วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จำคุก 20 ปี "อากง sms" ทนายเตรียมขออภัยโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญา รัชดา วันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่นายนายอำพล (สงวนนามกุล) อายุ 61 ปี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “อากง” ซึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุ 2 และ 3 ลงโทษจำคุก 20 ปี

ทั้งนี้ ศาลใช้วิธีอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอรเรนซ์ เนื่องไม่สามารถนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้เพราะน้ำท่วมเรือนจำ หลังฟังคำพิาพากษา ภรรยา ลูกและหลานๆ ของนายอำพลพากันร่ำไห้ ขณะที่มีประชาชนผู้สนใจคดีดังกล่าวร่วมฟังคำพิพากษาราว 30 คน

สำหรับรายละเอียดการพิพากษา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

ผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ขึ้นบังลังค์เวลา 10.25 น. ที่ห้องเวรชี้ ชั้นล่างของศาลอาญา

ศาลพิพากษาว่า ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ได้จาก DTAC และ TRUE นั้นเป็นหลักฐานที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดเก็บโดยระบบคอมพิวเตอร์ตามที่กฎหมายกำหนด หากผู้ให้บริการจัดเก็บไม่ถูกต้องลูกค้าย่อมไม่เชื่อถือ อาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงถือว่าหลักฐานข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้รับถือเป็นเอกสารที่ น่าเชื่อถือ

สำหรับประเด็นสำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสารในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2000 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6 ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตามที่พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็นในศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 จะปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโทรศัพท์ของกลาง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่น แต่จากการทดสอบในเว็บดังกล่าวกลับไม่ปรากฏว่าเป็นรุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ เนื่องจากหมายเลขอีมี่ในคดีนี้ตรงกับหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ยี่ห้อ โมโตโรล่าที่นายอำพลใช้ และรับว่าใช้อยู่ผู้เดียว จึงยากที่จะมีผู้อื่นนำไปใช้ได้ และพบว่ามีการใช้โทรศัพท์เครื่องนี้กับซิมการ์ด 2 เลขหมาย ซึ่งจากหลักฐานชี้ชัดว่า ซิมการ์ดทั้งสองหมายเลขถูกใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานในเวลาที่ซ้ำกัน จึงเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดได้นำซิมการ์ดมาสลับใช้อย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งสมมติฐานไว้ นอกจากนี้ข้อมูลการจราจรยังระบุว่าข้อความถูกส่งโดยเสาสัญญาณจากย่านที่จำเลยพักอาศัยอยู่ด้วย

การที่จำเลยอ้างว่า โทรศัพท์มือถือของจำเลยเสียจึงนำไปซ่อมที่ร้านในห้างอิมพีเรียลสำโรง ศาลเห็นว่าจำเลยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน กล่าวคือ จำเลยแจ้งในชั้นจับกุมว่าโทรศัพท์มือถือเคยเสียและนำไปซ่อมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 แต่แจ้งในศาลว่านำไปซ่อมเมื่อเดือนเมษายน 2553 อีกทั้งยังจำร้านที่นำโทรศัพท์ไปซ่อมไม่ได้ ทั้งที่การนำไปซ่อมต้องไปที่ร้านถึง 2 ครั้งคือตอนนำไปซ่อม และไปรับคืน จึงถือว่าข้อมูลส่วนนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ

ศาลเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า ส่งSMS ไม่เป็น และไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุาการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ นั้น มีแต่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง

แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 10.43 น. รวมระยะเวลา 18 นาที พิพากษาให้จำเลยมีความผิดในการส่งข้อความสั้นตามฟ้อง โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้การส่งเอสเอ็มเอสจะต้องส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อนประมวลผลไปถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทาง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 (2) และ (3) การกระทำของจำเลยมีหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิด 4 กระทง รวมโทษจำคุกทั้งหมด 20 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่กับนายอำพลที่เรือนจำในห้องฟังคำพิพากษาได้กล่าว ผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ถามว่าคำพิพากษาว่าอย่างไร เพราะตลอดการฟังคำพิพากษาได้ยินเสียงไม่ชัด เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งอย่างสั้นๆ ไปว่า “ลุงติดคุก 20 ปี"

ทางด้านนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายจำเลยระบุว่า จะมีการหารือกับทีมทนายและครอบครัวจำเลยอีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าน่าจะไม่อุทธรณ์คดีและขอพระราชอภัยโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังฟังคำตัดสิน ครอบครัวนายอำพล ซึ่งประกอบด้วยภรรยา บุตรสาว 3 คน หลานสาว 4 คน อายุตั้งแต่ 4-11 ปี ได้เดินทางไปเยี่ยมนายอำพลที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และได้สอบถามเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ความว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องขังที่โทษสูงกว่า 15 ปี ดังนั้นจึงต้องมีการส่งตัวผู้ต้องขังไปยังเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม ยกเว้นญาติและทนายความ และมีความเป็นไปได้ว่าจะย้ายภายในวันศุกร์ที่ 25 พ.ย.นี้

ขอขอบคุณประชาไท

http://prachatai.com/journal/2011/11/37991

ไม่มีความคิดเห็น: