วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553
ดร.โกร่ง : "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นรัฐบาล"
จากบทความ "วัดปทุมวนาราม" คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ศิษย์เก่าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยรุ่นรถโบก ร่วมกับครูในสมัย 50 ปีก่อน ได้ไปร่วมทำบุญประจำปีที่วัดปทุมวนาราม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกัน รุ่นพี่และรุ่นน้อง รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับคุณครูทิม ผลภาค ครูใหญ่ และคุณครูอื่น ๆ ที่ได้ ล่วงลับไปแล้ว
ที่เรียกว่า "รุ่นรถโบก" ก็เพราะมีการแยกนักเรียนชายจากโรงเรียนศรีอยุธยาที่ถนนศรีอยุธยา อำเภอพญาไท ไปตั้งโรงเรียนใหม่ เรียกว่าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2497 รุ่นแรกที่ไปก็คือย้ายนักเรียนตั้งแต่มัธยมปีที่ 2 ถึงปีที่ 6 และรับนักเรียนใหม่คือมัธยมปีที่ 1 เมื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่จึงมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6 ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คือนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 5 ถึงมัธยมปีที่ 4 ขณะนั้นโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยยังไม่มีการเรียนการสอนขั้นเตรียมอุดมหรือมัธยมปีที่ 5 และ 6 แบบสมัยนี้ ที่เลือกไปทำบุญที่วัดปทุมวนารามนั้นเพราะมีเพื่อนร่วมสมัยไปบวชมากว่า 40 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นพระครูสมุห์ธีระ ชื่อเดิมคือพระธีระ แก้วศรีปราชญ์ อยู่ที่วัดนี้
โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 6 ริมคลองประปาสามเสน เลยโรงกรองน้ำประปาสามเสน ตั้งอยู่ติดกับสามแยกที่ถนนนครไชยศรีมาบรรจบกับถนนพระรามที่ 6 เป็นที่ที่คลองประปาซึ่งเป็นคลองที่ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดปทุมธานี มาบรรจบกับคลองสามเสนพอดี
ตำบลสามเสนนี้ ท่านสุนทรภู่จินตกวีของเราได้เล่าไว้ในนิราศพระบาท ว่าดังนี้
"ถึงสามเสนแจ้งนามตามสำเหนียก เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นราคิน แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ
ขอใจนุชที่ฉันสุจริตรัก ให้แน่นหนักเหมือนพุทธรูปเลขาขำ
ถึงแสนคนจะมาวอนชะอ้อนนำ สักแสนคำอย่าให้เคลื่อนจงเหมือนใจฯ"
ชื่อโรงเรียนก็ตั้งตามชื่อตำบล เมื่อพวกเราย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนสามเสน ซึ่งสมัยนั้นพื้นที่ยังเป็นตัวท้องร่องสวนผัก ถนนหนทางเป็นโคลนตม ไม่มีรถเมล์วิ่งผ่านเลยแม้แต่สายเดียว มีรถเมล์ศรีนคร สีเขียว สายเดียว เลี้ยวมาจากสี่แยกตึกชัยแล้วก็เลี้ยวไปตามถนนนครไชยศรี ไม่ผ่านหน้าโรงเรียน
พวกเราจะเดินก็ไกล ยิ่งตอนฝนตกถนนพระรามที่ 6 แม้จะลาดยางแล้ว ไหล่ถนน ก็เป็นโคลนตมเฉอะแฉะ ถ้าจะเดิน ก็ต้อง ถอดรองเท้าถุงเท้าห้อยคอ แล้ว ค่อยมา ล้างเท้าที่โรงเรียน ใส่ถุงเท้ารองเท้าใหม่
ขณะนั้น บริษัท เดอ เกรมองต์ ของฝรั่งเศส เป็นผู้รับสัมปทานวางท่อน้ำประปาขนาดใหญ่ บริษัทได้เอาท่อเหล็กขนาดใหญ่มาวางไว้ข้างถนน พอฝนตก พวกเราก็ได้พลอยอาศัยมุดเข้าไปหลบฝนอยู่ในท่อที่วางไว้ยังไม่ได้ฝัง หลบฝน พวกเราก็กลายเป็นมนุษย์ท่อไปชั่วขณะ เพื่อนฝูงที่พ่อแม่จะมารับมาส่งอย่างสมัยนี้ไม่มี ครูบาอาจารย์ก็ไม่มีรถเก๋งนั่ง ต้องเดินทางมาโรงเรียนแบบเดียวกับนักเรียน แต่ครูใหญ่ท่านมีบ้านพักในโรงเรียน ครูน้อย บางท่านก็มีบ้านพักในโรงเรียน
รถยนต์ที่ผ่านมาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะ คนขับคงจะนึกสงสารเด็กนักเรียน จึงหยุดรับไปส่งที่หน้าโรงเรียน ตอนเย็นก็หยุดรับไปส่งที่สามแยกนครไชยศรีบ้าง สี่แยกตึกชัยบ้าง
นักเรียนพอเห็นคนใจดีก็เลยโบกรถที่ผ่านไปมาอาศัยขึ้นไปลงหน้าโรงเรียน และรับจากหน้าโรงเรียนไปลงที่สี่แยกตึกชัย จนถึงปี 2500 จึงมีรถเมล์ศรีนครสายสนามหลวง-ปฏิพัทธ ผ่าน พวกเราจึงค่อยสบาย ไม่ต้องคอยยืนโบกรถไปมาเหมือนอย่างเคย
นักเรียนรุ่นที่ไปอยู่โรงเรียนสามเสน ตั้งแต่ปี 2497 ถึงปี 2500 จึงขนานนามตัวเองว่าเป็นรุ่น "รถโบก"
เมื่อเข้าไปวัดปทุมวนารามทีไร ก็ทำให้นึกถึงความหลังครั้งยังเป็นเด็กที่ต้องย้ายโรงเรียนเมื่อจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนเทศบาลบำรุงวิทยา จังหวัดนครพนม เดี๋ยวนี้มีชื่อใหม่ว่า โรงเรียนสุนทรวิจิตร มาพักอยู่ที่บ้านพักตำรวจสันติบาลในบริเวณกรมตำรวจ ตรงกันข้ามกับวัดปทุมวนาราม ชีวิตจึงผูกพันกับเพื่อน ๆ ในบริเวณกรมตำรวจ กับเพื่อน ๆ ที่เป็นเด็กวัดปทุมวนาราม อย่างแนบแน่นจนทุกวันนี้
ตอนนั้นเด็ก ๆ ยังเข้าวัด วันสำคัญก็ยังไปเวียนเทียน สวดมนต์ฟังเทศน์ พวกเราจึงจำพุทธประวัติได้เป็นอย่างดี เพราะพระจะเทศน์ถึงประวัติของวันสำคัญทางพุทธศาสนาทุกปี เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมาฆบูชา ให้เข้าใจความหมายและความเป็นมาตามพุทธประวัติ
สมัยนั้นจะไปไหนมาไหน ถ้าไปไม่ไกลก็ไปรถรางสายประตูน้ำ-ยศเส หรือไม่ก็สายประตูน้ำ-บางรัก ซึ่งผ่านสี่แยกราชประสงค์ บางทีก็เดินจากกรมตำรวจ ถนนพระรามที่ 1 ผ่านวัดปทุมวนาราม ผ่าน "ชุมชนแออัดหลังวัด" เพราะเป็นที่ของวังสระปทุมกับวังเพชรบูรณ์
พวกเราไม่เคยเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดปทุมวนาราม เรียกแต่ชื่อเดิมคือ วัดสระปทุม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี 2409 คู่กับวัดสระบัว ที่เชิงสะพานยศเส หรือสะพานกษัตริย์ศึก ข้ามทางรถไฟ วัดนี้จึงเป็นวัดของฝ่ายธรรมยุต นัยว่าสมัยนั้นยังเป็นป่าและมีสระบัวใหญ่ วัดนี้เมื่อแรกสร้างจึงเป็น "วัดป่า" มุ่งไปทางปฏิบัติมากกว่าปริยัติ
วัดนี้จึงเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้าง ต่อมาจึงได้ย้ายพระพุทธรูปจากเวียงจันทน์ชื่อ พระเสิม จากวัดส้มเกลี้ยง หรือ วัดราชผาติการาม มาประดิษฐานที่พระวิหาร ความสำคัญของพระเสิมได้เคยเล่าไว้แล้วในฉบับก่อน
ส่วนพระประธานในโบสถ์ชื่อว่าพระสาย ยังไม่ได้สืบถามดูว่ามีประวัติ ความเป็นมาอย่างไร บางคนก็ว่าเป็นคำที่กร่อนมาจากพระใส หนึ่งในสามพระพุทธรูป ที่ทรงสร้างโดย พระราชธิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านนาที่เชียงใหม่ และอาณาจักรล้านช้างที่หลวงพระบางทรงย้ายจากเชียงใหม่มาหลวงพระบาง ต่อมาก็ทรงย้ายมาสร้างเมืองเวียงจันทน์ ประทับอยู่ที่นั้นโดยนำพระแก้วมรกตมาด้วย เหตุเพราะทรงหนีพม่าพระเจ้าบุเรงนอง
ที่เล่ากันว่ากร่อนมาจากคำว่าใส เพราะพระใสเมื่อข้ามแม่น้ำโขงมาถึงเมืองหนองคาย หลวงพ่อพระใสท่านไม่ยอมมากรุงเทพฯ หามกันขึ้นเกวียน เกวียนก็หัก เปลี่ยนเกวียนใหม่ก็หักอีกถึง 3 ครั้ง จึงโปรดให้ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย หนองคาย แล้วจึงมาสร้างจำลองพระใสขึ้นที่กรุงเทพฯ เลยเรียกว่าพระสาย ทำนองเดียวกับพระพุทธชินราชจำลองที่วัดเบญจมบพิตร เท็จจริงเป็นอย่างไรยังไม่ได้ตรวจสอบ ฟังเพื่อนลูกศิษย์วัดเล่าให้ฟังนานแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะฟังดูแล้วไม่น่าจะจริง เชิญตรวจสอบเอาเองเถิด เพราะวัดสร้างมาแค่ 150 ปีนี้เอง
แต่ก่อนพอทำบุญฟังพระสวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทพาหุงแล้วทอดผ้าบังสุกุลให้กับครูและเพื่อนรุ่น "รถโบก" เสร็จแล้วก็พากันแยกย้ายกันกลับบ้าน
แต่คราวนี้ได้เดินเล่นชมไปทั่ววัด เห็นแล้วก็อนิจจังเพราะวัดเจริญขึ้นมาก ทั้งอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ไปหมด
วัดปทุมวนารามเมื่อก่อนอยู่กลางชุมชนแออัด บัดนี้ชุมชนแออัดไม่มีแล้ว รถรางนั้นจอมพลสฤษดิ์ท่านสั่งเลิกไปตั้งแต่ปี 2502 หลังจากที่ท่านทำรัฐประหารครั้งที่ 2
บัดนี้ วัดสระปทุม หรือวัดปทุมวนาราม อยู่ท่ามกลางความเจริญสูงสุดของประเทศไทย คืออยู่ระหว่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์กับศูนย์การค้าสยามพารากอน
โรงเรียนวัดปทุมวนาราม เมื่อก่อนมีแค่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 เป็นอาคาร เรือนไม้อยู่ติดกับรั้วด้านหน้าวัด เดี๋ยวนี้ เป็นอาคารใหญ่ 4-5 ชั้น ย้ายไปอยู่ทางหลังวัดติดกับศูนย์การค้า คลองอรชรไหลผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปออกคลองแสนแสบกั้นระหว่างวัดกับวังสระปทุม เมื่อก่อนมีเรือขายถ่านขายฟืนถ่อผ่าน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไปออกคลองสาทร ก็มองไม่เห็นเสียแล้ว แต่ที่ยังเหมือนเดิมก็คือ โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ และพระภิกษุ เกือบทั้งหมดมีพื้นเพเป็นชาวอีสานมาบวชเรียนที่กรุงเทพฯ
วัดสระปทุม หรือวัดปทุมวนาราม บัดนี้จึงเป็นวัดที่พระและเด็กวัดเกือบทั้งหมดเป็นชาวอีสาน แต่อยู่ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าไปโดยรอบ เหมือนกับเห็นโบสถ์ วิหาร และพระเจดีย์ อยู่ท่ามกลางแท่งคอนกรีต เหมือนกับมีวัดที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทย ไปตั้งอยู่บนใจกลางของ เกาะแมนฮัตตัน หรือกรุงโตเกียว หรือนครเซี่ยงไฮ้ มีรถไฟและทางคนเดินรวมกันเป็น 3 ชั้นผ่านหน้าวัด
แม้กระนั้นเมื่อเข้าไปในวัดจริง ๆ กลิ่นอายบรรยากาศภายในวัดก็ยังคงเป็นแบบเดิม เหมือนกับที่เคยสัมผัสมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่เคยอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับวัดแห่งนี้ คือสงบเงียบ
วัดสระปทุม หรือวัดปทุมวนาราม กลับมาเป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดง
เมื่อดูข่าวในโทรทัศน์จึงมีความรู้สึกคุ้นเคยกับภาพโบสถ์ วิหาร เจดีย์ แต่เมื่อ ความรุนแรงเกิดขึ้นในบริเวณวัดก็เกิด ความสลดใจ เพราะหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านก็ประกาศเป็นเขตอภัยทาน จะเป็นใครก็ตามแม้แต่หมู ไก่ สุนัข ปลา หรือสัตว์น้ำ เมื่อเข้าไปอยู่ในเขตวัด หรือถูกปล่อยให้อยู่ในเขตวัดก็เป็นอันปลอดภัย ไม่ถูกจับ ไม่ถูกฆ่า เป็นอันมีชีวิตรอด
ในสมัยก่อนเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นใคร เช่น ทำรัฐประหารไม่สำเร็จ หรือมีการแย่งชิงอำนาจกัน ฝ่ายแพ้เมื่อโกนหัวเข้าวัดไปบวชเป็นพระแล้วก็เป็นอันเลิกกัน จนมีคำที่เอามาล้อกันเล่นว่า "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นรัฐบาล" เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงมาเกิดขึ้นในวัด โดยเฉพาะวัดสระปทุม หรือวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นวัดที่เคยคุ้นเคยมาแต่เล็กแต่น้อย จึงมีความรู้สึกเศร้าสลดใจเป็นของธรรมดา
ได้แต่หวังว่าต่อไปนี้ ความสงบร่มเย็นคงจะกลับมาสู่วัดสระปทุม หรือวัดปทุมวนาราม ตามเดิมอีก
เมื่อไปทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับคุณครู และเพื่อนนักเรียนสามเสนวิทยาลัย "รุ่นรถโบก" ด้วยกัน ก็เลยถือโอกาสอธิษฐานเงียบ ๆ อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ที่มาเสียชีวิตในบริเวณวัดนี้ด้วยและได้อธิษฐานต่อไปอีกว่า ขออย่าได้มีเหตุการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นอีกเลย เพราะ บ้านเมือง ครอบครัว หรือแม้แต่บุคคล แต่ละคนจะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีความสงบทั้งกายและใจ และไม่มีความสุขใดจะเสมอได้กับความสุขอันเกิดจากความสงบทั้งกายและใจ สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า "นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง"
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น