วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"ไก่อู" โบ้ย13ศพ "ทำตามคำสั่ง ศอฉ."





เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี 16 ศพ ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 กล่าวถึงความคืบหน้าคดีว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนเชิญ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผอ.กองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก ในฐานะโฆษกศอฉ. ในขณะนั้น และทหารอีก 2 นาย มาสอบปากคำ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะเป็นความลับในสำนวน โดยส่วนใหญ่ยืนยันคำให้การเดิม และจนถึงขณะนี้มีพยาน 400 ปาก เป็นพยานเดิม 320 ปาก และพยานใหม่ 80 ปาก สอบปากคำไปแล้ว 250 ปาก สำนวนคดีจะครบ 2 เดือน ในวันที่ 17 พ.ย. แต่ขออนุมัติขยายเวลาเป็นครั้งที่ 3 อีก 1 เดือนแล้ว

พล.ต.ต.อนุชัยกล่าวต่อว่า สำหรับทหารที่ต้องเรียกมาให้ปากคำมีอีกประมาณ 50 ปาก โดยใช้วิธีประสานงานกับทางกองทัพบก ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ติดภารกิจเรื่องช่วยเหลือน้ำท่วม ทางพนักงานสอบสวนจึงร้องขอให้ปรับเปลี่ยนตารางในการปฏิบัติงาน เพื่อให้มาสอบปากคำได้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากสอบปากคำไม่ครบ แต่ถึงกำหนดเวลา 3 เดือน ก็ต้องส่งสำนวนให้อัยการไปก่อน โดยทางพนักงานสอบสวนประสานทหารไปแล้วว่าขอความร่วมมือด้วย เพราะใกล้ครบกำหนดเวลาแล้ว และก็เป็นประโยชน์กับทางทหารด้วย เพื่อจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ

รอหลักฐานคดีช่างภาพอิตาลี

ผู้สื่อข่าวถามถึงคดีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ยังไม่นำสำนวนมารวมด้วย รองผบช.น.กล่าวว่า ยังไม่รวม แต่ได้ประสานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม และส่งสำนวนมาให้พนักงานสอบสวนแล้ว แต่ก็ไม่มีข้อมูลพยานหลักฐานเพิ่มเติม เป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง ยังไม่มีหลักฐานใหม่ที่จะดำเนินการได้ จึงต้องรอน้องสาวของนายฟาบิโอ ที่บอกว่ามีพยานหลักฐานมาให้ หากมีเหตุเชื่อได้ก็ต้องสอบต่อไป โดยต้องมีหลักฐานให้ชัดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ถึงจะสอบสวนได้

ต่อข้อถามว่าจะเรียกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศอฉ. มาสอบปากคำด้วยหรือไม่ พล.ต.ต.อนุชัยกล่าวว่า ต้องตรวจสอบพยานหลักฐาน และพยานเอกสารก่อนจึงจะพิจารณา แต่พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ไต่สวนการเสียชีวิต ส่วนการดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องนั้น เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ที่พิจารณาว่าจะดำเนินคดีกับใครบ้าง

ทหารยัน′มาร์ค-เทือก′สั่งการ

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจาก พ.อ.สรรเสริญ แล้ว ยังมี พ.อ.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ เสธ.ร.2 รอ. ซึ่งเป็นผู้นำกำลังมาขอคืนพื้นที่ และ ส.อ.มณี พรหมนอก สังกัด ร.2 พัน.3 รอ. โดย พ.อ.สรรเสริญ ให้การกับพนักงานสอบสวนอย่างละเอียด เกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเน้นย้ำว่าภารกิจของทหารนั้น จะต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของชาติ ปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดน โดยปกติทหารไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภายในเขตเมือง หรือในเขตกทม. เลย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทหารต้องเข้ามาเกี่ยว จึงไม่ใช่การทำตามภารกิจของทหาร แต่มาจากคำสั่งของศอฉ. ขณะเดียวกัน ศอฉ.ไม่ใช่องค์กรที่กำเนิดขึ้นมาเอง แต่มีขึ้นโดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น และมีนายสุเทพ รองนายกฯ ขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ

พ.อ.สรรเสริญให้การต่อไปว่า กรณีที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป แต่เป็นเรื่องเฉพาะกิจ เพราะอำนาจปกติของทหารนั้น จะไม่สามารถนำกำลังพลพร้อมอาวุธเข้ามาปฏิบัติการในเมืองได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีคำสั่งพิเศษ มีอำนาจจากศอฉ.เป็นผู้สั่งการ ซึ่งก็หมายถึงนายกฯ และรองนายกฯ ขณะนั้น ไม่เช่นนั้นแล้วทหารจะไม่สามารถเข้าปฏิบัติการได้ เพราะกองทัพเองไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้ปฏิบัติการในเมืองเช่นนี้ได้

ชี้เสธ.ไก่อูพยานปากสำคัญ

ข่าวแจ้งอีกว่า พนักงานสอบสวนได้ทยอยสอบปากคำพยานผู้เกี่ยวข้อง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการไปแล้วหลายปาก กรณี พ.อ.สรรเสริญถือเป็นพยานปากสำคัญที่นั่งทำงานอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการ สามารถให้รายละเอียดในลักษณะโครงสร้างของการสั่งการทั้งหมดได้ ซึ่งคำให้การของ พ.อ.สรรเสริญทำให้สำนวนคดีมีความคืบหน้าไปมาก เชื่อมโยงถึงระดับสั่งการ และคำให้การพาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ อย่างชัดเจน อีกทั้ง พ.อ.สรรเสริญ ยังให้การย้ำว่าอำนาจของกองทัพเองจะไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติการได้เช่นนี้ ทั้งหมดจึงเป็นคำสั่งของศอฉ.ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับกองทัพแต่อย่างใด

ต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์ถึงการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนว่า มีพนักงานสอบสวนมาสอบปากคำจำนวนกว่า 30 นาย จาก 6 ท้องที่ ที่ห้องประชุมใหญ่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในฐานะพยานปากหนึ่ง ในเรื่องของการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต โดยพนักงานสอบสวนสอบถามถึงภารกิจของหน่วยงานทหาร ว่าแนวทางการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร รับคำสั่งอย่างไร มีการวางแผนการปฏิบัติอย่างไร และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ล้วนเป็นเรื่องที่เคยชี้แจงสังคมไปหมดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: