต่ำกว่าปริญญาตรีมีเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.3
เมื่อจำแนกตามเขตที่พักอาศัย พบว่า คนที่พักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าคนที่พักอยู่นอกเขตเทศบาล คือร้อยละ 52.9 ต่อร้อยละ 49.6
ในขณะที่สัดส่วนของคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่นอกเขตเทศบาลมากกว่าในเขตเทศบาล คือร้อยละ 35.7 ต่อร้อยละ 29.3
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงตั้งใจจะเลือกพรรคเพื่อไทย มากกว่า คนในภาคอื่นๆ โดยพบว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย
ในขณะที่ร้อยละ 32.1 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และเกือบ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 18.9 จะเลือกพรรคอื่นๆ
แต่เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนเกินครึ่งในสองภูมิภาค คือ ภาคกลาง ร้อยละ 50.7 และภาคใต้ ร้อยละ 92.0
หากพิจารณาภูมิภาคที่จะต่อสู้กันสูสีมากที่สุดคือ ภาคเหนือ ที่พบว่า ร้อยละ 43.9 จะเลือกประชาธิปัตย์ และร้อยละ 41.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 45.9 จะเลือกประชาธิปัตย์ แต่ร้อยละ 36.7 ซึ่งถือว่า มีจำนวนมากพอสมควรจะเลือกพรรคเพื่อไทย และที่เหลือคือร้อยละ 17.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ ตามลำดับ
ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้ากลไกและ “กติกา” การชนะการเลือกตั้งอาศัยคะแนนเสียงของสาธารณชนเป็นหลัก และฝ่ายการเมืองยึดถือธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมา พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ ถ้าฝ่ายการเมืองยึดเอาจำนวนตัวเลขหรือ “โควต้า” ของ ส.ส. เป็นหลัก พรรคขนาดกลางน่าจะยังเป็นตัวแปรสำคัญว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลในวัฏจักรเดิมๆ ที่เคยเห็นกันมา โดยอาจนำมาซึ่ง การต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ให้ระวังเทคนิคที่แยบยลปฏิบัติการ “ถอนทุนคืน” ของฝ่ายการเมืองเพื่อใช้เป็นทุนในการเลือกตั้งครั้งใหม่
“เพราะถ้าเลือกตั้งใหม่วันนี้ พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคยังไม่สามารถครอบครองใจสาธารณชนให้ตัดสินใจเลือกตั้งจนมีเสียงมากพอจะชนะขาดและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในฐานข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดอ่อนอยู่ในกลุ่มเกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย แต่ถ้ามองการเมืองในเชิงสังคม มีความน่าเป็นห่วงคือ กลุ่มอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจกลับมีความแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มที่มีฐานมากพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ “ประชาชน” ในภาคเหนือ ที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันดุเดือดสูสี จึงต้องให้ฝ่ายการเมืองช่วยกันพิจารณา อย่าให้การแข่งขันทางการเมืองทำลายความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของพี่น้องประชาชน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในการช่วยเหลือเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกันของคนในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ตามเอกลักษณ์ของคนไทย” ดร.นพดล กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น