วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

คอป.เพิ่งตื่น! แก้โดยเปิดเวทีให้สองฝ่ายซัดกัน?

warrajet

ผู้เขียน: ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นนักคิดและนักปฏิบัติที่ทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาตลอดชีวิตการทำงาน โดยมีความมุ่งหมายสำคัญคือการทำให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นที่พึ่งด้านความเป็นธรรมให้กับทุกคนได้อย่างแท้จริง ท่านได้เขียนลงในบล็อคส่วนตัวของท่าน จึงขอนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

เหตุการณ์ทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ผู้กระทำจะยอมเข้ามอบตัวกับตำรวจ และคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่การที่ผู้กระทำบอกว่าทำร้ายอาจารย์วรเจตน์เพราะไม่เห็นด้วยที่ออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 นั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ คอป.จะต้องพิจารณา

การแสดงความเห็นต่างกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราจะต้องอยู่ร่วมกันและรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง นี่คือทิศทางที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและรักษาไว้ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มิฉะนั้นก็จะมีการใช้แนวทางการไปพูดกันในที่ลับ หรือไปทำอะไรกันในทางที่ไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ฉะนั้นการที่ฝ่ายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ เปิดเผย ชัดเจน จึงต้องได้รับความคุ้มครอง และฝ่ายที่เห็นต่างก็ต้องใช้วิธีแสดงความคิดเห็นอีกด้านของตนเองต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ชัดเจนเช่นกัน

ประเด็นที่เกิดกับอาจารย์วรเจตน์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะอาจารย์เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นในเวทีเปิด ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจึงควรใช้เวทีเปิดในการแสดงความเห็นต่าง ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับมาเช่นนี้

จากประสบการณ์การสร้างกระบวนการปรองดองทั่วโลก หลักสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือคือ ต้องอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

สำหรับบทบาทของ คอป.นับจากนี้ การป้องกันความรุนแรงซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่เราทำอยู่แล้ว จะต้องพิจารณาว่าจะทำเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งเป็นความตั้งใจของ คอป.อยู่แล้วเช่นกัน ช่วงที่ ท่านโคฟี อันนัน (อดีตเลขาธิการยูเอ็น) และ ท่านมาร์ตติ อาห์ติซารี (อดีตประธานาธิบดีประเทศฟินแลนด์) เดินทางเยือนประเทศไทย ก็มีข้อเสนออย่างชัดเจนว่า ควรมีไดอะล็อก (การพูดคุยสนทนา) หรือเพิ่มพื้นที่ให้กลุ่มที่เห็นแตกต่างกันได้พูดคุยกัน เพราะคนเราเห็นต่างได้ แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง และวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างต้องหมดไป

โดยเฉพาะในห้วงที่สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ มีการเผชิญหน้าหรือใกล้ที่จะเผชิญหน้ากัน ทุกฝ่ายต้องมีสติ และยึดแนวทางสันติวิธีในการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เหมือนกับที่ คอป.เคยรณรงค์ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งว่า "คิดต่างได้ แต่อย่าทำร้ายประเทศไทย"

ขณะนี้บ้านเมืองของเราอยู่ในบรรยากาศของความหวาดระแวง และมีความแตกแยกทางความคิดค่อนข้างสูง ซ้ำยังเคยผ่านความรุนแรงมาระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นที่เปราะบางลักษณะนี้ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำเติม เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายวงมากขึ้นได้

คอป.เราได้ประเมินสถานการณ์แล้วจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นช่วงก่อนหน้านี้ว่า ความแตกต่างทางความคิดได้แตกประเด็นไปมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ปี 53 ซึ่งเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจอีกฝ่าย ทำให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเตรียมเสนอกฎหมายปรองดอง และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการละเมิดสถาบัน

แม้หลายประเด็นเหล่านี้ ฝ่ายที่เสนอจะเห็นว่าเป็นการเสนอตามแนวทางหรือหลักการที่ถูกต้อง แต่เมื่อเสนอในห้วงเวลาที่มีความแตกแยกแตกต่างทางความคิดและมีความหวาดระแวงสูงเช่นนี้ ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการที่อีกฝ่ายจะไม่รับฟังและเป็นชนวนความขัดแย้งได้ง่าย

คอป.ได้เตือนมาตลอดให้สังคมไทยตั้งสติ ไม่ทำให้ความขัดแย้งขยายวง คอป.เองเคยหวังว่าบรรยากาศของบ้านเมืองจะมุ่งไปสู่ความปรองดองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นช่วงก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งใหม่ๆ แต่เมื่อสถานการณ์เดินมาสู่จุดนี้แล้ว คงยากที่จะรักษาบรรยากาศเช่นนั้นไว้

ฉะนั้น คอป.จึงกำลังพิจารณาเรื่องการเปิด "เวทีกลาง" ให้แต่ละฝ่ายที่เห็นต่างได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะนี้กำลังประเมินกันอยู่ว่าจะเปิดเวทีในรูปแบบใด เมื่อไร และอย่างไร

กระนั้นก็ตาม ก็ต้องขอแสดงความชื่นชมผู้นำทางการเมืองทุกฝ่ายที่เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่แสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ทั้งยังพยายามเรียกร้องคนในสังคมให้มีสติ เราคิดว่าถ้าสามารถประคับประคองกันด้วยเหตุผลได้เช่นนี้ จะทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลงไปกว่าที่เป็น

ไม่มีความคิดเห็น: