โดย ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์, Simon Fraser University
เหมือนเช้าทุกๆ วัน เมื่อผมตื่นขึ้นมาเมื่อวานสิ่งแรกๆ ที่ผมจะทำก็คือเปิดเฟซบุคเพื่อดูความเคลื่อนไหวและข่าวสารต่างๆ ตลอดวันในเมืองไทย และประเด็นร้อน ที่เพื่อนบนเฟซบุคของผมพร้อมใจกันแชร์ ก็คือคลิปการแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกฯ และ Hillary Clinton จาก youtube พร้อมกับคำโปรยต่างๆ นานา จับความได้ว่า "นายกฯ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง น่าอับอายแทนประเทศไทย ฯลฯ"
เมื่อฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ผมก็เกิด "คัน" ขึ้นมา นึกสนุกอยากทดสอบว่าถ้าให้คนต่างชาติฟังเขาจะฟังรู้เรื่องกันกันรึเปล่า จึงทดสอบโดยการแชร์คลิปการแถลงข่าวร่วมนั้น และตั้งคำโปรยเพื่อเชิญเพื่อนซึ่งไม่ใช่คนไทยให้มาดูคลิป แล้วตอบว่าเข้าใจที่นายกฯ แถลงรึไม่
ผมทิ้งแชร์เอาไว้หนึ่งวัน มีเพื่อนมาตอบทั้งหมด 6 คน เกือบทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และมิได้มีเพื่อนเป็นคนไทยนอกจากผมเท่านั้น (นั้นหมายความว่าไม่ได้คุ้นเคยกับสำเนียงแบบไทยๆ) ทุกคนตอบเป็นทิศทางเดียวกันว่า "เข้าใจแถลงการณ์ที่นายกฯ พูดได้เป็นอย่างดี มีปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น" เช่น บางคนตอบว่าเข้าใจ 95% บางคนตอบว่าไม่เข้าใจเฉพาะช่วงต้นๆ ของสุนทรพจน์ แต่โดยรวมเข้าใจได้ดี
จากผลการทดสอบนี้ รวมกับข้อสังเกตของผมเอง ผมขอสรุปดังนี้ครับ
1) เป็นความจริงที่ว่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะอดีตนายกฯ ใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นระยะเวลานานกว่า (แต่แน่นอนว่าแม้แต่อดีตนายกฯ ก็ยังมีสำเนียงไทย เมื่อพูดภาษาอังกฤษเช่นกัน)
2) แต่จากผลการทดสอบก็ยืนยันว่าคนต่างประเทศสามารถเข้าใจสุนทรพจน์ของนายกฯ ได้ ฉะนั้นภาษาอังกฤษของนายกฯ ถือว่าไม่มีปัญหาครับ มาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษในปัจจุบันนั้นถือ จุดประสงค์สำคัญคือการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ส่วนการพูดติดสำเนียง (accent) นั้นมิได้ถือเป็นปัญหาแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นธรรมชาติที่เมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากลมากกว่าภาษาประจำชาติ การพูดติดสำเนียงจึงถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งท่ามกลางกระแสค่านิยมการไม่เลือกปฏิบัติ (nondiscrimination) ด้วยแล้ว มาตรฐานในโลกตะวันตก (อย่างน้อยก็เป็นมารยาทในสังคม) คือ การพูดติดสำเนียงไม่เป็นปัญหา แต่การดูถูกคนที่พูดติดสำเนียงนั่นแหละเป็นปัญหา
3) ย้อนกลับมาดูวิถีปฏิบัติของประเทศไทยเราเองบ้างก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมหลายๆ คนถึง "อายแทนประเทศไทย" กับกรณีการพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยของนายกฯ คนไทยเรายังยึดค่านิยมว่า "สำเนียงกลางเท่านั้นที่ถูกต้อง" อย่างแข็งขัน เราเห็นตลกล้อเลียนภาษาไทยสำเนียงอื่นบ่อยครั้ง และที่แน่ๆ เราจะไม่มีทางได้เห็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือแม้แต่นักแสดงพูดด้วยสำเนียงอื่นนอกจากสำเนียงมาตรฐานเลย (ยกเว้นมุ่งให้เกิดความตลก) น่าสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าคนกรุงเทพฯ เอาวิธีวัด "ความถูกต้องทางภาษา" เช่นนี้ไปขยายผลกับ "ความถูกต้อง" ในกรณีอื่นๆ ด้วย
4) ถ้าจะเอาประเด็นเรื่องสำเนียงการพูดไปตัดสินคุณสมบัตินายกฯ ยิ่งไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นไปอีกครับ ถ้าใช้ตรรกะเดียวกันแล้ว นายกหู จิ่น เทา ของจีนสอบตกการเป็นนายกฯ ตั้งแต่อยู่ที่มุ้งเลยครับ เพราะท่านมิได้พูดภาษาอังกฤษแม้แต่คำเดียวในพิธีการที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างชาติ ท่านจะใช้ล่ามตลอด แต่นายกฯ หู ก็ยังเป็นที่ยอมรับของคนจีนจำนวนมาก แน่นอนว่าการพูดภาษาอังกฤษได้แบบไม่ติดสำเนียงเลยย่อมถือเป็น "โบนัส" แต่จะถือเป็นคุณสมบัติจำเป็นของนายกฯ ไม่ได้ครับ
5) สุดท้ายแล้ว จากมุมมองที่คนต่างประเทศ เขาไม่ได้เห็นว่าสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์พูดไปในการแถลงการณ์ร่วมนั้นเป็นสิ่งที่น่าอับอายของประเทศไทยเลย "ความน่าอับอาย" นั้นเป็นสิ่งที่คนไทย "คิดไปเอง" โดยการเอาค่านิยมของตัวเองเป็นตัวตั้งครับ
At Vancouver, Canada, Nov 18, 2011, 5:42 pm (GMT -8:00)
ป.ล. ตามไปดูผลการทดสอบได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ครับ
(หมายเหตุ นำบทความนี้จากมติชนออนไลน์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น