ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,203 คน เรื่อง "เสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องค่าครองชีพในปัจจุบัน" พบว่า ร้อยละ 76.1 ระบุว่า ราคาสินค้าในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการครองชีพของตัวเองและครอบครัว ขณะที่ ร้อยละ 23.9 ระบุไม่มีผลกระทบ ส่วนด้านรายรับ ร้อยละ 53.2 ระบุ มีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยร้อยละ 22.3 ต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเงินออมออกมาใช้ ร้อยละ16.4 ต้องกู้เงินหรือหยิบยืมจากคนอื่น และร้อยละ 14.5 แก้ปัญหาด้วยการพยายามหารายได้เสริมและเพิ่มชั่วโมงทำงาน (OT)
สำหรับวิธีการรับมือกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.5 ใช้วิธีประหยัดให้มากขึ้น รองลงมาร้อยละ 23.2 คือ ซื้อเท่าที่จำเป็น และร้อยละ 16.2 ใช้จ่ายให้น้อยลงหรือลดปริมาณในการซื้อจากปกติ ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ร้อยละ 36.9 ระบุว่า เป็นเพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาคือรัฐบาลไม่มีนโยบายและควบคุมราคาสินค้าที่ชัดเจน และต้นทุนสินค้าสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 50.1 เห็นว่า รัฐบาลเอาใจใส่กับการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยร้อยละ61.3 เชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 38.7 ไม่เชื่อมั่น ส่วนเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเสนอแนะรัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าครองชีพมากที่สุด คือให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคไม่ให้สูงไปกว่านี้ รองลงมาคือให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ดูปัญหาด้วยตนเอง และเพิ่มเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำโดยเร็วให้ทั้งราชการและภาคเอกชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น