น้ำท่วมคราวนี้ทะลุทะลวงพื้นที่กว้างขวาง จำนวนผู้ประสบอุทกภัยทั้งที่ติดอยู่ในบ้านเรือนและที่ต้องอพยพหนีน้ำทะลุหลักล้าน แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องเครียดๆ เพราะท่ามกลางความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่ต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วง คนไทยจิตใจอาสาต่างพากันออกมาให้ความช่วยเหลือ คาราวานน้ำใจหลั่งไหลต่อเนื่อง อย่างน้อยเพียงเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้อิ่มท้องและมีรอยยิ้มบ้างก็ยังดี
ภาพศิลปินดาราจำนวนมากกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ ที่มีน้ำท่วมขัง ไปให้กำลังใจพร้อมแจกจ่ายถุงยังชีพ ข้าวกล่อง เป็นสิ่งที่เห็นอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกับการใช้ศาสตร์ทางศิลปะเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมตามศูนย์อพยพ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูใจคนส่วนใหญ่ซึ่งเกิดภาวะซึมเศร้า
โดย ผศ.สินีนาถ เลิศไพรวัน คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ข้อมูลว่า ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และองค์การยูเนสโกแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พ.ศ.2554 ณ ศูนย์อพยพผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก โดยตน และ ผศ.ประมา ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ได้นำทีมงาน ซึ่งเป็นการระดมนิสิต นักศึกษา บุคลากรของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า รวมถึงจิตอาสาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติขององค์การยูเนสโก มาช่วยฟื้นฟูและบำบัดทางจิตให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
"ผู้ประสบอุทกภัยในขณะนี้ยังอยู่ในอาการตกใจ หวาดกลัว การใช้ “ศิลปกรรมบำบัด” ประกอบด้วย ดนตรี ศิลปะ การแสดง และการออกแบบ จากทรัพยากรคน สิ่งของ และวิชาชีพทางศิลปกรรมศาสตร์ จะช่วยให้ชาวบ้านได้คลายเครียดและลืมทุกข์ได้บ้าง" ผศ.สินีนาถกล่าวสำหรับกิจกรรมโครงการ “ศิลปกรรมบำบัด” มีทั้งการวาดภาพสีน้ำ ศิลปะการเขียนเสื้อ การแสดงดนตรีไทย ดนตรีสากล จนกระทั่งรำวง โปงลาง นาฏศิลป์พื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านไทยที่เชิญชวนให้ผู้ประสบภัยมาร่วมกิจกรรมนันทนาการต่างๆ นอกเหนือจากกิจกรรมด้านศิลปะในรูปแบบการแสดงสนุกสนานรื่นเริง และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ถ่ายทอดจินตนาการอย่างสร้างสรรค์แล้ว ยังจัดเวิร์กช็อปสอนทำเครื่องประดับจากเชือก ขณะเดียวกันทาง มศว ยังได้ทำแบบสอบถามสำรวจผลกระทบเรื่องรายได้และการประกอบอาชีพ เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดโครงการเพื่อจัดหลักสูตรอบรมการส่งเสริมอาชีพระยะสั้น ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ได้ผลกระทบหลังน้ำลด
ทั้งนี้ อาจารย์สินีนาถได้แบ่งกลุ่มผู้อพยพเป็น 3 กลุ่ม เพื่อจัดกิจกรรม สำหรับกลุ่มที่ 1 คือ ผู้มีอาการซึมเศร้า มีอาการทางจิตที่รุนแรง หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่น จึงใช้ศิลปกรรมบำบัดด้วยการวาดภาพและการระบายสี ควบคู่กับการดูแลของจิตแพทย์ กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ไม่มีอาการซึมเศร้าเป็นเพียงความกังวล ปราศจากรอยยิ้ม ควรได้รับการจัดกิจกรรมที่คลายเครียด เช่น ชมการแสดง ดนตรี เพื่อลืมความทุกข์ไปชั่วขณะหนึ่ง รอเวลาในการคลี่คลายของภาครัฐที่จะฟื้นฟูที่อยู่อาศัยจนสามารถกลับไปพำนักอยู่ที่บ้านได้ตามปกติ
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มผู้ที่กังวลในอนาคตที่จะขาดรายได้ ไร้ที่ทำมาหากิน ประชาชนในกลุ่มนี้ต้องเริ่มส่งเสริมการประกอบอาชีพกันใหม่ โดยต้องได้รับการสำรวจประเภทอาชีพที่ได้รับผลกระทบหลังจากสถานการณ์อุทกภัย จัดทำฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ และจัดทำหลักสูตรการอบรมอาชีพเพื่อช่วยเหลือต่อไป ซึ่งโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พ.ศ.2554 คณะศิลปกรรมศาสตร์เราได้ดำเนินการร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมที่จะจัดสัญจรไปตามศูนย์อพยพผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจุดต่างๆ โดยใช้ศิลปกรรมบำบัดเข้าช่วยสังคมให้ดีขึ้นต่อไป
หากใครที่มีอาการเข้าข่าย หรือแม้กระทั่งมีความผิดปกติทางจิตใจในช่วงนี้ คงไม่ละเลยที่จะไปร่วมกิจกรรมคลายเครียด และเข้ารับการตรวจรักษาจากจิตแพทย์ที่รวมตัวกันมาร่วมโครงการฟื้นฟูเยียวยา ที่สำคัญการทำใจตั้งหลักให้ได้ แม้จะเสียอะไรไป แต่ก็อย่าให้ใจเสีย จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ผู้ประสบภัยผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น