วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ศูนย์รับบริจาคแจง! ถุงยังชีพเจ้าปัญหาราคาถุงละ ๓๐๐ บาท



เรื่อง ข่าวประชาสัมพันธ์การจัดซื้อถุงยังชีพของศูนย์รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เรียน สื่อมวลชนทุกแขนง

สิ่งทีส่งมาด้วย ข่าวประชาสัมพันธ์การจัดซื้อถุงยังชีพของศูนย์รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน ๑ แผ่น

ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ กรณีกล่าวหาว่าการจัดซื้อถุงยังชีพของ ศปภ. จัดซื้อไม่เหมาะสมกับราคาที่ตั้งไว้ราคา ๘๐๐ บาท นั้น

ศูนย์รับบริจาคฯ ขอเรียนว่า การจัดหาถุงยังชีพจึงมีหลายรูปแบบปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ประสบภัย และงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งการจัดหาถุงยังชีพที่ดำเนินการอยู่ในช่วงที่ผ่านมามี ๒ ประเภท คือ ผลิตขึ้นเองจากสิ่งของบริจาค และจัดซื้อใน ๓ ราคา ได้แก่ ราคา ๓๐๐ บาท ๕๐๐ บาท และ ๘๐๐ บาท (รวมค่าอำนวยการและค่าขนส่ง) โดยได้กระจายให้หน่วยงานจัดซื้อ ๒ หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์รับบริจาคฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำหรับกรณีภาพข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อตรวจสอบรายการของสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในถุงยังชีพแล้ว พบว่ามีรายการใกล้เคียงกับถุงยังชีพที่ศูนย์รับบริจาคฯ ผลิตขึ้นเองและประเภทจัดซื้อในราคา ถุงละ ๓๐๐ บาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล)

ผู้ตรวจราชการสำนักนายรัฐมนตรี

ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพและ

เครื่องอุปโภค บริโภคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ฝ่ายเลขานุการ

ศูนย์รับบริจาคฯ

โทร ๐ ๒๒๑๔ ๕๙๙๕

โทรสาร ๐ ๒๒๑๔ ๕๙๙๖


ข่าวประชาสัมพันธ์

ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ กรณีกล่าวหาว่าการจัดซื้อถุงยังชีพของ ศปภ. จัดซื้อไม่เหมาะสมกับราคาที่ตั้งไว้ราคา ๘๐๐ บาท ศูนย์รับบริจาคฯ ขอเรียนว่า เนื่องจากมีประชาชนผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากบางพื้นที่อยู่ในช่วงภาวะวิกฤต บางพื้นที่กำลังปัญหาอุทกภัย การจัดหาถุงยังชีพจึงมีหลายรูปแบบปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ประสบภัย และงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งการจัดหาถุงยังชีพที่ดำเนินการอยู่ในช่วงที่ผ่านมามี ๒ ประเภท คือ ผลิตขึ้นเองจากสิ่งของบริจาค และจัดซื้อใน ๓ ราคา ได้แก่ ราคา ๓๐๐ บาท ๕๐๐ บาท และ ๘๐๐ บาท (รวมค่าอำนวยการและค่าขนส่ง) โดยได้กระจายให้หน่วยงานจัดซื้อ ๒ หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์รับบริจาคฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สำหรับกรณีภาพข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อตรวจสอบรายการของสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในถุงยังชีพแล้ว พบว่ามีรายการใกล้เคียงกับถุงยังชีพที่ศูนย์รับบริจาคฯ ผลิตขึ้นเองและประเภทจัดซื้อในราคาถุงละ ๓๐๐ บาท โดยการจัดซื้อถุงยังชีพราคา ๓๐๐ ดังกล่าวจะดำเนินการในรูปของคณะกรรมการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุฯ ซึ่งมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลในเรื่องราคาไม่ให้มีราคาสูงเกินไป สำหรับถุงยังชีพที่มี ๓ ราคานั้นมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑. ถุงยังชีพราคาถุงละ ๓๐๐ บาท เป็นสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่เริ่มมีน้ำท่วมแต่ยังไม่รุนแรง สามารถประกอบอาหารหรือเดินทางออกไปหาอาหารภายนอกเพิ่มเติมได้

๒. ถุงยังชีพราคาถุงละ ๕๐๐ บาท เป็นสิ่งของที่ผู้ประสบอุทกภัยใช้ในชีวิตประจำวัน และอาหารที่สามารถรับประทานได้ทันที เหมาะสำหรับน้ำท่วมปานกลางและรุนแรง พื้นที่สามารถประกอบอาหารได้บางจุด

๓. ถุงยังชีพราคาถุงละ ๘๐๐ บาท เป็นสิ่งของที่เน้นอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานได้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรุนแรงไม่สามารถประกอบอาหารได้

สำหรับกรณีถุงยังชีพที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดซื้อในราคา ๘๐๐ บาท มีจำนวนสิ่งของ ๘ รายการ โดยจะเน้นอาหารปรุงสุกที่สามารถรับประทานได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ โดยถุงยังชีพราคา ๘๐๐ บาท มีรายการประกอบด้วย ข้าวสารชนิด ๑๐๐ % บรรจุ ๕ กิโลกรัม จำนวน ๑ ถุง ข้าวสวยปรุงสุกรสต่างๆ/ข้าวสวยพร้อมรับประทาน ขนาด ๑๕๐ กรัม จำนวน ๓ ๔ กระป๋อง ปลากระป๋องชนิดดึงฝา ขนาด ๑๕๕ กรัม จำนวน ๔ กระป๋อง ปลาราดพริกสามรส/ปลาทอดรสเผ็ด ขนาด ๑๕๕ กรัม จำนวน ๔ กระป๋อง แกงเขียวหวานไก่/แกงเผ็ดไก่ บรรจุกระป๋อง ขนาด ๑๐๐ กรัม จำนวน ๔ กระป๋อง ปลาทอดบรรจุกระป๋อง ขนาด ๙๐ กรัม จำนวน ๔ กระป๋อง แกงพะแนงไก่/มัสมั่นไก่ บรรจุกระป๋อง ขนาด ๑๐๐ กรัม จำนวน ๔ กระป๋อง และหอยลายทอดรสเผ็ดบรรจุกระป๋อง ๔๐ กรัม จำนวน ๓ กระป๋อง ซึ่งรายการสิ่งของที่ปรากฏในข่าวมีความแตกต่างกับที่มีการจัดซื้อในราคา ๘๐๐ บาทอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวรวมถึงการบรรจุถุงต้องมีตราสัญญาลักษณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งค่าอำนวยการและค่าขนส่งด้วย

ศูนย์รับบริจาคฯ ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ในช่วงภาวะวิกฤตมีประชาชนที่ประสบอุทกภัยจำนวนมากได้รับความเดือนร้อนและรอการให้ความช่วยเหลือ ศูนย์รับบริจาคฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานร่วมกับประชาชนที่เป็นอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังตลอด ๒๔ ชั่งโมงโดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยเป็นสำคัญ ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารต่อสังคมในฐานะสื่อจึงควรพิจารณาข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ และควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งข้าราชการและอาสาสมัครที่ทำงานด้วยใจในฐานะจิตอาสาด้วย รวมทั้งขอให้ประชาชนได้พิจารณาข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้วยเนื่องจากการเสนอข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ผู้นำเสนอมักขาดความรับผิดชอบในสิ่งที่นำเสนอออกไป

----------------------------------

ศูนย์รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

โทร ๐ ๒๒๑๔ ๕๙๙๗


ไม่มีความคิดเห็น: