วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต: กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม

จากกรณี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ว่าการกดถูกใจ (Like) หรือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้เขียน และกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงกำลัง “ขอความร่วมมือ” ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อปิด “เพจหมิ่น” “วิดีโอหมิ่น” และสืบหาตัวผู้เขียนเนื้อหา

นอกจากนี้ ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เสนอให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูบทั้งเว็บไซต์ หากกระทรวงไอซีทีไม่สามารถจัดการไม่ให้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้

ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตหลายประการ ดังนี้

1. กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม

1.1 รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก

ข้อความที่อาจ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจถูกตัดสินโดยศาลว่าผิดตามมาตรา 112 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อข้อความดังกล่าว ไม่ผิดกฎหมายใดๆ พลเมืองไทยมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงการชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทุกประการ

1.2 อินเทอร์เน็ตคือการลิงก์ รัฐต้องไม่เอาผิดการแบ่งปันลิงก์

ในประเทศที่กฎหมายปกป้องสิทธิพลเมือง เช่น แคนาดา ศาลได้พิพากษาว่า การแบ่งปันลิงก์ไม่นับเป็นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหา และไม่ต้องถูกระวางโทษ เพราะเนื้อหาในลิงก์อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอโดยผู้แบ่งปันไม่สามารถควบคุมได้ ผู้แบ่งปันลิงก์จึงได้รับการปกป้องออกจากความรับผิด

ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความว่าการแบ่งปันลิงก์คือการเผยแพร่ข้อมูล และต้องรับผิด ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

การทำลิงก์ ส่งลิงก์ และเผยแพร่ลิงก์ เป็นหัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ต การเชื่อมโยงในเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีลิงก์ การทำให้การแบ่งปันลิงก์เป็นอาชญากรรม จึงเป็นการขัดขวางหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

1.3 เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่สามารถล่วงรู้และควบคุมการใช้งานได้ทั้งหมด

เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก มีซอฟต์แวร์ที่ทำการคัดเลือกเนื้อหาและลิงก์ เพื่อแสดงในหน้าเว็บกลาง (วอลล์: wall) และหน้าส่วนตัว (โพรไฟล์: profile) โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอนุมัติหรือรับรู้ อีกทั้งการคัดเลือกดังกล่าวพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมวิธีได้ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กจะทราบดีว่า ซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ

2. รัฐไทยควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

2.1 ตระหนักถึงราคาที่สาธารณะต้องจ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับความพยายามที่ไม่สามารถสำเร็จได้

ไม่มีการปิดกั้นแบบใดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า แม้รัฐบาลไทยจะลงทุนระดับ The Great Firewall ของประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นด้วยงบประมาณราว 24,000 ล้านบาท ก็ไม่สามารถปิดกั้นให้เนื้อหาใด ๆ ให้หายไปจากอินเทอร์เน็ตได้ ในขณะเดียวกัน การกีดขวางการจราจรอินเทอร์เน็ต ยังกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมอีกด้วย

2.2 ต้องใช้วิธีตามกฎหมาย หยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ

วัฒนธรรมการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการ ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ จะไม่ถูกจัดเก็บในสารบบของราชการ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เช่น สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ทำให้การพิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

2.3 หากรัฐยืนยันว่าจำเป็นต้องปิดเว็บไซต์หรือข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” การกระทำดังกล่าวควรเป็นไปโดยไม่สร้างภาระความรับผิดที่เกินสมควรให้กับตัวกลางหรือผู้ให้บริการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเสนอข้อปฏิบัติในภาพรวมดังนี้

  • แยกชนิดผู้ให้บริการและผู้ดูแล ออกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาและไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
  • กำหนดให้ผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (“ท่อข้อมูล”) ไม่ต้องมีความรับผิด
  • กำหนดระดับชั้นของผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่เกี่ยวกับเนื้อหา ตามความใกล้กับเนื้อหา
  • จำกัดขนาดของผลกระทบต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องให้เล็กที่สุด ในการส่งหนังสือเพื่อให้ระงับการเข้าถึงเนื้อหาชั่วคราว ควรแจ้งไปที่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแล ในระดับที่ใกล้กับเนื้อหาที่สุด ก่อนจะไล่ไปสู่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ห่างออกไป เนื่องจากผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ใกล้เนื้อหาที่สุดจะมีความในการจัดการเนื้อหาได้ง่ายกว่า และผลจากการกระทำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะกระทบผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • ต้องถือว่าการระงับการเข้าถึงเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหาย ในลักษณะการคุ้มครองชั่วคราว คำสั่งปิดกั้นจะมีได้ต่อเมื่อมีการแจ้งความหรือฟ้องคดี ระยะเวลาการปิดกั้นต้องมีวันสิ้นสุด (สามารถขยายได้ อย่างมีขอบเขต)
  • ในการระงับการเข้าถึงเนื้อหา ผู้ให้บริการต้องแสดงหมายเลขคำสั่งที่ชัดเจนบนหน้าเว็บ เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้
  • การปิดกั้นต้องสิ้นสุดทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ส่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือคดีสิ้นสุดโดยศาลพิพากษาว่าเนื้อหาไม่ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นรายละเอียดของคำสั่งทั้งหมดต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ

3. พลเมืองเน็ตควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

3.1 พิจารณาว่า เนื้อหาดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างแท้จริงหรือไม่

ควรไตร่ตรองว่าเนื้อหาดังกล่าวเข้าตามเกณฑ์ในดังต่อไปนี้
ก) การวิพากษ์วิจารณ์ (criticism)
ข) การแสดงความดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ลดค่าความเป็นมนุษย์ (hate speech)
ค) การยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกาย (fighting speech)
ง) ข้อมูลส่วนบุคคลที่เมื่อเปิดเผยแล้วอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว (sensitive personal data)

ข้อความในข้อ (ค) และ (ง) เท่านั้น ที่อาจจะสามารถทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ และจำเป็นต้องจัดการอย่างทันท่วงที ส่วนข้อความในข้อ (ข) แม้เป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน แต่ก็มีวิธีอื่นในการจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องระงับการเข้าถึง

พลเมืองเน็ตควรตระหนักว่า อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำหรับความรู้และความคิดเห็นอันหลากหลาย อินเทอร์เน็ตมีทุกสิ่งที่ใครคนหนึ่งเกลียด การปิดสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ จะนำไปสู่การปิดทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต วิธีที่เหมาะสมกับความเป็นจริงที่สุด เมื่อเจอสิ่งที่คุณไม่ชอบในเน็ต คือ อดทนกับมัน

3.2 รายงานเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ไปยังผู้ให้บริการ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน

เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ รวมถึงเฟซบุ๊กและยูทูบ ใช้แนวคิด “notice and takedown” ซึ่งหมายถึง การเปิดให้สร้างเนื้อหาอย่างเสรี แต่หากมีรายงานการละเมิดสิทธิ ผู้ให้บริการก็จะพิจารณาลบเนื้อหาดังกล่าว

การรายงานการละเมิดจึงควรเป็นไปด้วยความรับผิดชอบ รายงานให้ตรงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และไม่พยายามปั่นระบบรายงาน เพื่อลดภาระแก่ผู้ให้บริการและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

หากท่านต้องการรายงานว่าหน้าเฟซบุ๊กใด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่มีเหตุผลดังกล่าวให้เลือก ขอแนะนำให้เลือกเหตุผลที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “มันก่อกวนเพื่อนของฉัน: It harrasses my friend” คือเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวผู้รายงาน

การระดมคนเพื่อรายงานซ้ำๆ อาจทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถตอบสนองต่อรายงานกรณีอื่น ๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที (เทียบได้กับกรณีคนโทรไปป่วน 191)

อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
30 พฤศจิกายน 2554
contact@thainetizen.org


ภาคผนวก

นโยบายการรายงานของเฟซบุ๊กมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกปลอดภัย โดยจะดำเนินการกับกรณีการคุกคามความเป็นส่วนตัว ความรุนแรง และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งครอบคลุมการแบ่งแยกบุคคลตาม ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ และศาสนา

นโยบายการรายงานของเฟซบุ๊ก

คัดลอกจาก https://www.facebook.com/communitystandards

Facebook ไม่อนุญาตให้ใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โปรดเคารพซึ่งกันและกันเมื่อคุณติดต่อสื่อสารผ่าน Facebook แม้ว่าเราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น, สถาบัน องค์กร, กิจกรรม และการฝึกปฏิบัติต่างๆ แต่การแบ่งแยกบุคคลตามเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, ถิ่นที่ถือสัญชาติ, ศาสนา, เพศ, เพศสภาพ, รสนิยมทางเพศ, ความทุพพลภาพ หรือโรคภัย ถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขของเราอย่างร้ายแรง

การคุกคามและการล่วงละเมิด
ในฐานะที่เป็นชุมชน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง เราดำเนินการเมื่อมีการคุกคามความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือบุคคลนั้นได้รับการติดต่อโดยไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเราสนับสนุนให้คุณสร้างความสัมพันธ์อันดีใหม่ๆ โปรดพึงระลึกว่าการติดต่อบุคคลแปลกหน้า หรือบุคคลที่คุณไม่เคยพบหน้ามาก่อนอาจถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดอย่างหนึ่ง

เราประสงค์ให้สมาชิกของเรารู้สึกถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในไซต์ การคุกคามที่เชื่อได้ว่าเป็นอันตรายต่อผู้อื่นจะถูกลบ เราอาจต้องถอดการสนับสนุนสำหรับองค์กรที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นออกด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: