ผมยอมรับข้อหนึ่ง หลังจากได้รับฟังแนวคิดของ "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี" เป็นแนวคิดที่"ประชาธิปัตย์" คาดไม่ถึง และคนดูแลกองทุนนี้ก็ไม่ธรรมดา “ดร.นลินี ทวีสิน” ซึ่งเธอเป็นลูกแม่ค้าเก่า พ่อแม่ค้าขาย แต่เธอมองทะลุเลยว่า แรงงานไทยจำนวนมากที่ยังขาดโอกาส เธอจับเอาเรื่อง กองทุน เพศ วัฒนธรรม มวลชน มาผนึกรวมกันได้อย่างลงตัว ตรงข้ามกับแนวคิดพรรคประชาธิปัตย์ ชนิดที่ว่าหากงานนี้สำเร็จ ประชาธิปัตย์เสี่ยงสูญพันธ์แน่ๆ
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีแนวคิดที่ประชาธิปัตย์ไม่รู้ คือ เป็นแนวคิด "คู่ขนาน" กับ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่ประสบผลสำเร็จจนคนทั้งประเทศเทใจให้มาแล้ว
แนวคิดกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยมีผู้หญิงเกินครึ่งประเทศคือ 33 ล้านคน แต่จากสถิติที่น่าตกใจ คือ ผู้หญิงที่มีภาระต้องดูแลครอบครัว ไม่มีงานทำ มีเงินรายได้ไม่พอดูแลครอบครัว ซึ่งมีมากถึง 18 ล้านคน!!!
คนทั่วไปไม่ทราบว่าจริงๆว่า เกิดขึ้นโดยวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เล็งเห็นและตั้งโจทย์แรกเลยว่า "เราจะพัฒนาอาชีพและรายได้ของผู้หญิงได้อย่างไร"
บังเอิญโมเดลกองทุนลักษณะนี้ เคยมีการทดลองทำมาแล้วจริงๆใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย อดีตประธานสภาสตรีฯ คุณเยาวเรศ ชินวัตร คุณเยาวเรศได้ไปเยี่ยมเยียนแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ จากปัญหาภัยโจรใต้ และได้รับทราบจากผู้หญิงที่สูญเสียผู้นำครอบครัวจากปัญหาภัยภาคใต้ จึงได้บริจาคเงิน “สองแสนบาท” ให้ "ตั้งกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันจากผู้หญิงที่ประสบภัย ที่จังหวัดยะลา" เป็นทุนทรัพย์ทำอาหารและของใช้จากชุมชนออกขาย โดยไม่หวังรายได้อะไรทั้งสิ้น หวังเพียงแค่ช่วยแก้ไขปัญหาใต้รุนแรงแล้วทำมาหากินไม่ได้เลย
ตอนแรกทุกคนก็กลัวว่าเงินจะสูญ... แต่เปล่าเลย!!! แม่บ้านชาวมุสลิมเอาเงินไปซื้อไก่ ซื้ออาหาร ออกมาตั้งกลุ่มทำอาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยเพื่อนบ้านช่วยคนละไม้ละมือ ช่วยกันทำ และขายกันในชุมชน จนทุกวันนี้จากเงินตั้งต้น สองแสนบาทที่คุณเยาวเรศบริจาค ดำเนินการให้ วันนี้งอกเงยกลายเป็นเงินครึ่งล้านบาทพร้อมกลุ่มอาชีพมั่นคง แข็งแรง และมีชื่อเสียงจนรายการโทรทัศน์หลายรายการไปถ่ายทำ
นายกรัฐมนตรี นำแนวคิดและโมเดลต่างๆ ที่ได้เห็นจากหลายๆตัวอย่าง มาตั้งเป็นแนวคิดกองทุนนี้ คือ "ให้อำนาจประชาชน ให้ทุนทรัพย์ประชาชน ให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการ แล้วประชาชนในกองทุนจะช่วยกัน ตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง"
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนี้เจาะกลุ่มไปที่ผู้หญิงที่ขาดโอกาสกว่า 18 ล้านคน หากแม่บ้านเหล่านี้ได้ทุนได้โอกาส และทำกำไรหากอย่างน้อยแค่ วันละ100บาท ภายใน1ปี กองทุนนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ถึง 648,000 ล้านบาท/ปี (หกแสนสี่หมื่นแปดพันล้านบาท) คุณเห็นถึงเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาลไหม? และผู้หญิงเหล่านี้ สามารถค้าขายได้ทุกอย่าง ทั้งอาหาร อุปโภคบริโภค จนเกี่ยวข้องไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เช่น กลุ่มแม่บ้านจังหวัดยะลาที่เริ่มต้นจากอาหาร ขยับเป็นเสื้อผ้า และของใช้ในชุมชน
