วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"โอละพ่อ" พรฏ.อภัยโทษ ร่างสมัย "อภิสิทธิ์" ไม่มีชื่อ "ทักษิณ" ในข่าย


แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ฉบับดังกล่าว ได้ตัดมาตรา 4 พ.ร.ฎ.อภัยโทษ 2553 ที่ออกโดยสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งมาตรา 4 ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวตนอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่ง ปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราช กฤษฎีกานี้ และปรับแก้มาตรา 6 ที่ระบุให้นักโทษได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ต้องเป็นบุคคลที่ต้องโทษจำคุกเหลือโทษไม่เกิน 1 ปี นักโทษพิการ ป่วยด้วยโรคเรื้่อน เป็นผู้หญิงถูกจำคุกครั้งแรก เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ต้องโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต้องโทษครั้งแรกอายุไม่ครบยี่สิบปี นักโทษชั้นเยี่ยมเหลือโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หากเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งสามารถได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว สำหรับคำที่ตัดออกไปคือ คำว่าภายใต้บังคับมาตรา 8 ส่วนมาตรา 8 ในร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ ยังคงเดิมตาม พ.ร.ฎ. ปี 2553 ที่ระบุว่า นักโทษเด็ดขาดตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ เช่น โทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น ลักษณะความผิดให้คงเดิม

แหล่งข่าวระบุอีกว่า การปรับแก้ร่างพระราชกฤษฎีกาหากมองกันตามความเป็นจริงแล้วคงไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด พ.ต.ท. ทักษิณมีคดีความถึงที่สุดแล้วเพียง 1 คดี คือคดีซื้อที่ดินรัชดาฯ หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ส่วนอีก 4 คดี อยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนของศาลฎีกา ได้แก่ 1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ 4,000 ล้านบาท 2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป 3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ และ 4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือซุกหุ้น ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องหลังศาลฎีกาฯได้ตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท หาก พ.ต.ท. ทักษิณเข้าหลักเกณฑ์อภัยโทษปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวจริง ยังมีหมายจับอีก 3 คดีรออยู่ ดังนั้น คงไม่มีผลอะไร เพราะถ้ากลับเมืองไทยต้องถูกจับกุมและอายัดตัว จากนั้นต้องยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอประกันตัว คาดว่าคงต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะยื่นขอประกันอีก 3 คดี เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่เลือกช่องทางนี้

"ผมเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษินคงไม่กลับประเทศไทยตอนนี้อย่างแน่นอน เพราะยังไงก็ต้องถูกจับติดคุก ต่อให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ครั้งนี้ ก็มีผลเพียงคดีที่ดินรัชดาฯเท่านั้น อีก 3 คดีมีหมายจับติดตัว หากกลับมาประเทศไทย ต้องถูกจับกุม และยื่นเรื่องประกันตัวซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือออกกฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่ออกในวาระมหามงคล 84 พรรษา อาจจะมีการปรับข้อความเพื่อให้ครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ คนใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความเห็นว่าแนวคิดหรือการปรับเนื้อหาดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และยืนยันความตั้งใจเดิมที่จะยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าการเมืองยังมีความขัดแย้งสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่านายกรัฐมนตรีจะแถลงเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะไม่อยู่ในกลุ่มผู้ต้องขังหรือผู้ต้องคดีอาญาที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวาระ 84 พรรษา ซึ่งในปีนี้มีจำนวนประมาณ 3 หมื่นคน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ ที่บ้านพักในดูไบ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ทราบ ไม่คิดอย่างนั้น ไม่มีใครรู้ เพราะเป็นความลับในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล และทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันสูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น: