ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 8 พ.ย.2554 นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ให้สัมภาษณ์ในรายการสถานีรวมใจสู้ภัยน้ำท่วม ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง11หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งจากครม.ให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้โทรศัพท์มาหาตนด้วยตัวเองเพื่อขอให้มาช่วยงานรัฐบาล
โดยนายกฯบอกว่าตนมีประสบการณ์ มีความอาวุโสและจะตั้งรองนายกรัฐมนตรี 2 คนไปเป็นรองประธานกรรมการ ตนจึงบอกนายกฯไปว่าโดยธรมเนียมปฏิบัติไม่ค่อยมีรองนายกฯมาช่วยงานคนที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง นายกฯจึงบอกตนว่าม่านประเพณีมีไว้แหวก ตนจึงรับหน้าที่นี้เพราะหากไม่ทำก็จะเป็นการใจดำกับประเทศ ตรงนี้คือภารกิจสุดท้ายที่ตนจะทำ
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า รูปแบบคณะกรรมการนั้นเบื้องต้นจะทำในรูปแบบกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งรัฐบาลในอดีตเคยทำไว้ คือเมื่อกรรมการชุดนี้มีความเห็นเช่นใดก็จะประสานและเสนอให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบ ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเอากับคณะกรรมการชุดนี้ด้วย หากไม่เอาด้วย ก็จะขับเคลื่อนการทำงานไม่ได้ เบื้องต้นน่าจะออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจกรรมการชุดนี้เพื่อจะได้ทำงานได้รวดเร็วและมีอำนาจเต็มที่ และต้องออกกฎหมายอีกฉบับเพื่อใช้งบประมาณ แต่จุดนี้ขอดูรายละเอียดก่อนเพราะขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 ยังไม่ผ่านสภา และคงต้องใช้เงินคงคลังตามพ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2498 ที่ให้อำนาจรัฐบาลใช้เงินตรงนี้ได้เพราะประเทศประสบภัยพิบัติและอาจตราเป็นพ.ร.ก.ต่อไป
“การทำงานของกรรมการจะมีระยะสั้นคือใน 1 ปีนั้น หากฝนตกครั้งหน้าไม่ว่าจะตกเท่านี้หรือเท่าใด เมืองไทยต้องไม่เป็นแบบนี้ และต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่าเมืองไทยแม้จะฝนมาเท่าใดก็อยู่กันได้ มันเป็นภารกิจหนักที่จะต้องทำให้สำเร็จ ส่วนระยะยาวคือสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนอย่างถาวร ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีบูรณะประเทศ” นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า การที่นายกฯตั้งตนซึ่งไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นการส่งสัญญาณให้คนไทยและต่างประเทศรู้ว่ารัฐบาลเอาจริงไม่ทำเรื่องนี้เพื่อการเมือง เพราะในอนาคตข้างหน้าหากตนไม่อยู่คนที่จะเข้ามาแทนก็สามารถทำงานต่อจากตนได้ ตรงนี้เป็นงานของกรรมการในระยะยาวที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถามว่าโครงการที่กรรมการเสนอต่อรัฐบาล จะใช้เงินจากส่วนใดฟื้นฟูประเทศเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ไม่เหมือน 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่ใช่ประเทศลูกหนี้สุทธิ การพัฒนาเศรษฐกิจมีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนถึงรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมืองไทยมีเงินออมมากกว่าเงินลงทุน เรามีเงินทุนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาหลายปีแล้วตั้งแต่สมัยพล.อ.ชาติชาย ประเทศไทยมีเงินและสมบัติมาหศาล วันนี้ต้องควักเงินมาทำเพื่อลูกหลายในอนาคต ฉะนั้นยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ต้องนำเงินที่สะสมไว้มาก่อให้เกิดประโยชน์ เงินนั้นไม่มีปัญหาขอเพียงให้สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการต้องมีประโยชน์ โปร่งใส มีวินัยทางการเงินการคลัง
“เย็นวันที่ 9 พ.ย.เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยนัดผมนรับประทานอาหาร ผมก็ไปพูดเรื่องนี้กับญี่ปุ่นเพื่อคุยกันว่ามีความเห็นเช่นใด ต้องการสิ่งใดจากประเทศไทย ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากที่สุด และผมก็จะไปญี่ปุ่นเพื่อคุยกับไจก้า จะขอความร่วมมือจากญี่ปุ่นในการวางแผนเพราะมีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำมากที่สุดในโลก ซึ่งต้องทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุอย่างนี้อีก” นายวีรพงษ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น