วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

"นพดล" โต้ "ศาสตราจารย์เสื้อกั๊ก" มาตามเทศกาล!?


นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ออกคำแถลงกรณีที่นายธีรยุทธ บุญมีได้แถลงข่าว “วิเคราะห์การเมืองไทยและแนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยในคำแถลงการณ์ตอบโต้ของนายนพดล ระบุว่า

1. การแถลงข่าวและวิเคราะห์ของนายธีรยุทธนั้น ไม่อยู่เหนือความคาดหมายและเป็นไปตามเทศกาล คิดอยู่แล้วว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายธีรยุทธจะใส่เสื้อกั๊กออกมาวิเคราะห์การเมืองไทยแน่นอน หลังจากที่หายไปช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ก็เคารพสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการของนายธีรยุทธ

2. เนื้อหาการวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธโดยทั่วไป ถือว่าสะท้อนปัญหาและเสนอทางออกการเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังละเลยและละเว้นที่จะพูดถึงปัญหาสำคัญของประเทศอย่างถึงแก่น รวมทั้งยังมีอคติและความไม่เข้าใจต่อตัวพ.ต.ท.ทักษิณในหลายประเด็น

3.การวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธ จงใจที่จะละเลยไม่พูดถึงการยึดอำนาจรัฐบาลในปี 49 ที่มาจากประชาชน 19 ล้านเสียง ถือเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยม ว่าอำนาจคือความถูกต้อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความแตกแยกของคนในชาติ และทำลายความฝันและความหวังของคนไทย ที่จะได้รับจากนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา

นายนพดล พูดด้วยว่า นายธีรยุทธ์ ไม่ได้พูดถึงการทำลายหลักนิติธรรมที่ตั้งผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง มาตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตนายกฯ ในรูปแบบ คตส.นายธีรยุทธไม่พูดถึงการใช้กฎหมายย้อนหลังยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมือง นายธีรยุทธไม่พูดถึงความอยุติธรรมที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือรัฐธรรมนูญปี 50 ได้สร้างขึ้น เช่น ม.237 ที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำลายความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร และขุดหลุมพรางของการยุบพรรคและตัดสิทธิ์นักการเมืองที่เป็นกรรมการการบริหารแม้ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการกระทำความผิด ที่สำคัญที่สุด คือนายธีรยุทธละเลยไม่พูดถึงการแทรกแซงกระบวนการตัดสินของฝ่ายตุลาการในบางกรณี จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมี 1 ประเทศแต่ 2 มาตรฐาน” นายนพดล กล่าว

4. นายธีรยุทธกล่าวว่าการขยายตัวของขั้วทักษิณ - รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้นซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีนโยบายเร่งด่วน ที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยยึดมั่นในนิติรัฐและนิติธรรม การสร้างความเท่าเทียมกันและการสร้างประชาธิปไตย โดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ หากนายธีรยุทธเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขความไม่ถูกต้อง ตนอยากให้นายธีรยุทธเรียกร้องให้นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงแนวร่วมและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ดำเนินการทางการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะและสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

5.ตนไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของนายธีรยุทธ ที่ว่านโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยจะล้มเหลวในท้ายที่สุด คำว่าประชานิยมเป็นคำกว้างและมิได้เป็นสิ่งเลว ไม่ได้หมายความว่านโยบายทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นประชานิยม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายการสร้างโอกาสให้คนยากจนเข้าถึงเงินทุน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล การให้ทุนนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ล้วนเป็นนโยบายที่ยั่งยืน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกยังยกย่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะใช้เป็นโมเดลในทั่วโลก ดังนั้นการพูดแบบเหมารวมของนายธีรยุทธ ว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งหมด ถือเป็นการสรุปที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและเต็มไปด้วยหมอกควันทางวิชาการ

6.นายธีรยุทธสรุปเองว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ เห็นได้จากการอ้างว่าเวลาปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นโครงสร้างแบบยั่งยืน และสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีลักษณะการเป็นผู้นำทางการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ประเด็นนี้ตนไม่เห็นเหตุและผลของนายธีรยุทธ เห็นเพียงอคติ ทัศนคติทางการเมือง ความรู้สึกของนายธีรยุทธอย่างชัดเจน ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นมหาเศรษฐีก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนเลือกก่อนเป็นนายกฯ และสร้างประวัติศาสตร์ชนะการเลือกตั้งถึง 3 สมัยติดต่อกัน สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ถ้าประชาธิปไตย คือการปกครองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดและตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง การผ่านการตัดสินของประชาชนและชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นถึง 3 ครั้ง ยังไม่เพียงพออีกหรือที่จะเรียกว่าเป็นผู้นำทางประชาธิปไตย และถ้าไม่ถูกยึดอำนาจไปเสียก่อนก็จะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 นายธีรยุทธมีสิทธิ์ที่จะเชื่อตามที่ตนเองอยากจะเชื่อ ซึ่งตนไม่ขอลบหลู่แต่ประชาชน 10 กว่าล้านคนไม่เชื่อนายธีรยุทธ

7.นายธีรยุทธสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณมุ่งหวังให้รากหญ้าเป็นลูกค้า ซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะใช้รากหญ้าเป็นรากฐานมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น ซึ่งข้อสรุปของนายธีรยุทธได้ลดความน่าเชื่อถือ และคุณค่าการวิเคราะห์ทางวิชาการลงไปมาก ข้อสรุปสวนทางกับความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมองรากหญ้าเป็นลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของตน แต่มองว่าประชาชนเพื่อนร่วมชาติควรจะได้รับโอกาสจากการบริหารจัดการทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่กินได้ น่าเสียดายที่นักวิชาการอย่างนายธีรยุทธ ไม่ได้เก็บข้อมูลนโยบายและความสำเร็จของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นมรดกทางการเมืองเช่นที่กล่าวมาแล้ว

“ข้อสรุปของนายธีรยุทธที่ถือไม่ได้ว่าเป็นงานทางวิชาการ แต่เป็นการรำพึงรำพันทางวิชาการ ที่สะท้อนความรู้สึกและอคติของนายธีรยุทธ ทำให้เห็นว่านายธีรยุทธยังไม่หลุดพ้นจากกรอบความคิดของคนบางกลุ่มในสังคมไทย ที่ปฏิเสธการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ใช้อคตินำทางสู่ข้อสรุป นอกจากนั้นข้อสรุปของนายธีรยุทธหมิ่นเหม่และเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสีและเป็นการหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนักวิชาการที่มีมาตรฐานไม่พึงกระทำ อาจทำให้นายธีรยุทธถูกมองว่าเป็นขาประจำที่มาตามนัดเพื่อฟัด พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น” นายนพดล กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: