วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

เหตุใดคนจึงไม่ไปเลือกตั้ง?



บทความ โดย ดร.อนุวัฒน์ ชลไพศาล
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

โปรดสังเกตว่าคำถามของบทความคือ เหตุใดคนจึงไม่ไปเลือกตั้ง? ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เราควรหรือไม่ควรไปเลือกตั้ง นะครับ

คำตอบของท่านผู้อ่านอาจมีหลากหลาย อาทิ ขี้เกียจ, เบื่อการเมือง, หรืออาจไปไกลถึงว่า การเลือกตั้งควรเป็น “สิทธิ” หาใช่ “หน้าที่” ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์สำนัก Public Choices อธิบายพฤติกรรมการนอนหลับทับสิทธิ์ช่วงเลือกตั้งของคนทั่วไปโดย ทฤษฎีความเขลาที่มีเหตุผล (Theory of Rational Ignorance)

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ แอนโทนี ดาวส์ (Anthony Downs) เสนอคำอธิบายเรื่องความเขลาที่มีเหตุผล (Rational Ignorance) ครั้งแรกในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1957 ชื่อ An Economic Theory of Democracy

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ


ลองจินตนาการว่า ท่านเป็นคุณหมอผู้ยิ่งใหญ่ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ คุณหมอสามารถหารายได้ 100,000 บาท ต่อชั่วโมง คุณหมอท่านนี้คงไม่ใช้เวลาครึ่งวันไปเที่ยวตระเวนหาข้อมูลข่าวสารว่า มะเขือยาวที่ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตมีราคาแตกต่างกับร้านของชำหน้าบ้านมากน้อยเพียงใด เพื่อซื้อมะเขือยาวถูกลง 10 บาท
พฤติกรรมดังกล่าวสามารถคาดการณ์ได้ทั่วไป ไม่เห็นประหลาดตรงไหน

นี่แหละครับที่ แอนโทนี ดาวส์ อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น ความเขลา (Ignorance) ของคุณหมอที่ มีเหตุผล (Rational) เพราะประโยชน์จากการเสียเวลาหาข่าวสารเพื่อซื้อมะเขือยาวถูกลง 10 บาท ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องเสียไป (เวลาครึ่งวันเปลี่ยนเพศให้คนได้ตั้งหลายคน)

การเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน

นักเศรษฐศาสตร์เสนอคำพยากรณ์ว่า คนทั่วไปจะนอนหลับทับสิทธิเมื่อ ประโยชน์ที่คาดการณ์จากการไปใช้สิทธิ (เลือกนโยบายที่พรรค A สัญญา และ พรรค A ได้จัดตั้งรัฐบาล และ พรรค A ส่งมอบนโยบายตามที่สัญญา) น้อยกว่า ต้นทุนจากการไปเลือกตั้ง (เสียสิทธิทางการเมืองบางอย่าง, เสียเวลาทำมาหากิน, เสียเวลาติดตามพฤติกรรมของพรรคตัวเลือกต่างๆ อาทิ สาระสำคัญของนโยบายเป็นอย่างไร, โอกาสในการเป็นรัฐบาล, พฤติกรรมการส่งมอบนโยบาย)

เห็นไหมครับว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่า เราควรไปเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผมลองคิดต่อเล่นๆ ว่า ถ้าเชื่อตามลำดับเหตุผลข้างต้น เราจะอธิบายพฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของท่านมหาเศรษฐีขี้หงุดหงิดผู้มีค่าเสียเวลามหาศาลของเราอย่างไร?

คงจะเป็น “ความฉลาดที่ไม่มีเหตุผล” (Irrational Intelligence) กระมังครับ



ขอขอบคุณ ดร.อนุวัฒน์ ชลไพศาล

ไม่มีความคิดเห็น: