วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"Justitia" ความปราศจากอคติ ไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง


ผู้ใช้เฟรซบุ๊คท่านหนึ่งชื่อ Akorn Watta ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเพื่อตอบคำถามถึงบุคคลท่านหนึ่งในเฟรซบุ๊ค ทีมงานไม่สามารถค้นได้ว่า คำขึ้นต้นในจดหมายถึง "มล.วันชัย" คือท่านใด แต่เนื้อความในจดหมาย แม้จะไม่มีหัวเรื่องต้นทาง แต่เมื่ออ่านแล้ว เข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจนว่าเป็นการโต้เถียงเรื่องอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแง่มุมกฏหมายน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำเผยแพร่ ณ ที่นี้


" เรียน ม.ล.วันชัย ที่นับถือ

ตามที่ท่านได้แสดงความคิดเห็นเรื่องพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในเพจของ Phufa Leelawadee นั้น นับว่าท่านมีจิตใจที่ใฝ่หาความจริงอยู่มาก แต่ผมเห็นว่าความจริงที่ท่านกล่าวว่าต้องค้นหาด้วยตัวเองนั้น การค้นหาด้วยตัวเองอาจจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ "จิต" ของตัวเราเอง แต่ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล

ส่วนประเด็นที่จะชี้แจงต่อไปนี้เป็นความจริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายและระบบกฎหมายโดยเฉพาะระบบนิติรัฐ (นิติรัฐแท้ๆ มิใช่นิติรัฐแบบที่แอบอ้างและบิดเบือนกันมาหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา'๔๙ ) ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปได้ตามทัศนคติ ความรู้ และมุมมอง โดยเฉพาะพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลตราออกมาด้วย "เหตุผลและความจำเป็นของรัฐ" ( Raison d'Etat ) ส่วนที่จะเหมาะสมหรือไม่ ถูกกับเวลาหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองที่แตกต่างกันจึงอาจจะทำให้แต่ละคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปได้ จึงขอชี้แจงเฉพาะอำนาจของฝ่ายบริหารในการออกพระราชกฤษฎีกา และข้อเท็จจริงในคดีที่ดินรัชดา ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง เป็นศาลชั้นเดียว ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา ตรงจุดนี้ ก็ขัดต่อหลักประกันประสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาแล้ว ซึ่งขัดต่อทั้งหลักกฎหมายอาญาและขัดต่อหลักนิติรัฐ

ข้อ ๒.) ศาลเป็นองค์กรใช้อำนาจตุลาการ รัฐบาลเป็นองค์กรใช้อำนาจบริหาร และรัฐสภาเป็นองค์กรใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในนิติรัฐทั้งสามอำนาจนี้ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ข้อ ๓.) คดีที่ดินรัชดา นายกทักษิณ ลงชื่อให้ความยินยอมแก่ภริยาในการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ การลงชื่อให้ความยินยอมกระทำในฐานะผู้เป็นสามี ไม่ใช่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี

ข้อ ๔.) องค์กรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดประมูลซื้อขายที่ดินนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้มีผลคือ นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดๆที่จะบังคับให้การประมูลซื้อขายที่ดินเป็นประโยชน์แก่ใครคนใดคนหนึ่งได้ จึงถือไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีมีส่วนได้เสีย หรือมีประโยชน์ทับซ้อน

ข้อ ๕.) ต่อมา ในข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ศาลแพ่งพิพากษาว่าการซื้อขายเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อขายที่ดินรัชดานั้นไม่มีอยู่เลย แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯก็ใช้ข้อเท็จจริงที่ไม่มีอยู่เลยนั้น เป็นฐานความผิดพิพากษาลงโทษอาญาแก่นายกทักษิณไปแล้ว ดังนี้ คำพิพากษาจึงไม่ชอบ เพราะเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและการปรับบทข้อกฎหมายก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงด้วย

ข้อ ๖.) คำพิพากษาที่จะเป็นที่ยอมรับได้นั้น "เหตุผลแห่งการวินิจฉัยจะต้องให้ความรู้สึกที่มนุษย์ทั่วไปสามารถรับรู้ได้ถึงความเที่ยงธรรม" แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้น คนทั่วไปแม้ผู้พิพากษาหลายท่านก็มีความเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวไม่เที่ยงธรรม แต่หลายคนก็พอใจที่จะนิ่งเฉยเพราะมีอคติเป็นฝักฝ่ายและอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายกทักษิณ

ข้อ ๗.) ตามข้อ ๒.) ที่กล่าวว่าอำนาจทั้งสามต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนั้น เป็นหลักการสำคัญของหลักนิติรัฐ เพื่อไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจไปเกินเลยขอบเขตจนเกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหาย กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงสามารถถ่วงดุลกับอำนาจตุลาการได้

ข้อ ๘.) ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอำนาจออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ซึ่งได้แก่ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด และอื่นๆ รัฐบาลในฐานะผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารจึงสามารถจะออกกฎหมายมา "ลบล้างผลของคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมและไม่เที่ยงธรรม" นั้นได้ ตรงนี้ไม่ถือเป็นการก้าวก่ายอำนาจตุลาการ เพราะไม่ได้แก้ที่คำพิพากษา แต่ ลบล้างผลของคำพิพากษา ซึ่งก็ทำกันมาทุกปี คือ การออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ คำพิพากษาลงโทษยังอยู่ แต่ลบล้างการรับโทษตามคำพิพากษานั้นไป

ข้อ ๙.) คนไทยติดอยู่ว่า ศาลเป็นองค์กรในพระปรมาภิไธย จึงนึกว่าเมื่อศาลตัดสินแล้ว องค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายอื่นจะแก้ไขไม่ได้ ความจริงศาลก็คือคนธรรมดาๆนี่เอง ย่อมมีผิดมีพลาดได้ ในระบบอำนวยความยุติธรรมจึงต้องมีถึง ๓ ศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อให้ตรวจสอบการวินิจฉัยของศาลด้วยกันเอง แม้ศาลที่ตัดสินคดีนายกทักษิณนี้จะได้ชื่อว่าเป็นศาล แต่ก็มีเหตุผลที่จะเห็นได้ว่าศาลนี้ก็ใช้อำนาจตุลาการเพื่อผลทางการเมือง

..ถ้าจะพิจารณาด้วยจิตใจที่เป็นกลางจริงๆและรักในความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมตามธรรมชาติ .. ที่ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาโดยอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร แล้ว.. ท่านหม่อมฯก็คงจะมีข้อคิดใหม่..ที่อาจจะเหมาะสมกับฐานันดรของท่านมากกว่าความคิดเห็นแบบเดิม..

หมายเหตุ : เหตุผลมีมากกว่านี้แต่จะละเอียดเกินไป จึงเห็นว่า ด้วยเหตุผลเพียงเท่าที่ยกมานี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ผมเห็นว่า ข้อเท้จจริงและเหตุผลข้อกฎหมายข้างต้น น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนๆหนึ่งและบางทีอาจจะขยายเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆอีกหลายคน.."

ไม่มีความคิดเห็น: