วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555
"ค้นหาความจริง-ให้อภัย-ยุติธรรม" สามหนทางสู่ความปรองดอง
หมายเหตุ - สถาบันพระปกเกล้าสรุปผลการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองในชาติ มอบให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน
เบื้องต้นกรรมาธิการเห็นด้วยกับรายงาน และเตรียมศึกษาหาข้อสรุปเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาในช่วงกลางเดือนนี้
การวิจัยนี้มุ่งตอบคำถามว่า “อะไรคือปัจจัยหรือกระบวนการสร้างความปรองดองที่ทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ?”
(1) การทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความขัดแย้ง การเสริมสร้างความปรองดอง และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ร่วมกับการศึกษากฎหมาย รูปแบบ และกลไกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเคยนำไปใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองทั้งในและต่างประเทศ
(2) การสรุปบทเรียนจากเวทีประชาเสวนาหาทางออกซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้ดำเนินการทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยให้ประชาชนหลายภาคส่วนร่วมกันเสวนาหาทางออกของประเทศไทยร่วมกันในช่วงเดือนธ.ค.2553 ถึงมิ.ย.2554
(3) การศึกษาประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองของต่างประเทศ ซึ่งคัดเลือกมา 30 กรณีศึกษาจากหลากหลายทวีปในบริบทที่แตกต่างกัน
ได้แก่ อินโดนีเซีย (เฉพาะกรณีอาเจาะห์) เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ รวันดา โมร็อกโก โคลัมเบีย ชิลี โบลิเวีย สหราชอาณาจักร (เฉพาะกรณีไอร์แลนด์เหนือ) และเยอรมนี
(4) การประมวลวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน
และ (5) การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยนักการเมืองอาวุโส ผู้มีบทบาทนำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความปรองดอง และผู้เกี่ยวข้อง โดยใช้คำถามปลายเปิดสำหรับการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured intervies) 2 ครั้ง
ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยมาจากปัญหาใจกลางอันประกอบด้วย ปัญหามุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน ทั้งในขั้นอุดมการณ์และขั้นผลประโยชน์
และปัญหาพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน โดยมีตัวแปรเชิงกระบวนการ คือการใช้อำนาจที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม
เช่น การแทรกแซงกลไกการตรวจสอบ การรัฐประหาร บทบาทขององค์กรตรวจสอบ ฯลฯ และความรุนแรงแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมวลชน สื่อมวลชน และกลุ่มต่างๆ เช่น นักการเมือง นักลงทุน นักวิชาการ ฯลฯ ที่มีส่วนทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นและขยายตัวออกไป
ดังนั้น การทำให้คนในสังคมไทยสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างบรรยา กาศแห่งการปรองดองโดย
(1) รัฐบาลควรแสดงเจตจำนงทางการเมือง มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว
(2) รัฐบาลควรสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนในสังคมให้เห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ
(3) รัฐบาลควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก อาทิ การยกย่องให้เกียรติผู้สูญเสีย หรือการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย
ในส่วนของผู้เกี่ยวข้อง (1) ทุกฝ่ายควรงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ อาทิ การใช้มวลชนในการเรียกร้องหรือกดดันด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย
(2) ควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจถูกตีความได้ว่าเป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
(3) สื่อมวลชนควรสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดอง หลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งใหม่
(4) สังคมไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการทำรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีต และต้องหามาตรการป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ ต้องมีการจัดกระบวนการและกลไกสร้างความปรองดอง ประกอบด้วยกระบวนการเสวนา (Dialogue) ใน 2 ระดับ คือ 1) ระดับตัวแทนทางการเมืองและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งอาจมีรูปแบบการพูดคุยที่หลากหลาย
และ 2) ระดับประชาชนฐานรากในรูปของการจัด ‘เวทีประเทศไทย’ ในพื้นที่ทั่วประเทศ อาจกำหนดให้มีเจ้าภาพดำเนินการ โดยในกระบวนการประชาเสวนาหาทางออก จะต้องหยิบยกประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในระยะสั้น เพื่อให้การใช้ความรุนแรงยุติลง และทำให้ความขัดแย้ง ความบาดหมาง และบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่ภาวะปกติที่เร็วที่สุด จะต้องพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
(1) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนส่งเสริมบทบาทของ คอป. ให้ค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต และป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีกในอนาคต
(2) การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย
(3) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการ กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
(4) การกำหนดกติกาทางการเมืองซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลัก/รัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปต่อประเด็นที่อาจขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย
และต้องหลีกเลี่ยงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เช่น การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบองค์กรอิสระ และประเด็นพรรคการเมือง การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ
ในระยะยาว สังคมต้องพิจารณาร่วมกันในประเด็นที่เป็นปมปัญหา ได้แก่ คุณลักษณะของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อแสวงหาสาระร่วมกันของอุดมการณ์ของประชาธิปไตยที่แตกต่างกันโดยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย อันจะนำไปสู่การสร้างเป้าหมายร่วมกันของประเทศชาติ
ตลอดจนกำหนดกติกาในทางการเมืองร่วมกันผ่านการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อหาดุลยภาพของการเมืองอันจะเป็นการกำหนดแนวทางที่มาจากการยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
นอกจากนี้จะต้องพิจารณาร่วมกันถึงการวางรากฐานของประเทศเพื่อความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างควบคู่ไปด้วย
การดำเนินการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการ คือ
(1) เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
(2) กระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย
และ (3) ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น