ในเวลาค่ำ นายกรัฐมนตรีจะได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ และพูดคุยหารือภายใต้หัวข้อ "Review of the Progress Made Since the 2010 Summit" ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ภายหลังการประชุม Nuclear Security Summit (NSS) เมื่อปี 2553 ณ กรุงวอชิงตัน ที่ริเริ่มโดยสหรัฐ ซึ่งในวันนี้ เป็นการทบทวนผลการประชุม NSS ครั้งที่ 1 ที่ผู้นำทุกประเทศต่างเห็นพ้องว่า การก่อการร้ายที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามที่เร่งด่วนและร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ และมาตรการที่มีประสิทธิผลที่สุดในการป้องกันมิให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ให้แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วยการคุ้มครองวัสดุนิวเคลียร์อย่างรัดกุมและการป้องกันการลักลอบซื้อขายวัสดุนิวเคลียร์ และความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมบทบาทของ IAEA ในเรื่องนี้ ซึ่งในครั้งนั้น ที่ประชุมได้แสดงแจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคงต่อวัสดุนิวเคลียร์ทั่วโลกภายใน 4 ปี และยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ได้หยิบยกแนวทางการดำเนินการของตัวเอง อาทิ รัสเซียและสหรัฐ ตกลงที่จะกำจัดแร่พลูโตเนียมที่ใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ แคนาดา ชิลี เม็กซิโก ยูเครน ประกาศจะกำจัดยูเรเนียมที่มีอยู่ในครอบครอง จีน อินเดีย อิตาลี และญี่ปุ่น ประกาศจะก่อตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์และจัดการฝึกอบรมในเรื่องนี้ อาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รวมทั้ง ประเทศไทยได้ประกาศการเข้าร่วม Global Initiative to Combat Nuclear Terrorism (GICNT) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการปราบปรามการก่อการร้ายด้วยวัสดุนิวเคลียร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น