การศึกษาของ Daniel Fineman เรื่อง A Special Relationship: The United States and Military Government in Thailand, 1947 - 1958 (Honolulu: University of Hawaii Press, 1977) ชี้ว่า สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญให้การเมืองไทยตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการทางทหารในทศวรรษ 1950
Fineman ศึกษานโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของอำนาจเผด็จการทหารในประเทศไทยในทศวรรษที่ 1950 โดยให้ความสำคัญกับสหสัมพันธ์ของทั้งสองเรื่อง และชี้ให้เห็นว่า เพื่อขยายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนและรับรองรัฐบาลทหารของไทย ซึ่งทำให้พัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยล่าช้าและเกิดการกดขี่ทางการเมืองนานกว่า 3 0 ปี
ไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรูแมนและไอเซนฮาว เนื่องจากไทยค่อนข้างจะมีความมั่นคงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นจุดศูนย์กลางของความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะสกัดการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคดังกล่าว เนื่องจากไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม จึงไม่เคยเผชิญกับการต่อสู้ชาตินิยมที่แตกแยกและเจ็บปวด เนื่องจากประชาชนค่อนข้างจะเหมือนๆกัน มีความจงรักภักดีต่อระบอบกษัตริย์ และศรัทธาต่อศาสนา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จึงมองว่าคนไทยนั้นเปราะบางต่อลัทธิคอมมิวนิสต์น้อยกว่าประชาชนชาติอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วอชิงไทยจึงมองไทยว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญท่ามกลางความไม่มั่นคงของภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ จึงให้ความช่วยเหลือทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมากแก่รัฐบาลไทยเกือบตลอดทศวรรษที่ 1950 การขยายการปฏิบัติการลับของสหรัฐฯ ไปทั่วทั้งอินโดจีก็เริ่มจากฐานทัพในไทย
เพื่อรักษาความเป็นมิตรของไทยและคงวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป Fineman ยืนยันว่าสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารในไทยหลังปี 1945 อย่างแข็งขัน สหรัฐฯ มองว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นตัวเดิมพันที่ดีสุดสำหรับความมั่นคงทางการเมืองของไทย และเป็นนายประกันที่ดีสุดสำหรับวัตถุประสงค์ของนโยบายสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Fineman อธิบายพัฒนาการของความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศว่า อาจไม่ใช่แค่ความต้องกันทางอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ และไทย อาจไม่ใช่สาเหตุเดียว หรืออาจไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ Fineman เน้นว่า ข้อพิจารณาเดิมของไทย และไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์มีอิทธิพลต่อมุมมองของไทย เช่น ความกังวลเรื่องลัทธิการขยายตัวของจีน การอ่อนแอของรัฐกันชนของไทยอย่างลาวและกัมพูชา และหนทางที่ดีสุดสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย Fineman ชี้ให้เห็นว่าการเมืองภายในของไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดมุมมองของไทยต่อการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับสหรัฐฯ นอกจากนั้นทิศทางนโยบายต่างประเทศและสถานการณ์ทางการเมืองภายในของไทยเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ระหว่างปลายศตวรรษที่ 1940 การพยายามปฏิรูปประชาธิปไตยของไทยท้าท้ายความพยายามต่อต้านคอมมิวนิสต์ของวอชิงตันอย่างยิ่ง การแข่งอำนาจระหว่างจอมพล ป. และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์แสดงให้ว่า ไม่ใช่แค่แนวคิดเรื่องสงครามเย็น แต่การเมืองภายในด้วยที่มีอิทธิพลต่อการทูตไทยในทศวรรษที่ 1950 ทั้งคู่ต่างพยายามขอความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยทำการปฏิรูปประชาธิปไตยไปพร้อมกัน หรือแม้แต่แอบไปปรองดองกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการยืดหยุ่นทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศของไทย และการไม่เต็มใจที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ที่จะละทิ้งนโยบายไม่ฝักใฝ่มหาอำนาจใดอันเป็นจารีตของไทย
Fineman ชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ CIA และหน่วยงานของสหรัฐฯ ในไทย เริ่มตั้งแต่ 1951 สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพเพื่อปฏิบัติการปกติและลับในอินโดจีน และเข้าไปใกล้ชิดกับกลุ่มบางกลุ่มในกองทัพไทย CIA มีอิทธิพลเป็นพิเศษด้วยการสนับสนุนเผ่าและผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มักไม่ดี หลายอย่างของเผ่า Fineman ชี้ว่า การแข่งขันภายในระหว่างหน่วยงานของสหรัฐฯ ช่วยให้เกิดความแตกแยกในการเมืองไทยตามมา เร่งการกลับมาของเผด็จการทหาร เช่น กรณีกบฏแมนฮัตตันในเดือนมิถุนายน 1951 CIA มีบทบาทสำคัญช่วยให้กองทัพบกเอาชนะฝ่ายทหารเรือที่วางแผนยึดอำนาจได้ โดยที่ CIA ไม่ได้ปรึกษาสถานทูตสหรัฐฯ
Fineman สรุปว่า ขณะที่อำนาจเผด็จการทหารเป็นรากที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองไทย ไม่เกี่ยวกับอิทธิพลของสหรัฐฯ แต่ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สถานะของกองทัพไทยในการเมืองไทยแข็งแกร่งขึ้น ดังนั้นนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ (Containment Policy) และอำนาจเผด็จการทหารในไทยจึงเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อมาในทศวรรษที่ 1950 และ 1960
Arne Kislenko ผู้วิจารณ์ชี้ว่า ข้อสรุปของ Fineman เป็นการทำลายความคิดที่ว่า บทบาทของไทยในสงครามเวียดนามมาจากแรงจูงใจด้านอุดมการณ์หรือความต้องการผลตอบแทนเท่านั้น
ที่มา:
พ.ต.ศรศักร ชูสวัสดิ์ สรุปจาก Arne Kislenko. "Review of Daniel Fineman, A Special Relationship: The United States and Military Government in Thailand, 1947 - 1958," H-USA, H-Net Reviews, March, 1999.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น