จากกองทุนหมู่บ้านที่ถูก พรรคประชาธิปัตย์ตำหนิด้วยข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว โดยไม่เคยไปดูข้อเท็จจริงที่แท้จริง คุณรู้ไหมว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นด้วยเงินกองทุนดังกล่าวจำนวน 1 แสนล้านบาท วันนี้ยอดหมุนเวียนในบัญชีกว่า 1.6 แสนล้านบาทแล้ว
หลักคิดต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้านคือ เงินจากกองทุนหมู่บ้าน กับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะเดินคู่ขนานกันและช่วยกันเข็นออกมาในรูปธุรกิจ SME และ OTOP ที่มีหลักคิดและความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
โครงการอื่นบางพรรคคิดแต่ชาวบ้านทอผ้าแต่เจ้าของผ้าไม่ได้ขาย โดนนายทุนซื้อไปถูกๆ และไปติดยี่ห้อขายแพงๆ แถมเอาหน้า แต่โครงการ OTOP ที่จะฟื้นกลับมาด้วยเงินและแรงงานจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เจ้าของผ้าจะได้ทอเอง ขายเอง กำไรเอง ไม่ต้องไปผ่านนายหน้าที่ไหน... รายได้กำไรทั้งหมดจะเข้ากระเป๋าชาวบ้านเอง เพราะในสังคมมนุษย์ ทุกคนจะหวงแหนของที่ตนมีส่วนร่วม และจะคอยตรวจสอบว่าใครในกลุ่มโกงไหม? ทุจริตไหม? ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นระบบตรวจสอบกันเอง...
จากแนวคิดทั้งหมดข้างต้น ไม่ใช่แค่เป็นที่สนใจในประเทศ แต่ยังสร้างจุดสนใจแก่นานาประเทศ ดังเช่นโอกาสสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ หนึ่งในกำหนดการสำคัญคือ มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ehwa Woman's University) ได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกิจการ และกล่าวปาฐกถาพิเศษแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ในหัวข้อเกี่ยวกับ บทบาทผู้หญิงกับการพัฒนาประเทศ โดยเนื้อหาของบทสุนทรพจน์ มุ่งเน้นไปที่ "หลักคิดการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างบทบาทของสตรี เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของอาเซียน" ซึ่งมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ได้สนใจและตระหนักในแนวคิดนโยบายด้านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จึงอยากรับฟังจากนายกรัฐมนตรีในโอกาสเยือนดังกล่าวด้วย
เห็นหลายคนสงสัยเรื่องข้อกฎหมาย สมัยกองทุนหมู่บ้านก็เริ่มต้นเป็น “ระเบียบสำนักนายกฯ”และ 2 ปีถัดมาก็ตั้งเป็น “องค์กรมหาชน” ให้เขาดูแลและควบคุมกันเอง และจะยืดหยุ่นมากกว่าในการปรับตัว และแก้ไขรายละเอียด
จากที่เราเคยมีคำพังเพยให้ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน วันนี้เรากำลังผลักดัน “ผู้หญิงครึ่งประเทศให้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ” เข้าถึงแหล่งทุนและโอกาสด้วยหลักคิดที่ว่า “ลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจไปอยู่ในมือผู้หญิง ให้ประชาชนบริหาร ดูแล ตรวจสอบและถ่วงดุลกัน” ด้วยผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น