ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กยน. |
คนไทยเวลานี้ ขอบอกตรงๆ ว่าโคตรคิดมาก คิดพิสดาร คิดแยกสี ผมไม่มีอะไรเลย ความคิดง่ายมาก ในภาวะอย่างนี้รู้หรือเปล่าว่าเรากำลังเผชิญอะไรอยู่ รู้ไหมว่าน้ำท่วมบ้านเวลานี้ มันรุนแรงแค่ไหน ถ้ารู้แล้วจะสยองขวัญ ปัญหามันใหญ่โตกว้างขวางเกินภาวะปกติ ถ้าเรื่องแค่นี้ไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
น้ำเป็นพันๆ ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับอ่างเก็บน้ำ 1 อ่าง กองอยู่เหนือกรุงเทพฯ เวลานี้บ้านเมืองกำลังเดือดร้อน ถ้าใครมาขอให้ช่วยอะไร ยังมาคิดโน่นคิดนี่อีก ก็ไม่รู้จะว่าไง ฉะนั้น จะเป็นใครมาขอให้ผมทำอะไร ผมทำให้ได้ทั้งนั้น ในฐานะที่รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คนกำลังเดือดร้อน จะมาเลือกอะไรไม่ได้นอกจากยึดชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ฉะนั้น ถ้าขอให้ช่วยชาติบ้านเมืองแล้ว...ได้ แต่ถ้าขอให้ไปทำอะไรเพื่ออย่างอื่นนั้น...ให้ไม่ได้ จะปฏิเสธได้อย่างไร บ้านเมืองกำลังจะพินาศอยู่แล้ว
เวลานี้...สังคมกำลังวิปริตมากในเรื่องความคิด ค่อนข้างจะใช้ความคิดที่ไม่ค่อยจะเป็นปกติ ไม่ใช้สติปัญญา ไม่ได้คิดถึงบ้านเมืองเป็นหลัก ยังคิดแบ่งแยก แบ่งสี เรื่องของประเทศชาติใครขอได้ทั้งนั้น ถ้าทำได้นะ และต้องรู้ฐานะด้วย ถ้ามาขอให้เป็นประธาน ผมรับไม่ได้ เพราะยังมีความรับผิดชอบอยู่ที่มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นงานหลักของผม นอกเหนือจากนี้ให้ผมรับผิดชอบอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นโดยตำแหน่งหน้าที่ใดๆ จึงไม่เคยรับ แต่หากให้เป็นที่ปรึกษา ถ้าใช้สติปัญญาคิด ย่อมรู้สถานะของที่ปรึกษาว่าไม่มีความรับผิดชอบอะไรจะต้องรับทั้งสิ้น ดังนั้น งานที่ปรึกษาบทบาทจึงมีจำกัด แต่เหตุผลกลใดไม่รู้ สื่อเกือบทุกประเภทมาชูที่ปรึกษา เหมือนไม่ได้ใช้ปัญญาเขียน
นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นคนโทรศัพท์มาทาบทามผมเอง บอกว่า "เข้ามาช่วยปูหน่อยเถอะ ช่วยชาติบ้านเมืองหน่อยเถอะอาจารย์" ใครจะไปปฏิเสธได้ หลังจากนั้นอีกไม่นาน คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็โทรศัพท์มาอีกรอบ
ประเด็นที่ตั้งผมไม่มีอะไร เขาอยากรู้ว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสไว้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง อย่าลืมนะผมจบรัฐศาสตร์การทูต ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านน้ำ แต่ในคณะทำงานก็มีคนที่ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายคน เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งนั้น อาทิ คุณปราโมทย์ ไม้กลัด ดร.รอยล จิตรดอน ดร.เสรี ศุภราทิตย์ บุคลากรเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้ระบบราชการ ต้องเข้าไปร่วมงานอยู่แล้ว
เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งมานานกว่า 30 ปี รัฐบาลจึงอยากรับทราบรายละเอียดจากผม เพราะได้ถวายงานมาโดยตลอด สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งมาโดยตลอดเวลา 65 ปี พระองค์ทรงทำให้ดูหมดแล้ว แต่พวกเราไม่ได้ประมวลกันเอง
เรื่องน้ำปัญหาอยู่ที่ไหน เราก็ตอบกันแบบเด็กเรียนหนังสือ น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ไหลจากเหนือลงใต้ ฉะนั้น ปัญหาต้องเริ่มจากทางเหนือ เวลานี้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดนจังๆ น้ำเจ้าพระยามาจากไหน ก็มาจาก ปิง วัง ยม น่าน แต่วันนี้ป่าถูกทำลายหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำโดยธรรมชาติจึงขาดหายไป ป่าอนุรักษ์ตามยอดเขาทางเหนือเกือบจะเกลี้ยงแล้ว แทนที่น้ำส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้โดยระบบของธรรมชาติ โดยรากไม้ ต้นไม้ ป่าธรรมชาติก็ทำไม่ได้ น้ำจึงไหลไปรวมกันโดยไม่มีอะไรขวางไว้ รวมกันที่ปิง วัง ยม น่าน
พระองค์ท่านได้แสดงให้ดูที่ห้วยฮ่องไคร้ เรื่องฝายชะลอน้ำ การบูรณะป่าต้นน้ำ เพื่อให้ช่วยอมน้ำ พอน้ำลงด้านล่าง พระองค์ก็รับสั่งเรื่องหนอง คลอง บึง พื้นที่ลุ่มจะจัดการตัวเองให้เป็นสระ หนอง คลอง บึง เพื่อเก็บน้ำ คำถามคือ แล้วสภาพวันนี้เป็นอย่างไร ก็ถูกละเลย ตื้นเขิน มีการบุกรุกยึดไป มีกรรมสิทธิชอบธรรมหรือไม่ ก็ไม่รู้ เช่น กว๊านพะเยา สรุปว่าแหล่งกักน้ำธรรมชาติอยู่ในสภาพแย่
ประเด็นต่อมาคลองธรรมชาติ คลองขุด ลำธาร คำถามวันนี้เป็นอย่างไร ได้ข่าวเจ้าหน้าที่บอกว่าสูบไม่ออกเลย เพราะมีที่นอน ยางรถยนต์อยู่ในน้ำ บ้านสร้างขวางคลองเข้าไป เห็นกันชัดๆ เพราะไม่มีการบริหารจัดการ แหล่งน้ำเหล่านี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
เมื่อจบปัญหาน้ำท่วม พระองค์รับสั่งเรื่องแก้มลิง น้ำท่วมคราวนี้ก็ไม่ได้เป็นครั้งแรก ธรรมชาติเตือนเรามาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจทำ พระองค์แนะให้สร้างแก้มลิงตามลำน้ำใหญ่ๆ ผมตามเสด็จฯพระองค์ท่าน เกือบทุกลำน้ำหน้าแล้งเดินทางได้ พอหน้าน้ำขึ้นไปถึงยอดไม้
ประเด็นคือ ขณะที่มีน้ำมาก ทำอย่างไรให้น้ำที่ทะลัก เป็นการทะลักโดยการบริหารจัดการ อย่าให้ทะลักโดยธรรมชาติ เพื่อจะได้บริหารจัดการได้ ถ้ามีแก้มลิงบริเวณลำน้ำใหญ่ๆ ทุกแห่งจะช่วยได้ แก้มลิงจะทำหน้าที่อมน้ำไว้ ถ้าสามารถทำได้สองข้างทางช่วยได้ และจะต้องทำประตูน้ำเปิดปิด เพื่อให้น้ำเข้าออกได้ แต่อย่าไปรวมกับเขื่อน เพราะคนละเรื่องกัน จะเก็บไว้ในป่า เก็บไว้ตามหนอง คลอง บึงธรรมชาติหรือเขื่อนก็ได้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้แล้ว น้ำจะปริมาณมหาศาลแค่ไหน ส่วนหนึ่งก็จะถูกจัดเก็บไว้ ไม่ทะลักออกมาพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้เราได้มีเวลาบริหารจัดการ เพื่อทุเลาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
วันนี้น้ำที่ค้างอยู่ในแผ่นดินเหนือกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มันเท่ากับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ถึง 8 เขื่อน เป็นเทวดาก็ต้องยอมแพ้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งมาตลอดว่า อย่าให้น้ำมามากขนาดนั้น ทั้งหมดนี้คือแนวพระราชดำริ
ถ้ารัฐบาลจะให้ผมเข้าไปให้คำปรึกษา ผมก็จะทบทวนเรื่องนี้ เล่าแบบนี้ให้ฟัง ส่วนจะเข้าใจหรือไม่ ทำหรือไม่ทำ หรือทำได้แค่ไหนนั้น ก็สุดแล้วแต่รัฐบาล เพราะเกี่ยวกับงบประมาณ
ผมไม่ใช่นักเทคนิคจึงให้คำปรึกษาได้เพียงเท่านี้ แต่หากจะถามว่าแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าในเรื่องป่าต้นน้ำนั้น
1.รักษาของเดิมที่มีอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง รักษากฎหมาย หากขาดอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ก็ต้องสนับสนุน และที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย ก็ไม่มีทางรักษาได้ ฉะนั้น ท้องถิ่นก็ต้องเข้ามามีบทบาท
2.ฟื้นฟู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นแล้วว่าภายใน 7-8 ปี ก็กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ตัวอย่างที่ห้วยฮ่องไคร้ ดอยตุง ฯลฯ ป่าทุกป่าที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทหาร ท้องถิ่น โรงเรียน ชาวบ้าน ถ้าทำจริงไม่เกิน 10 ปีก็จะเห็น และรูปแบบนี้จะต้องทำตั้งแต่ที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังให้การบ้านอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุดินถล่มว่าให้ศึกษาว่าต้นไม้ชนิดใด ที่สามารถยึดหน้าดินไว้ได้ดีที่สุด เบื้องต้นคณะทำงานพบแล้วแต่ยังไม่ได้รายงาน ว่าต้นไม้ที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้คือ ต้นไทร ไม่ใช่ต้นยาง หรือต้นไม้ที่ปลูกกันทั่วไปแล้วทำให้ดินถล่มลงมา ต้นไทรใช้เวลาไม่นานก็เห็นผล ถ้าเริ่มทำอีกไม่นานก็เห็นผล และจะต้องหาต้นไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติแบบนี้ด้วย เพราะพระองค์ท่านระมัดระวังมาก ไม่ใช่ว่าต้นไทร หญ้าแฝก จะปลูกได้ทุกพื้นที่ แต่จะต้องดูความเหมาะสมของสภาพดินด้วย
3.ศึกษาทางน้ำ น้ำท่วมครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ไประเบิดถนนหลายแห่ง เพื่อให้เป็นทางผ่านน้ำ ประเด็นคือว่า ในการสร้างถนนแต่ละแห่ง จะมีท่อระบายน้ำขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่หลาก โดยเฉพาะจุดที่ขวางทางน้ำ เมื่อน้ำหลากมากต้องหาทางให้น้ำผ่านไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ถนนขาด ตัวอย่างที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พระองค์ก็ได้แสดงให้เห็นว่าบางแห่งให้มีท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน บางแห่งทำถนนให้ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับในช่วงน้ำหลาก ทำให้น้ำไหลลงทะเลให้เร็วที่สุด ถนนจะได้ไม่ขาด น้ำอาจจะท่วมบ้าง แต่ไม่นาน สรุปคือ ต่อไปนี้หากมีการสร้างสาธารณูปโภคใดๆ ให้ศึกษาและคำนึงถึงเรื่องทางน้ำไหลหลากด้วย
4.ต้องสงวนพื้นที่สีเขียว ที่เราทราบกันขณะนี้คือทางน้ำผ่าน หรือฟลัดเวย์ (Flood way) ถ้าน้ำหลากมากจะได้ให้น้ำผ่านไปได้สะดวก ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการกำหนดพื้นที่สีเขียว ระหว่างน้ำไม่ท่วมให้ทำไร่ทำนา แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ให้น้ำไหลลงทุ่งไปได้ อาจไปทำถนนกว้างๆ หรือที่นาไร่ ในด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ชาวบ้านจะได้ไม่เดือดร้อน
เดิมย่านรามคำแหงกำหนดให้เป็นป่า แต่ระบบผังเมืองไม่เข้มแข็งวันนี้ก็เลยกลายเป็นเมืองไปหมดแล้ว วันนี้ก็ต้องใช้กระสอบทรายเพราะขวางทางน้ำอยู่ กลับมาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านได้หรือไม่ ถ้าจะสร้างบ้านยกใต้ถุนสูง
ถามว่า ฟลัดเวย์จะมีได้หรือไม่ ในเมื่อวันนี้มีแต่บ้านเรือนเต็มไปหมด ก็แล้วทำไมยังเวนคืนไปสร้างถนน รถไฟฟ้าได้ กลับแค่เวนคืนไปทำฟลัดเวย์แค่นี้ไม่ได้หรือ ถ้าเห็นว่ามีความสำคัญ และคุ้มค่าก็ต้องทำได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล
ทั้งหลายทั้งปวงต้องบริหารจัดการแบบองค์รวม ไม่ใช่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำ แต่จะต้องให้เป็น "วาระแห่งชาติ" หน้าที่ผมก็มีเท่านี้ ต้องพูดประวัติศาสตร์เพื่อไปสู่อนาคต
ถามว่าจะใช้เวลากี่ปีในการฟื้นฟู ผมไม่ทราบ แต่เวลานี้ผมอายุ 72 ปีแล้ว ผมคงไม่ได้เห็น แต่ถ้าทำเสียแต่วินาทีนี้ ทั้ง 62 ล้านคนรับผิดชอบร่วมกันทำอย่างจริงจัง ภายใน 5 ปี อาจจะยังพอมีหวัง แต่ถ้ายังทำแยงกันไป ตัดขากันไปอย่างนี้...ยาก แค่ผมรับการแต่งตั้ง ยังมีทั้งคนโทร.มาเชียร์ โทร.มาตัดพ้อ
วันนี้...เศรษฐกิจ การเมือง ภัยธรรมชาติ เตือนเราแล้วนะ ร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อบ้านเมืองซะทีเถอะ!
หมายเหตุ - ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น