วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ดร.วีระพงษ์ ตอบโจทย์ "เรื่องง่ายๆ ผมไม่ทำ"

ดร.วีระพงษ์ รามางกูร

ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวในรายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า ภารกิจหลักของกยอ. คือ ภายในหนึ่งปีนี้ จะทำอย่างไรถ้ามีฝนมาอีกจะต้องไม่เป็นอย่างนี้ นิคม 7 แห่งที่จมน้ำไป ปีหน้าต้องไม่เป็นแบบนี้ นิคมอีก 8 แห่งจะต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์อย่างไร จะต้องหารือกับนิคมอุตสาหกรรมว่าจะทำอย่างไร เพื่อเรียกความมั่นใจโดยเฉพาะจากนักลงทุนญี่ปุ่น ให้กลับคืนมา เพราะการลงทุนในอุตสาหกรรม 70-80% เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น

จะดูว่า ต้องทำอย่างไร ให้บริษัทญี่ปุ่นต้องเดินเครื่องจักรได้ ต้องมีการเสริมคันคูกั้นน้ำ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูก ทั้งอุตสาหกรรมในนิคมและนอกนิคม ได้ตกลงกับทางกระทรวงการคลังไว้แล้ว ให้จัดสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ ในการลงทุนป้องกันน้ำท่วม

ในระยะต่อไป ก็ต้องฟื้นฟูประเทศจากความเสียหาย หลังน้ำลด มีภารกิจมากมาย ทั้งถนน สะพาน ที่เสียหายต้องรีบซ่อมแซม นอกจากนี้ ต้องลงทุนถาวร ในการวางระบบคูคลองระบายน้ำ ระบบสูบน้ำ ซึ่งส่วนนี้คณะกรรมการชุด ของดร.สุเมธ ดูแล

ส่วนของกยอ. ดร.วีระพงษ์กล่าวว่า ตนร่วมกับสภาพัฒน์ฯเป็นตัวหลักในการทำงาน อาจจะตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาในสภาพัฒน์ฯ เมื่อมีโครงการว่าจะทำอะไรแล้ว จึงจะรู้ว่าต้องใช้เงินงบประมาณเท่าไร ส่วนคณะกรรมการจะอยู่นานเท่าใดนั้น อยากให้อยู่จนการปรับโครงสร้างระบบถาวรแล้วเสร็จ ส่วนตัวบุคคลปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องสร้างระบบ

"อย่าไปสนใจรายชื่อว่าใครเป็นใคร มาจากไหน มีผม กับสภาพัฒน์ฯเป็นหลัก การทำงานใหญ่ต้องยาก ผมทำงานเรื่องยากทั้งนั้น เรื่องง่ายๆผมไม่ทำ "ดร.วีระพงษ์กล่าว

จุดสำคัญคือ ต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย ต้องช่วยกัน การบริหารจัดการเรื่องน้ำต้องทำให้เป็นระบบมั่นคงถาวร มีการออกแบบวิศวกรรมทางน้ำ วิศวกรรมชลประทาน เราสนับสนุนเรื่องงบประมาณ สนับสนุนให้ทำโครงสร้างพื้นฐานให้บริหารจัดการน้ำในระยะยาวได้

ดร.วีระพงษ์กล่าวว่า ตนได้นัดหมายกับท่านทูตประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือกัน และจะถามว่าต้องการให้ตนคุยกับใครบ้าง เช่นนักลงทุน บริษัทประกันภัย ว่าต้องการเห็นรัฐบาลไทยทำอะไรบ้าง

สำหรับคณะกรรมการ กยอ. ในวันอังคารหน้า ( 15 พ.ย.) จะมีการประชุมกรรมการนัดแรก จะหารือเรื่องงานธุรการ จัดตั้งสำนักงาน เรื่องงบประมาณ เรื่องรีบด่วน เพื่อให้บรรลุภารกิจที่ว่า จากนี้ไปหนึ่งปี จะต้องไม่เกิดอย่างนี้อีก แม้ฝนตกอย่างนี้ ต้องมีการประชุมกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าเขาต้องการอะไร เรื่องทางวิศวกรรม ต้องการเงินเท่าไร กระทรวงการคลังได้เตรียมเงินซอฟท์โลนไว้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้นิคมฯใช้ลงทุนป้องกันน้ำท่วมในระยะสั้น จะต้องมีมติโดยเร็วเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ มีเรื่องซ่อมถนน สะพาน ท่าน้ำ ต้องทำเร่งด่วน กระทรวงใดรับผิดชอบก็ของบประมาณกลางมาใช้ ได้ให้สภาพัฒน์ฯไปรวบรวมมาแล้ว ส่วนอุตสาหกรรมรายย่อย ก็มีธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารออมสินให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว

ทั้งนี้ หลังจากที่มีมติกรรมการออกมา ก็จะส่งให้นายกฯนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ออกมาเป็นมติครม. เพื่อสั่งการหน่วยงานๆต่างๆ โดยมีผลผูกพันตามกฎหมายต่อไป

ดร.วีระพงษ์กล่าวว่า "ตนได้ดูข่าวด้วยความเศร้าใจ เคร่งเครียดมาโดยตลอด ปัญหาครั้งนี้เกิดจากภัยธรรมชาติ การบริหารน้ำทำได้ดีมาตลอด อันนี้สุดวิสัยจริงๆ เทวดาให้น้ำมามากเกินไป ไม่ใช่ความผิดของใคร เรารู้แล้ว ต้องเตรียมรับสถานการณ์"

"ถ้าถามว่าให้คะแนนเท่าไร ตนให้คะแนนเต็มสิบ เพราะถึงให้ใครมาทำก็ต้องออกมาแบบนี้ ต้องให้กำลังใจ คนทำงานเหนื่อย ไม่ใช่เวลาที่จะบอกว่าสอบผ่านไม่ผ่าน ขอให้ท่านทำงานต่อไป ดูแลประชาชนที่ประสบเคราะห์ภัยครั้งนี้ให้ดีที่สุด " ดร.วีระพงษ์กล่าว




อ้างอิง - รายการ ทีนี่ไทยพีบีเอส ช่วงตอบโจทย์ ออกอากาศทางสถานไทยพีบีเอส วันที่ 9 พ.ย. 54

ไม่มีความคิดเห็น: