วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

IMEI คืออะไร เกี่ยวกับอากง SMS อย่างไร?


"นี่คือความเห็นจากคุณ ชาคริต เพื่อนของผมที่ทำงานในด้านเทคโนโลยี่สื่อ ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าสังคมไทยจะยอมรับหลักฐานแบบนี้ต่อไปหรือไม่?" - Shakrit Chanrungsakul

คดีอากง SMS กำลังจะกลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ เมื่อผู้รู้จริงในด้านเทคโนโลยีกำลังทำให้เราได้เห็นกันชัด ๆ ว่า "หลักฐาน" ที่ใช้ในคดีนี้ไม่สามารถเชื่อถือได้ ที่มันสะเทือนขวัญก็เพราะว่าระบบยุติธรรมของเราสามารถเอาคนเข้าคุกได้ทั้ง ๆ ที่หลักฐานไม่ชัดเจนพอที่จะส่งฟ้องเสียด้วยซ้ำ

โจทย์แถลง : ข้อพิสูจน์ในคดีนี้คือ IMEI ประจำเครื่อง 14+1 หลักที่มีความสำคัญ

โดยในคดีนี้ เลข 14 หลักแรก + หลักสุดท้ายที่เป็นเลข 6 สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นยี่ห้อ Motorolla ส่วนถ้าเปลี่ยนหลักสุดท้ายไปเป็นเลขอื่นจะพบว่าไม่ตรงกับยี่ห้อใดเลยในท้องตลาด (ใช้การพิสูจน์ด้วยการค้น IMEI ในเว็บแห่งหนึ่ง)

ผู้รู้แถลง : เลข IMEI 15 หลักถูกก็อปปี้ขายกันเป็นล้านเครื่อง ตามมาบุญครองและเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือราคาถูก โดยเลข IMEI ที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยเลข 14+1 หลัก ซึ่งหลักสุดท้ายจะไม่มีเลขอื่นนอกจาก checksum ของ 14 หลักแรก

ดังนั้นการที่มี IMEI 591154203237516

จะไม่มี 591154203237517 หรือลงท้ายด้วยเลข 8 หรือ 9 หรือ 0 หรือเลขอื่น ๆ นอกจากเลข 6 เนื่องจากมันเป็น checksum ของสิบสี่หลักแรก โดยคำนวนจาก Luhn Algorithm ดังนี้

เริ่มต้นจากเลขสิบสี่หลักแรกของ IMEI

59115420323751

ให้คูณ 2 เฉพาะตัวเลขที่เป็นหลักคู่

5(18)1(2)5(8)2(0)3(4)3(14)5(2)

แล้วค่อยนำมารวมกันเป็น

5+1+8+1+2+5+8+2+0+3+4+3+1+4+5+2 = 54

เพื่อทำให้ 54 หารด้วย 10 ลงตัว ต้องเพิ่มไปอีก 6 เพื่อให้เป็น 54+6 = 60

เอา 60 มาหาร 10 ตัวเลขสุดท้ายจึงต้องเท่ากับ 6

ดังนั้น การที่โจทย์ไปเสิร์ชหา

591154203237516 จึงตรงกับโมโตโรลล่ารุ่นที่อากงใช้ (และตรงกันกับโมโตโรลล่ารุ่นเดียวกันอีกหลายแสนเครื่องที่ขายกันอยู่ทั่วไป)

591154203237517 จึงไม่มีผลลัพธ์ตรงกับยี่ห้อไหนรุ่นไหนเลย

591154203237519 จึงไม่มีผลลัพธ์ตรงกับยี่ห้อไหนรุ่นไหนเลย

591154203237510 จึงไม่มีผลลัพธ์ตรงกับยี่ห้อไหนรุ่นไหนเลย

591154203237512 จึงไม่มีผลลัพธ์ตรงกับยี่ห้อไหนรุ่นไหนเลย

สรุปจากข้อมูลนี้ได้ว่า : IMEI ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ เนื่องจากหมายเลข IMEI นั้น ไม่ใช่ Unique Number มีมือถือหลายเครื่องที่มี IMEI ซ้ำกันได้ โดยมีทั้งการที่ซ้ำกันมาตั้งแต่โรงงานผู้ผลิต และซ้ำกันเพราะมาแก้ไข IMEI เองในภายหลัง (คนนำเข้าโทรศัพท์เถื่อน, คนประกอบโทรศัพท์ ต่างก็รู้กันแล้วว่ายี่ห้อไหนรุ่นไหนที่จะต้องใช้ IMEI อะไรจึงจะถูกต้อง)

สิ่งที่เราในฐานะประชาชนผู้อยู่ภายใต้กฎหมายควรที่จะรู้ และต้องการจะรู้ก็คือ "ประจักษ์พยานหรือหลักฐาน" ที่ชี้ชัดได้ว่า

1. SMS ดังกล่าวมาจากเครื่องของจำเลยจริง

2. จำเลยเป็นคนส่งข้อความด้วยตัวเองจริง

3. จำเลยมีสายสัมพันธ์หรือสามารถติดต่อโดยตรงกับเลขานุการนายกรัฐมนตรีทางโทรศัพท์มือถือได้จริง

ความยุติธรรมจะเกิด ถ้าหากโจทย์สามารถหาข้อพิสูจน์ดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานปรักปรำได้จริง

ซึ่งจำเลยต้องรับโทษตามกฎหมาย

แต่ถ้าโจทย์ไม่สามารถหาหลักฐานอื่นมาได้นอกเหนือจาก IMEI ที่มีโทรศัพท์รุ่นเดียวกันอีกนับหมื่นนับแสนเครื่อง และยืนยันที่จะใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการปรักปรำจำเลยในคดีนี้ ...

โจทย์จะต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ว่าต่อจากนี้ไปสังคมไทยจะยอมรับการใช้ IMEI เป็นบรรทัดฐานในการหาตัวผู้กระทำผิดทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือด้วยหรือไม่ ...

ถ้าคำตอบคือ "ใช่" ผมเชื่อว่าจะมีความวุ่นวายตามมาอีกหลายคดีอย่างแน่นอน –

โดย: Tone Tipayanon

บทความนี้ เป็นบทความที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์และวิชาด้านนี้โดยเฉพาะ โดยมีข้อความดังต่อไปนี้ (ไม่ตัดทอนประโยคใดๆทั้งสิ้น)

ไม่มีความคิดเห็น: