Professor Samuel P. Huntington เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order (New York: Simon & Schuster, 1996) คาดการณ์ว่าในอนาคต การปะทะกันทางอารยธรรมจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งหลักของโลก โดยฮันติงตันให้ความหมายของ “อารยธรรม” ว่าเป็นการจัดกลุ่มผู้คนอย่างกว้างที่สุด ที่แยกมนุษย์ออกจากออกจากสัตว์อื่น อารยธรรมถูกกำหนดด้วยแก่นที่ร่วมกัน มีภาษา ประวัติศาสตร์ ศาสนา ขนบประเพณี สถาบัน รวมทั้งอัตลักษณ์เฉพาะของผู้คน ฮันติงตันกล่าวว่า ปัจจุบัน มีอารยธรรมหลักอยู่ 7 หรือ 8 อารยธรรม ได้แก่ ตะวันตก ขงจื๊อ ญี่ปุ่น อิสลาม ฮินดู ออร์ธอดอกซ์ สลาฟ ลาติน-อเมริกัน และ แอฟริกัน ก็น่าจะจัดเป็นอารยธรรมได้
Felix Marti กล่าวว่า ทฤษฎีของฮันติงตันนั้นท้าท้ายการคาดการณ์ที่มีขึ้นหลังสงครามเย็นเกี่ยวกับการจัดระเบียบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มีฐานอยู่ที่การยอมรับรูปแบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เกิดทั่วไป การคาดการณ์นี้เห็นว่า “ประวัติศาสตร์ถึงจุดจบ - end of history” โดยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ความสำคัญที่ฮันติงตันให้กับปัจจัยด้านวัฒนธรรมถือว่า เป็นพัฒนาการในเชิงบวกมาก ที่ผ่านมานั้น มีการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและความขัดแย้งตามการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจกันเป็นปกติ มองว่า สถาบันการเมืองเติบโตมาจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมก็คือเรื่องเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม Felix Marti ไม่เห็นด้วยกับการสรุปความอย่างง่ายๆ ของฮันติงตัน เช่น การแบ่งเขตวัฒนธรรมออกเป็นเขต การมองว่าแอฟริกัน “อาจจะ” เป็นเขตวัฒนธรรม ทั้งที่แอฟริกันประกอบด้วยวัฒนธรรมมากหลายเช่นเดียวกับยุโรป ยุโรปไม่เหมือนอเมริกาเหนือ ที่เรียกรวมว่า “อารยธรรมตะวันตก” นั้นก็มีวัฒนธรรมแยกย่อยมากมาย
Felix Marti มองว่า ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับทฤษฎีของฮันติงตันคือ ความเชื่อที่ว่าทุกวัฒนธรรมต้องการขยายอำนาจ และเห็นว่าฮันติงตันมองงถูกต้อง ที่ว่า ไม่ใช่รัฐ แต่เป็นวัฒนธรรมหน่วยใหญ่ที่กำลังจะเป็นตัวแสดงสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ
Felix Marti เห็นว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมไม่น่าจะมองว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แต่น่าจะเป็นแหล่งที่มาของประสบการณ์การอยู่รวมกัน (complementarity) วัฒนธรรมที่ต่างกันมีเครื่องมือที่มีอยู่จริง ที่เป็นสัญลักษณ์ หรือที่เป็นภูมิปัญญา ที่ให้ทัศนะเฉพาะเกี่ยวกับความจริงเรื่องจักรวาล ประวัติศาสตร์ และบุคคล แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทัศนะที่ปิดตาย การพัฒนาสิ่งดีงามร่วมกันเป็นไปได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างยอบรับข้อจำกัดของตน การสนทนากัน (Dialogue) ไม่ได้หมายถึงการทรยศ แต่หมายถึงการยอมรับทัศนคติและประสบการณ์ของคนอื่น มีนัยถึงการรวมเข้ากับแก่นที่มีค่าจากจารีตประเพณีอื่น โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียอัตลักษณ์ของตน
Felix Marti เสนอว่า สิ่งหนึ่งที่จะประกันสันติภาพระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรมก็คือ สันติภาพระหว่างศาสนา ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ทุกศาสนาต่างเรียกร้องสันติภาพ ความกลมกลืน ความเมตตากรุณา ความยุติธรรม การช่วยเหลือกัน ความอ่อนโยน ศาสนาต้องไม่สอนไม่ให้ใช้ความรุนแรงภายในชุมชนเท่านั้น แต่ต้องสนทนากันกับศาสนาอื่นอย่างจริงใจฉันพี่น้อง และป้องกันเสรีภาพทางศาสนา นั่นคือเคารพเสรีภาพในการเชื่อถือศรัทธาของมวลมนุษย์ และอนุญาตให้มีการปฏิบัติกิจทางศาสนาในดินแดนประวัติศาสตร์ของศาสนาอื่น ศาสนาต่างๆ ควรตกลงกันได้เกี่ยวกับเกณฑ์ทางจริยธรรมที่เป็นสากลที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับสันติภาพของโลก เปิดประตูสำหรับข้อตกลงต่างๆ ทางการเมืองและระหว่างวัฒนธรรมบนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง
นอกจากนั้น การยอมรับพหุนิยมทางวัฒนธรรมต้องการพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารของโครงสร้างที่ตายตัว ประชาธิปไตยเป็นวิธีการเพื่อการสนทนาและการตกลงยินยอมระหว่างกลุ่มที่มีผลประโยชน์ต่างกัน
----------------------------------
ที่มา: พ.ต.ศรศักร ชูสวัสดิ์ สรุปจาก Marti, Felix. “Clash of Civilizations or Intercultural Dialogue?” Global Education Associates. URL: http://www.globaleduc.org/clashof.htm. 27/11/44.
PDF File http://www.g-e-a.org/docs/Marti.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น