วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คลิปอดีตผู้สมัคร สส.ประชาธิปัตย์ นำม็อบปิดโทลล์เวย์ปะทะชาวบ้าน


เมื่อเวลา12.00น. วันนี้(23 พ.ย.) ดร.เกียรติศักดิ์ ส่องแสง อดีตผู้สมัคร สส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ นำชาวบ้านจากชุมชน ริเวอร์ ปาร์ค วัดประยูร เซียร์รังสิต ชุมชนริมคลองคูคต-ลำลูกกา คลอง 1 ชุมชนปิดถนนทางด่วนโทลล์เวย์ ขาเข้าบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต เพื่อประท้วงให้ทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ( ศปภ.)เร่งแก้ไขปัญหาเนื่องจากในชุมชนดังกล่าวมีน้ำท่วมขังมานานกว่า 1 เดือน และปริมาณน้ำยังไม่ลดลง และในขณะนี้น้ำเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้หลังชาวบ้านรวมตัวกันปิดโทลล์เวย์ทำให้การจราจติดขัดอย่างหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.50 น. ได้เกิดเหตุประชาชนที่ใช้รถยนต์และต้องการเดินทางเข้ากรุงเทพ ได้รวมตัวกันเข้าเจรจากับกลุ่มแกนนำที่ของชาวบ้านที่รวมตัวกันปิดทางด่วนโทลล์เวย์ แต่ไม่เป็นผล ก่อนทั้งสองฝ่ายจะเปิดฉากตะลุมบอลกันขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สน.วิภาวดี นำโดย พ.ต.ท.สนอง แสงมณี สว.จร.สน.วิภาวดี และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากปทุมธานี ได้เข้าระงับเหตุแล้ว เบื้องต้นยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อมา ดร.อานนท์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขานุการคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ. เดินเข้าชี้แจงกับชาวบ้าน ผลการหารือเป็นที่ยุติ โดยดร.อานนท์ รับปากว่าจะเร่งบริหารจัดการน้ำที่คลองรังสิตให้ลดลงกว่าตลิ่งโดยเร็ว เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากหมู่บ้านได้ โดยอย่างน้อยก็จะพยายามพร่องน้ำให้เหลือระดับเท่าคันกั้นน้ำที่ชาวบ้านทำไว้ เพื่อสูบน้ำออกได้เอง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะพยายามลดระดับให้ได้วันละ 4-5 เซนติเมตร เพื่อให้ภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ระดับน้ำในคลองรังสิตจะลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร ทั้งนี้จะประสานขอเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานเพื่อเสริมประสิทธิภาพการสูบน้ำออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการเจรจากลุ่มชาวบ้านพยายามเสนอให้มีการลดระดับน้ำให้ได้ 50 เซนติเมตร ภายในสิ้นเดือนพ.ย. นี้ แต่เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าจะสามารถลดระดับน้ำได้เพียงวันละ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น ชาวบ้านจึงต้องยอมรับข้อเสนอเบื้องต้นที่จะลดน้ำให้ได้ 30 เซนติเมตรภายในสิ้นเดือนนี้ โดยจะติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดหากเห็นว่าไม่เป็นไปตามข้อเสนอก็จะออกมาเคลื่อนไหวอีก ทั้งนี้ ภายหลังการเจรจาชาวบ้านยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริการจัดการน้ำที่ดูเหมือนจะปกป้องเพียงเขตกทม. ส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่เต็มใจเป็นพื้นที่รับน้ำแต่ก็ต้องยอมรับ นอกจากนี้ยังสะท้อนปัญหาที่ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เหมือนถูกละเลยการแก้ไข โดยเฉพาะช่วงนี้ที่น้ำท่วมมานานกว่า 1 เดือน น้ำจึงเริ่มเน่าเสีย และมีขยะจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโจรออกมาลักของชาวบ้านจนไม่กล้าทิ้งบ้านออกไปอยู่ที่อื่น.

ขอขอบคุณ

เดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: