วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

พลังนักศึกษา(ไม่ได้)หายไปไหน?

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
(www.go6tv.com. กรุงเทพฯ) - จาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมวงถกกับพลังนักศึกษาหนุนแผนปรองแต่ไม่รับ คณะกรรมการปฏิรูป จัดที่มูลนิธิ ๑๑๑ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยเน้นว่า "ปรองดองต้องยุติธรรม" และนักศึกษาเคลื่อนไหวการเมืองจำนวนน้อยลงแต่เข้มข้นขึ้น เน้นย้ำว่าผู้มีอำนาจกลัวความจริงอัดรัฐบาลเส้นตื้น หนูหริ่ง บก.ลายจุดแน่ใช้การสื่อสารปากต่อปากเปิดเผยความจริง อาจารย์ มธ.ชี้ นศ.ถูกปิดกั้นเสรีภาพ สนนท.ออกแถลงไม่ยอมรับ คกก.ปฏิรูป

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่มูลนิธิ 111 ไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เสนอแนวทางปรองดอง 5 ข้อ ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เพราะการปรองดองต้องมาจากทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง การปรองดองสามารถมาจากฝ่ายที่ถูกกระทำได้ แต่ปัญหาของการปรองดองนั้น เพราะที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะปรองดองกับประชาชนทั่วไปฝ่ายเดียว แต่ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ต่อแนวทางปรองดองที่เพื่อไทยเสนอดูตอบรับมากขึ้น แต่ก็มีเงื่อนไขว่าพรรคเพื่อไทยต้องตัดขาดจากเสื้อแดงอย่าเด็ดขาด ซึ่งตนคิดว่านายกฯคงไม่พูดขนาดนั้น เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคมีสิทธิสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามการปรองดองจำสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทั้งสองฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าถ้าจะปรองดองต้องให้นายจตุพร พรหมพันธ์ และกลุ่มเสื้อแดงหยุดเคลื่อนไหว นายจาตุรนต์ กล่าวว่า นายสุเทพ ชอบใช้คำพูดว่า ฝ่ายหนึ่งยื่นเท้าฝ่ายหนึ่งยื่นมือ เป็นสิ่งที่นายสุเทพ ชอบใช้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่การแสดงความเห็นขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง เพราะแม้จะปรองดองแต่ฝ่ายค้าน ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ วิจารณ์รัฐบาลต่อไป แต่สองฝ่ายควรลดการพูดใส่ร้ายป้ายสีโดยไม่อยู่บนพื้นความเป็นจริง และรัฐบาลต้องไม่ทำให้อยู่ในสภาพแพ้ชนะให้ได้ ผู้ผิดไม่ต้องติดคุกแต่ผู้แพ้ต้องติดคุก ไม่สนใจว่าจะเกิดความยุติธรรมหรือไม่ แต่ต้องทำให้แพ้ไปข้างหนึ่ง รัฐบาลปล่อยให้เสื้อแดงเป็นฝ่ายถูกไม่ได้ เพราะถ้าเสื้อแดงถูกจะมีคนในรัฐบาลหลายคนต้องติดคุก ถ้าเดิมพันด้วยชีวิตกันอย่างนี้ จะไม่เกิดการปรองดอง แต่ต้องทำให้เกิดความยุติธรรม ให้อภัยบนพื้นฐานความถูกต้อง

เมื่อถามว่า การปรองดอง ต้องนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า

"ไม่สามารถแสดงความเห็นเรื่องนี้ได้เพราะมีส่วนได้เสียเนื่องจากถูกตัดสิทธิเพิกถอนทางการเมือง แต่การจะทำให้สังคมเดินไปข้างหน้า จะมุ่งให้ตายกันไปข้างหนึ่ง สังคมไปไม่รอด รัฐบาลต้องฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายด้วย ส่วนกรณีเรื่องสถาบัน ที่ผ่านมาเป็นเพียงการใส่ร้าย ปลุกระดมให้คนเกลียดชัง แต่ไม่มีการดำเนินคดี ควรเลิกใช้สถาบันเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง เพราะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบัน"
"รัฐบาลควรมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างเหมาะสม ควรมีตั้งโต๊ะพูดคุยภายใน โดยมีคนกลางมาร่วมหารือ และสามารถนำบทเรียนการแก้ปัญหาจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสม ไม่ควรพุ่งเป้าไปที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว เพราะจะกลายเป็นความขัดแย้งบานปลายไม่สิ้นสุด เมื่อแต่ละฝ่ายแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการปรองดอง แต่ละฝ่ายต้องปรับให้มีเอกภาพ เพราะเป็นปัญหาเดิม คือรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ใช้คนส่วนหนึ่งเจรจาแต่ฝ่ายความมั่นคงไม่รู้เรื่องด้วย ส่วนเสื้อแดงก็พูดสวนทางกัน และระหว่างสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น"

เมื่อถามว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายสมบัติ ธำรงค์ธัญญวงศ์ เป็นประธาน สรุปแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งระบบเขตเลือกตั้ง และมาตราที่เกี่ยวกับการยุบพรรค นายจาตุรนต์ กล่าสว่า เรื่องระบบเขตเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นใหญ่ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นประโยชน์มากขึ้นคล้ายรัฐธรรมนูญ 40 ที่ให้เลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว ส่วนบัญชีรายชื่อ ก็มีบางประเทศใช้เป็นบัญชีเดียว สำหรับการยุบพรรคเห็นว่าข้อเสนอของคณะกรรมการมีความพยายามลดปัญหา กติกาที่มุ่งทำลายนักการเมืองคนเดียวทำผิดลงโทษทั้งพรรค ซึ่งรุนแรงมาก เพราะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ให้ยุบพรรคง่ายๆ เป็นการเน้นลงโทษที่บุคคล แต่เพิ่มเวลาการเพิกถอนสิทธิ จาก 5 ปี เป็น 10 ปี ซึ่งขัดต่อเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เป็นทำให้เกิดพลเมืองชั้น 2 ตรงนี้ควรเน้นการลงโทษทางอาญาถ้าผิดจริง และย้ำว่า อย่าไปลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อน และมองว่า ความพยายามของคณะกรรมการชุดนี้ดีกว่าที่คาดคิดไว้ แต่ยังจับประเด็นเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่รู้ว่า ส.ส.จะเอาด้วยหรือไม่ แต่ถ้าเสนอรายละเอียดออกมาทั้งหมด ก็อยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาหาก สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 40 ก็น่าจะรับได้ แต่น่าเป็นห่วงส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีมติพรรคค้ำไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ซึ่งถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งต่อจะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่ยุติธรรม

วันเดียวกัน ที่มูลนิธิ 111 ไทยรักไทย ได้มีการเสวนาเรื่อง “พลังนักศึกษา ( ไม่ได้) หายไปไหน ทำไม อย่างไร หรือไม่?” โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า มักจะมีคำถามเป็นประจำว่า บทบาททางการเมืองของนักศึกษาในอดีตกับปัจจุบันทำไมแตกต่างกัน ทำไมเมื่อมีปัญหาการเมือง นักศึกษาถึงไม่เคลื่อนไหว คำตอบคือ เพราะสภาพเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักศึกษาก็มีบทบาททางการเมืองบ้าง ไม่ได้มีจำนวนมาก แต่มีความเข้มข้น เช่น การตั้งประเด็นเรื่องผู้เสียชีวิต 91 ศพ หรือทวงถามนายกฯ เรื่องการยกเลิก พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะนี้สังคมไทยกลายเป็นเผด็จการครบเครื่องในรอบ 20-30 ปี ไม่ใช่เผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจ แต่เป็นเผด็จการแยบยลที่ประสานหลายฝ่ายเป็นเครือข่ายใหญ่โต การเมืองอยู่บนหลักการที่สองฝ่ายสู้กัน แต่ไม่ใช่ว่าใครผิดติดคุก กลายเป็นว่าใครแพ้ติดคุก ถ้าเสื้อแดงไม่ถูกเรื่องก่อการร้าย คนในรัฐบาลหลายคนต้องติดคุกตลอดชีวิตฐานสั่งฆ่าประชาชน รัฐบาลจึงต้องสรุปให้ได้ว่า การชุมนุมนำโดยพวกก่อการร้าย แล้วยังฆ่ากันเองโดยรัฐบาลไม่มีความผิดอะไร

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้มีอำนาจกลัวที่สุดขณะนี้ คือ 1. การเคลื่อนไหว จึงต้องมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กดดันการเคลื่อนไหว 2 .ความจริง จนกลัวคนถือป้ายแสดงให้เห็นว่ามีคนตาย เมื่อรัฐบาลกลัวความจริง ต้องทำความจริงให้ปรากฏโดยใช้ระบบการสื่อสารที่ทันสมัย เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกันผ่านเว็บไซด์ เฟซบุ๊ค แบล็คเบอรรี่ ซึ่งคนรุ่นเก่าตามไม่ทัน การเคลื่อนไหวในปัจจุบันต้องไม่เหมือนในอดีต สภาพสังคมต่างกันมาก แต่แค่ทำผิดนิดเดียวก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลนี้เส้นตื้น หน้ามืดตามัว พยายามปิดกั้นความคิด อย่างสมัยก่อนก็ส่งบรรดาจอมพลไปเป็นอธิการบดี พอมีอะไรก็ลบชื่อนักศึกษาเหมือนกับจะเชือดไก่ให้ลิงดู แต่เชือดไปไก่ก็ไม่ตาย ลิงก็ไม่กลัว สังคมไทยไม่อาจอยู่กับคำพูดนามธรรมประเภท ต้องหาคนดีมีคุณธรรม แต่ไม่รู้จะแก้ปัญหาประเทศอย่างไรได้อีกต่อไปแล้ว

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า เรื่องแก้ความกลัวการถูกจับกุมถ้าเคลื่อนไหวนั้น การลงโทษนักศึกษาเคลื่อนไหว เขาคงจะทำน้อยลง ถ้าสังคมได้ช่วยกันจับตามอง แต่เรื่องที่ต้องช่วยกัน คือการคุกคามทางปัญญา ปิดกั้นความคิด เราต้องอธิบายให้อาจารย์ นักศึกษาเข้าใจ จุดอ่อนของเด็กไทยมากที่สุด คือคิดวิเคราะห์ไม่ได้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา มีการกำหนดใหม่ว่า ต้องมีคุณสมบัติในเรื่องการเป็นผู้นำ และการคิดเป็น วิเคราะห์เป็น นายกฯ จะคิดอย่างไร ที่บางมหาวิทยาลัยห้ามอาจารย์ยกกรณีการเมืองขึ้นเป็นตัวอย่างในการพูดคุยวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ นี่คือความอับจนทางปัญญา และการแสดงออกของนักศึกษา เป็นอันเดียวกันหรือไม่ที่ทำให้เขากล้าคิด ถ้านายกฯ ปล่อยไว้เป็นอย่างนี้ เรากำลังบอกว่า เราไม่ส่งเสริมให้เด็กไทยคิดเป็น แต่ให้ทำตามผู้ใหญ่ว่า แล้วประเทศไทยข้างหน้าจะเป็นอย่างไร การกดกันแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนว่า ประเทศนี้จะเอาอย่างไรกับการศึกษา

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด กล่าวว่า นักศึกษาต้องเป็นนักตั้งคำถามและนักแสวงหาคำตอบ เราต้องเปลี่ยนจิตสำนึกเป็นผู้สร้าง สร้างสังคมของตัวเองในอนาคต การแสดงออกความเป็นตัวเอง คือการตั้งคำถาม เช่น การตั้งคำถามเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ผ่านมา มีการบอกว่า นักศึกษาคุกคามกฎหมาย แต่กฎหมายก็คุกคามประชาชนอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.) เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เล่มหนึ่งว่า การปฏิวัติเป็นความผิดพลาด เพราะทำให้ประเทศลุกเป็นไฟอีก 4 ปี และอีก 4 ปีนายอภิสิทธิ์ก็คงต้องมาตอบคำถามเช่นกันว่า การกระชับวงล้อมที่ราชประสงค์ ใช้กระสุนจริง ผิดพลาดหรือไม่ และตนมีข้อเสนอเรื่องการทำมหกรรมป้ายเพื่อสร้างสีสันในการเคลื่อนไหว และเราต้องมีการฝึกความรู้ ฝึกการทำงานแบบยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวให้มากขึ้น ต้องใช้การตลาดปากต่อปาก ไม่ต้องใช้สื่อขนาดใหญ่ และจะกระทบกันไปเรื่อยๆ และถ้า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ยอมเลิก เราควรถือป้ายแล้วเขียนว่า นี่คือการชุมนุมทางการเมือง แล้วปิดปาก มัดแขนมัดขากระโดดๆ หน้า ศอฉ.สัก 5-6 คน ให้เขาจับอาทิตย์ละรุ่นไปเรื่อยๆ ดูว่าเขาให้คำตอบอย่างไร เชื่อว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์เขาก็จะตอบคำถามเราไมได้

นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากคืนตำแหน่งทางวิชาการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะไม่เห็นว่า เป็นแล้วจะช่วยอะไรประชาชนได้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตนถูกตั้งคำถามว่า ปัญหาการเมืองที่ผ่านมา นักศึกษาหายไปไหน ก็เพราะถูกปิดกั้นเสรีภาพ อย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายยังถูกจับไปบำบัดจิตที่ชูป้ายว่าเห็นคนตายที่ราชประสงค์ การเคลื่อนไหวถูกติดตามเฝ้ามอง

“หลังจากนั้น ได้มีการเปิดให้ตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ให้แสดงความเห็น โดยมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่า นักศึกษาหลายรายก็ยังคงกลัวที่เห็นรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเหตุการณ์นิสิตถูกยึดป้ายที่จุฬาฯ และถูกจับที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ทำให้เราเห็นว่า การปิดกั้นเยาวชนมีจริง มันเป็นจุดเริ่มของแรงกระเพื่อม นักศึกษานั้นก็มีความคิดเองได้ แต่เมื่อแสดงความคิด ก็มักจะถูกคุกคาม เช่น การแสดงออกของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.)ก็ถูกวิจารณ์ว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่นักศึกษาก็คิดเองได้ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาอาจมีขนาดเล็ก แต่ต้องสร้างสีสัน และให้เหมือนทฤษฎีเห็บ คือยิ่งบีบ ยิ่งแตกให้กระจายออกไปเรื่อยๆ” นายวรพล กล่าว

ด้านน.ส.สุญญาตา เมี้ยนละม้าย โฆษกสนนท. แถลงการณ์ว่า 1. สนนท.จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะปฏิรูป เพราะเห็นความไม่ชอบธรรมที่คณะกรรมการเหล่านี้จะมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพราะตั้งโดยรัฐบาลที่สลายการชุมนุม ไม่ได้มาจากภาคประชาชน และไม่มีการกล่าวถึงการใช้ความรุนแรงของทหาร 2. ขอประณามการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาลกับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล 3. ยืนยันที่จะร่วมต่อสู้กับภาคประชาชน เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา 4. ยืนยันว่า พลังนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราลุกจากการนั่งหน้าจอทีวีที่สอนให้เราคิดข้างเดียว ลุกจากการเป็นนักล่าปริญญามารับใช้ประชาชน ขอให้นิสิตนักศึกษามาร่วมกับเรา ซึ่งเราขอรับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน แต่ไม่ว่าการสนับสนุนจะมาจากแหล่งใด ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของเรา ทั้งนี้ ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ นายอภิสิทธิ์ จะจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษา ซึ่ง สนนท.จะเข้าร่วมและขอให้ประชาชนสามารถ

ฝากคำถามมากับ สนนท.ที่ studentfed.th@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: