วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เล่น FB ให้รอดคุกอย่างไร?

ปัจจุบันได้มีการนำรูปที่ไม่เหมาะสมมา post เผยแพร่ใน facebook จำนวนหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนคงทราบว่าผมหมายถึง รูปอะไร

ประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (“พรบ. คอม”)

มาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีซึ่งมาตรานี้อยู่ใน ภาค 2 ลักษณะ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ด้วยเหตุนี้ การกระทำความผิดตามมาตรา 112 นี้จะมีผลเกี่ยวข้องกับมาตรา 14(3) ที่บัญญัติว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

ดังนี้ หากการกระทำใดที่เป็นความผิดมาตรา 112 ถูกนำเข้าไปเผยแพร่ในคอมพิวเตอร์ ก็ย่อมเป็นความผิดมาตรา 14(3) แห่ง พรบ. คอม ด้วย

ประเด็นที่กล่าวมานี้เป็นการพิจารณาเฉพาะตัวผู้ post ว่าน่าจะมีความผิดทั้ง มาตรา 112 และมาตรา 14(3) ซึ่งจะต้องรับโทษอย่างไรก็ต้องไปพิจารณาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากบุคคลที่เข้าไปดูรูปที่ไม่เหมาะสม จะมีความผิดหรือไม่ ประเด็นนี้เท่าที่ตรวจดูในกฎหมายแล้ว ไม่ได้บัญญัติความผิดแก่ผู้ที่ดู แต่ พรบ คอม ได้บัญญัติความผิดบุคคลที่เผยแพร่ต่อ ตามมาตรา 14(5) คือ เผยแพร่ หรือ ส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ดังนั้น หากบุคคลได้ทำการ share หรือ RT รูปที่ไม่เหมาะสมนั้น บุคคลนั้นก็น่าจะมีความผิดตามมาตรา 14(5) แห่ง พรบ. คอม

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมา คือ กด like หรือ comment จะผิดหรือไม่

ขอพิจารณาที่ comment ก่อน ประเด็นนี้ก็ต้องไปตรวจดูว่า user ได้ comment ในลักษณะที่เป็นความผิดมาตรา 112 หรือไม่ หากเป็นก็ต้องรับผิด หากไม่เป็น ก็ไม่น่าจะต้องรับผิด (เช่น การด่า user ที่ post ก็ไม่ได้เป็นความผิดมาตรา 112 ต่อคน post แต่อย่างใด)

สำหรับการกด like ความเห็นผม คือ การกด like ไม่น่าจะตีความไปได้ว่า เป็นการเผยแพร่ หรือ เป็นการนำเข้าข้อมูล แต่อย่างใดอย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ facebook เป็น social network ที่มีความฉลาดมาก facebook ได้มีระบบที่แสดงข้อมูลว่า เพื่อนของเราทำอะไร เช่น like รูปไหน หรือ comment รูปไหนและแสดงออกมาเป็นรูปภาพ เช่น Nummon Mallikamarl commented on x’s photo หรือ Nummon Mallikamarl liked x’s post (โปรดดูตัวอย่าง) และหากเพื่อนของเรา comment หรือ like เยอะมากเท่าไร โอกาสที่ post นั้นจะขึ้นที่หน้า Home ของเราก็จะมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง การ comment หรือ การ like ของ user ใน facebook จึงกลายเป็นการ เผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมนั้นไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้เอง การ comment หรือ การ like จึงอาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 14(5) ได้

ตัวอย่าง

ในประเด็นนี้อาจมีปัญหาทาง technic คือ มาตรา 14(5) บัญญัติว่า มาตรา 14(5) คือ เผยแพร่ หรือ ส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)” ดังนั้น การกระทำจะต้องเป็นการเผยแพร่ หรือ ส่งต่อ ไม่ใช่ like หรือ comment แต่ผมคิดว่าปัจจุบัน user ส่วนใหญ่ก็น่าจะสังเกตได้ว่า การ like หรือ comment มันจะ feed ขึ้นมาในหน้า home ของเราเสมือนหนึ่งเป็นการเผยแพร่แล้ว ดังนั้น ขอให้ user พึงระวังในการ like หรือ comment ด้วยครับ

ขอขอบคุณ: ชีวิน มัลลิกะมาลย์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา – IT. Law talk, @cheewinn, ภาพประกอบจาก zdnet.be

ไม่มีความคิดเห็น: