วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"มหาดไทยแชลแนล" จอดับ! ภูมิใจไทยถลุงร้อยล้าน


สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวี ช่องมหาดไทยแชนแนล ที่ก่อตั้งขึ้นในยุคที่มีมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็น รมว.มหาดไทย อันเป็นทีวีซึ่งมีการเสนอข่าวเชิงบวกของกระทรวงมหาดไทยยุคพรรคภูมิใจไทย จนถูกมองว่าเป็นสื่อการเมืองได้แจ้งว่าจะมีการปิดตัวลงและงดออกอากาศเป็นจอดำตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 54

ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย คาดว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งพรรคเพื่อไทยควบคุม และไม่ต่อสัญญากับบริษัทเอกชนที่ทำทีวีดังกล่าวที่หมดสัญญาตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะต่อสัญญาไปจนถึงสิ้นปี

แต่บ่ายสองของวันนี้(30 พ.ย.) ทางผู้บริหารสถานีได้แจ้งอย่างกะทันหันกับพนักงานว่า จะไม่มีการต่อสัญญา และยุติการออกกาศตั้งแต่พรุ่งนี้(1 ธ.ค.)เป็นต้นไป ทำให้พนักงานทั้ง 30 กว่าคนต้องถูกลอยแพอย่างไม่รู้อนาคต.

เมื่อคราวเปิดตัว มหาดไทยแชลแนล เมื่อประมาณมิถุนายน ปีที่แล้ว นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว. มหาดไทย เป็นประธานเปิด สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมหาดไทย พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ,นายมานิต วัฒนเสน ,นายขวัญชัย วงศ์นิติกร และนายศุภชัย ใจสมุทร และมีการใช้งบประมาณที่ใช้ในการผลิตรายการโทรทัศน์ทั้งหมด 96 ล้าน โดยขอสนับสนุนเงินจากหน่วยงานในสังกัด หน่วยงานละ 3 ล้านบาท และที่รับผลิตรายการคือ บริษัทแพลนมีเดียจำกัด และรายการทั้งหมดนั้น นายศักดิ์สยาม ในฐานะประธานคณะทำงาน รมต.มหาดไทย ได้ลงมอบนโยบายโดยเน้นให้เป็นรายการปกป้องสถาบัน โดยออกอากาศในระบบ KU-Band ความถี่(จานเหลือง DTV) (DTV: ช่อง 20) Thaicom5 Frequency:12272 MHz FEC: 2/3 Symbol rate: 30.000 Msym/s Polarize: Vertical

จากการค้นหารายการจากมหาดไทยแชลแนลและบริษัทที่รับจัดรายการคือบริษัท แพลนมีเดีย จำกัด ก็ไม่สามารถค้นหาชื่อบริษัทหรือเว็บไซต์ดังกล่าวได้เลย ทั้งที่ได้งบประมาณไปตอนก่อนตั้งร่วมร้อยล้านบาท

นายกฯยิ่งลักษณ์ เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายเหวียน เติน สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม (ซ้าย) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย (ขวา)
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย เดินทางถึงกรุงฮานอยแล้ว เพื่อปฏิบัติภารกิจเยือนประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการ ในการนี้นายเหวียน เติน สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้นำน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ก่อนเปิดประชุมหารือข้อราชการร่วมกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยินดีที่ได้เดินทางเยือนประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ต้องขออภัยที่ไม่สามารถร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำได้ เนื่องจากป่วยอาหารเป็นพิษ และขอขอบคุณรัฐบาลเวียดนาม และสภากาชาดเวียดนาม ที่ให้การช่วยเหลือไทยที่ประเทศประสบปัญหาอุทกภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯไทย หารือทวิภาคีกับนายกฯเวียดนาม ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันของแต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำงานร่วมกันในเรื่องข้าว และยังหารือถึงการเชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาค ซึ่งไทยให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จากเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ขณะที่เวียดนามพร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเช่นกัน

พระราชทานเครื่องราชย์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก "ยิ่งลักษณ์"

ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี 2554
ประกาศระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ให้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ในวันเดียวกัน ได้มีประกาศ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทยให้แก่ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร

เจ้าชายญี่ปุ่นดำริ "เกษียณอายุ-สมเด็จพระจักรพรรดิ"

AFP - เจ้าฟ้าชายอากิชิโนแห่งญี่ปุ่นทรงพระดำริให้กำหนดอายุเกษียณสำหรับพระจักรพรรดิ หลังจากพระราชบิดาทรงพระประชวร และต้องประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน

เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและจักรพรรดินีมิจิโกะ ทรงมีพระดำรัสพระราชทานต่อผู้สื่อข่าว ก่อนจะถึงวันคล้ายวันประสูติครบ 46 พรรษา

“ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น” พระองค์ตรัสตอบ เมื่อผู้สื่อข่าวทูลถามเกี่ยวกับพระดำริที่ให้กำหนดอายุเกษียณสำหรับจักรพรรดิญี่ปุ่น
พระดำรัสของเจ้าชายอากิชิโนที่เผยแพร่ผ่านสื่อญี่ปุ่นในวันนี้(30)มีขึ้น หลังจากที่พระจักรพรรดิซึ่งมีพระชนมายุ 77 พรรษา ทรงหายจากอาการประชวร และกลับมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อีกครั้ง

เจ้าชายตรัสว่า “คนเราเมื่อวัยล่วงเลยมาถึงระดับหนึ่ง ก็ยากที่จะทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ ข้าพเจ้าคิดว่านั่นคือประเด็นสำคัญ” ที่สมควรให้มีการกษียณอายุสำหรับพระมหากษัตริย์ และทรงแนะให้ทุกฝ่ายหารือเรื่องนี้โดยละเอียด
ไม่บ่อยนักที่พระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่นจะมีพระดำรัสต่อสาธารณชนในเรื่องการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชวงศ์เอง
อย่างไรก็ดี พระดำรัสของเจ้าชายอากิชิโนนับว่าประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังแสวงหาวิธีปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ได้ในโลกยุคใหม่

เจ้าชายฮิซาฮิโตะ โอรสของเจ้าชายอากิชิโนในวัย 5 ชันษา ทรงเป็นทายาทชายเพียงพระองค์เดียวที่ประสูติในราชวงศ์อิมพีเรียลในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกแก่กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ยึดถือการสืบสันตติวงศ์ผ่านรัชทายาทที่เป็นชาย

หลังจากสถานะเทวราชาของจักรพรรดิสูญสิ้นไปพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรพรรดิญี่ปุ่นจึงทรงมีบทบาทแต่ในเชิงพิธีการในฐานะที่ทรงเป็นประมุขรัฐ แม้กระนั้นชาวญี่ปุ่นก็ยังถวายความเคารพต่อสถาบันพระจักรพรรดิอย่างลึกซึ้งเสมอมา

เดือนที่แล้ว จักรพรรดินีมิจิโกะทรงแสดงความกังวลเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระจักรพรรดิ แต่ก็ตรัสด้วยว่า ทรงยืนเคียงข้างพระราชสวามีระหว่างที่คณะแพทย์ถวายคำแนะนำ

จักรพรรดิอากิฮิโตะทรงรับการผ่าตัดมะเร็งพระอัณฑะ เมื่อปี 2003 และปัจจุบันก็ยังทรงรับการรักษาอยู่เป็นระยะ พระองค์มิได้เสด็จฯออกในพิธีต้อนรับกษัตริย์และราชินีแห่งภูฏานเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ไม่ทรงร่วมงานเลี้ยงต้อนรับแขกของรัฐบาล นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เมื่อปี 1989

ผู้กองใจดี "ธรรมนัส พรหมเผ่า" ปรุงอาหารสุกแจกผู้ประสบภัย








เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2554 ทีมครัวเคลื่อนที่ของ “ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ ผู้กองนัส” นักธุรกิจใจบุญ ได้ทำกิจกรรมรวมใจสู้ภัยน้ำท่วมนำทีมจิตอาสา 7 คน ตระเวนไปทำขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ และอาหารสารพัดชนิด แจกผู้ประสบภัย ทำให้ทานกันสดๆ ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ปรุงสดๆ แจกให้กับผู้ประสบภัยที่แยก พุทธมณฑลสาย 5 อ้อมน้อย นครปฐม

ซึ่งหนึ่งในทีมงานครัวเคลื่อนที่ผู้กองธรรมนัส (คุณ ศักขรินทร์) ได้เปิดเผยว่า “ครัวเคลื่อนที่ร้อยเอกธรรมนัส” จัดตั้งขึ้นด้วยดำริของผู้กองธรรมนัส เพื่อช่วยผู้ประสบภัย ไม่รับบริจาคเงินจากใครทั้งสิ้น แต่หากใครอาสา อยากช่วยแรง ช่วยทำอาหาร หรือนำผักสด เนื้อหมูสด มาให้ก็ยินดีอย่างยิ่ง และหากชุมชนใหนต้องการให้ไปทำอาหาร และมีคนช่วยเราได้ เรายินดีเคลื่อนครัวเคลื่อนที่ของเราไปทำอาหารช่วยกันให้ถึงที่ ก่อนมาที่พุทธมณฑลสาย 5 ทีมงานได้ไปทำอาหารที่แยกสายไหมเมื่อวันเสาร์ จึงฝากเรียนประชาสัมพันธ์ว่า ชุมชนใดต้องการให้เราไปช่วย เรายินดี ขอให้มีคนพร้อม อุปกรณ์ เงินพร้อม วันที่ 30 นี้ ทีมงานก็จะไปแจกผ้าห่ม 10,000 ผืน ให้ผู้ประสบภัยหนาวตามหุบเขาไกลๆ ตามโครงการ “ธรรมัส ร่วมใจสู้ภัยหนาว”

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต: กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม

จากกรณี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ว่าการกดถูกใจ (Like) หรือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้เขียน และกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงกำลัง “ขอความร่วมมือ” ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อปิด “เพจหมิ่น” “วิดีโอหมิ่น” และสืบหาตัวผู้เขียนเนื้อหา

นอกจากนี้ ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เสนอให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูบทั้งเว็บไซต์ หากกระทรวงไอซีทีไม่สามารถจัดการไม่ให้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้

ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตหลายประการ ดังนี้

1. กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม

1.1 รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก

ข้อความที่อาจ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจถูกตัดสินโดยศาลว่าผิดตามมาตรา 112 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อข้อความดังกล่าว ไม่ผิดกฎหมายใดๆ พลเมืองไทยมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงการชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทุกประการ

1.2 อินเทอร์เน็ตคือการลิงก์ รัฐต้องไม่เอาผิดการแบ่งปันลิงก์

ในประเทศที่กฎหมายปกป้องสิทธิพลเมือง เช่น แคนาดา ศาลได้พิพากษาว่า การแบ่งปันลิงก์ไม่นับเป็นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหา และไม่ต้องถูกระวางโทษ เพราะเนื้อหาในลิงก์อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอโดยผู้แบ่งปันไม่สามารถควบคุมได้ ผู้แบ่งปันลิงก์จึงได้รับการปกป้องออกจากความรับผิด

ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความว่าการแบ่งปันลิงก์คือการเผยแพร่ข้อมูล และต้องรับผิด ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

การทำลิงก์ ส่งลิงก์ และเผยแพร่ลิงก์ เป็นหัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ต การเชื่อมโยงในเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีลิงก์ การทำให้การแบ่งปันลิงก์เป็นอาชญากรรม จึงเป็นการขัดขวางหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

1.3 เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่สามารถล่วงรู้และควบคุมการใช้งานได้ทั้งหมด

เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก มีซอฟต์แวร์ที่ทำการคัดเลือกเนื้อหาและลิงก์ เพื่อแสดงในหน้าเว็บกลาง (วอลล์: wall) และหน้าส่วนตัว (โพรไฟล์: profile) โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอนุมัติหรือรับรู้ อีกทั้งการคัดเลือกดังกล่าวพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมวิธีได้ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กจะทราบดีว่า ซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ

2. รัฐไทยควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

2.1 ตระหนักถึงราคาที่สาธารณะต้องจ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับความพยายามที่ไม่สามารถสำเร็จได้

ไม่มีการปิดกั้นแบบใดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า แม้รัฐบาลไทยจะลงทุนระดับ The Great Firewall ของประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นด้วยงบประมาณราว 24,000 ล้านบาท ก็ไม่สามารถปิดกั้นให้เนื้อหาใด ๆ ให้หายไปจากอินเทอร์เน็ตได้ ในขณะเดียวกัน การกีดขวางการจราจรอินเทอร์เน็ต ยังกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมอีกด้วย

2.2 ต้องใช้วิธีตามกฎหมาย หยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ

วัฒนธรรมการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการ ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ จะไม่ถูกจัดเก็บในสารบบของราชการ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เช่น สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ทำให้การพิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

2.3 หากรัฐยืนยันว่าจำเป็นต้องปิดเว็บไซต์หรือข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” การกระทำดังกล่าวควรเป็นไปโดยไม่สร้างภาระความรับผิดที่เกินสมควรให้กับตัวกลางหรือผู้ให้บริการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเสนอข้อปฏิบัติในภาพรวมดังนี้

  • แยกชนิดผู้ให้บริการและผู้ดูแล ออกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาและไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
  • กำหนดให้ผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (“ท่อข้อมูล”) ไม่ต้องมีความรับผิด
  • กำหนดระดับชั้นของผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่เกี่ยวกับเนื้อหา ตามความใกล้กับเนื้อหา
  • จำกัดขนาดของผลกระทบต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องให้เล็กที่สุด ในการส่งหนังสือเพื่อให้ระงับการเข้าถึงเนื้อหาชั่วคราว ควรแจ้งไปที่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแล ในระดับที่ใกล้กับเนื้อหาที่สุด ก่อนจะไล่ไปสู่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ห่างออกไป เนื่องจากผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ใกล้เนื้อหาที่สุดจะมีความในการจัดการเนื้อหาได้ง่ายกว่า และผลจากการกระทำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะกระทบผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • ต้องถือว่าการระงับการเข้าถึงเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหาย ในลักษณะการคุ้มครองชั่วคราว คำสั่งปิดกั้นจะมีได้ต่อเมื่อมีการแจ้งความหรือฟ้องคดี ระยะเวลาการปิดกั้นต้องมีวันสิ้นสุด (สามารถขยายได้ อย่างมีขอบเขต)
  • ในการระงับการเข้าถึงเนื้อหา ผู้ให้บริการต้องแสดงหมายเลขคำสั่งที่ชัดเจนบนหน้าเว็บ เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้
  • การปิดกั้นต้องสิ้นสุดทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ส่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือคดีสิ้นสุดโดยศาลพิพากษาว่าเนื้อหาไม่ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นรายละเอียดของคำสั่งทั้งหมดต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ

3. พลเมืองเน็ตควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

3.1 พิจารณาว่า เนื้อหาดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างแท้จริงหรือไม่

ควรไตร่ตรองว่าเนื้อหาดังกล่าวเข้าตามเกณฑ์ในดังต่อไปนี้
ก) การวิพากษ์วิจารณ์ (criticism)
ข) การแสดงความดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ลดค่าความเป็นมนุษย์ (hate speech)
ค) การยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกาย (fighting speech)
ง) ข้อมูลส่วนบุคคลที่เมื่อเปิดเผยแล้วอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว (sensitive personal data)

ข้อความในข้อ (ค) และ (ง) เท่านั้น ที่อาจจะสามารถทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ และจำเป็นต้องจัดการอย่างทันท่วงที ส่วนข้อความในข้อ (ข) แม้เป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน แต่ก็มีวิธีอื่นในการจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องระงับการเข้าถึง

พลเมืองเน็ตควรตระหนักว่า อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำหรับความรู้และความคิดเห็นอันหลากหลาย อินเทอร์เน็ตมีทุกสิ่งที่ใครคนหนึ่งเกลียด การปิดสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ จะนำไปสู่การปิดทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต วิธีที่เหมาะสมกับความเป็นจริงที่สุด เมื่อเจอสิ่งที่คุณไม่ชอบในเน็ต คือ อดทนกับมัน

3.2 รายงานเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ไปยังผู้ให้บริการ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน

เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ รวมถึงเฟซบุ๊กและยูทูบ ใช้แนวคิด “notice and takedown” ซึ่งหมายถึง การเปิดให้สร้างเนื้อหาอย่างเสรี แต่หากมีรายงานการละเมิดสิทธิ ผู้ให้บริการก็จะพิจารณาลบเนื้อหาดังกล่าว

การรายงานการละเมิดจึงควรเป็นไปด้วยความรับผิดชอบ รายงานให้ตรงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และไม่พยายามปั่นระบบรายงาน เพื่อลดภาระแก่ผู้ให้บริการและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

หากท่านต้องการรายงานว่าหน้าเฟซบุ๊กใด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่มีเหตุผลดังกล่าวให้เลือก ขอแนะนำให้เลือกเหตุผลที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “มันก่อกวนเพื่อนของฉัน: It harrasses my friend” คือเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวผู้รายงาน

การระดมคนเพื่อรายงานซ้ำๆ อาจทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถตอบสนองต่อรายงานกรณีอื่น ๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที (เทียบได้กับกรณีคนโทรไปป่วน 191)

อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
30 พฤศจิกายน 2554
contact@thainetizen.org


ภาคผนวก

นโยบายการรายงานของเฟซบุ๊กมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกปลอดภัย โดยจะดำเนินการกับกรณีการคุกคามความเป็นส่วนตัว ความรุนแรง และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งครอบคลุมการแบ่งแยกบุคคลตาม ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ และศาสนา

นโยบายการรายงานของเฟซบุ๊ก

คัดลอกจาก https://www.facebook.com/communitystandards

Facebook ไม่อนุญาตให้ใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โปรดเคารพซึ่งกันและกันเมื่อคุณติดต่อสื่อสารผ่าน Facebook แม้ว่าเราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น, สถาบัน องค์กร, กิจกรรม และการฝึกปฏิบัติต่างๆ แต่การแบ่งแยกบุคคลตามเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, ถิ่นที่ถือสัญชาติ, ศาสนา, เพศ, เพศสภาพ, รสนิยมทางเพศ, ความทุพพลภาพ หรือโรคภัย ถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขของเราอย่างร้ายแรง

การคุกคามและการล่วงละเมิด
ในฐานะที่เป็นชุมชน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง เราดำเนินการเมื่อมีการคุกคามความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือบุคคลนั้นได้รับการติดต่อโดยไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเราสนับสนุนให้คุณสร้างความสัมพันธ์อันดีใหม่ๆ โปรดพึงระลึกว่าการติดต่อบุคคลแปลกหน้า หรือบุคคลที่คุณไม่เคยพบหน้ามาก่อนอาจถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดอย่างหนึ่ง

เราประสงค์ให้สมาชิกของเรารู้สึกถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในไซต์ การคุกคามที่เชื่อได้ว่าเป็นอันตรายต่อผู้อื่นจะถูกลบ เราอาจต้องถอดการสนับสนุนสำหรับองค์กรที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นออกด้วยเช่นกัน

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ด่วน! เปิดใจ "จตุพร" หลังสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.





กกต.เสียงข้างมากมีมติให้ส่งเรื่อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ สิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคุณสมบัติ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต

นายสมชาติ เจศรีชัย รองเลขาธิการรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุม กกต. ที่ได้นำกรณีของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เข้าพิจารณาหลังจากคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงข้อกฎหมายกรณีคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของ นายจตุพร สิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ทำให้ขาดจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 เห็นว่า นายจตุพร ขาดจากความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามมาตรา 106 (4) และ (5) จึงสมควรส่งเรื่องไปให้ประธานสภาฯ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.

ขณะที่ นางสดศรี สัตยธรรม กกต. กล่าวว่า มีความเห็นเสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าไม่ต้องส่งศาล เพราะเห็นว่ากรณี นายจตุพร เข้าลักษณะตามมาตรา 106 ถ้าจะนำเอากฎหมายของ พ.ร.บ.มาใช้ประกอบการพิจารณา ก็เห็นว่ายังมีความขัดกันของกฎหมายอยู่

ขอบคุณ สปริงส์นิวส์ 

"นายกฯ" อาหารเป็นพิษเข้าโรงพยาบาลพระราม9

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ผู้สื่อข่าวข่าวสดรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ป่วยกะทันหัน เนื่องจากมีอาการท้องเสียและอาเจียนอย่างรุนแรง และต้องเข้าพักเพื่อรักษาอาการที่โรงพยาบาลพระราม 9 ตั้งแต่เวลา 03.00 น.

ทั้งนี้ นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีแจ้งลาการประชุมครม. โดยให้เหตุผลว่ามีอาการอาหารเป็นพิษ และเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 โดยมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมครม.แทน

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุของอาการท้องเสียของนายกฯ น่าจะมาจากอาหารทะเล เนื่องจากในช่วงเย็นของวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว นายกฯเดินทางกลับบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3 จากนั้นออกจากบ้านพักไปรับประทานอาหารทะเลร่วมกับครอบครัวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยสั่งเมนูพิเศษที่ต่างจากทุกครั้งคือหอยย่าง และน้ำมะนาวมาดื่ม

จนกระทั่งเวลา 02.00 น. นายกฯมีอาการพะอืดพะอมอย่างหนัก และท้องเสียคล้ายอาหารเป็นพิษ คนใกล้ชิดจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลในเวลา 03.00 น. ซึ่งหลังจากแพทย์ตรวจอาการแล้ว วินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นอาการอาหารเป็นพิษ แต่ยังไม่แน่ใจว่าสาเหตุจะมาจากอาหารทะเลหรือไม่ จึงได้ให้พักรอดูอาการและให้น้ำเกลือ

น้องชายนักข่าวญี่ปุ่น ดูจุดฆ่าพี่ชายถูกฆ่า

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 พ.ย. พล.ต.ต. อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีชันสูตรพลิกศพ 16 สำนวน ที่คาดว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 พร้อมด้วย พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผบก.น.6 พ.ต.อ.วัลลภ ประทุมเมือง รองผบก.น.9 และเจ้าหน้าที่สถานทูตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย รวมทั้งนายยูซูเกะ มูราโมโตะ น้องชายนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 เดินทางไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. โดยเฉพาะจุดที่นายฮิโรยูกิ ถูกยิงเสียชีวิต

พล.ต.ต.อนุชัยกล่าวว่า การตรวจจุดเกิดเหตุคดีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น เนื่องจากทางสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ร้องขอมา ทางพนักงานสอบสวนให้ข้อมูลในบริเวณจุดเกิดเหตุว่าเป็นเช่นไร เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่รักษาความสงบ ว่าแต่ละกลุ่มอยู่กันบริเวณไหนบ้าง รวมทั้งจุดที่นายฮิโรยูกิถูกยิงเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นและน้องชาย ต่างพอใจข้อมูลที่พนักงานสอบสวนชี้แจงให้ทราบ

รองผบช.น.กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการสอบสวนนั้น ล่าสุดส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว 2 สำนวน และภายในสัปดาห์หน้าจะส่งสำนวนให้อีก เป็นการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ในฐานความผิดเป็นการกระทำที่เกิดจากเจ้าพนักงานหรือไม่ โดยจะรีบสรุปสำนวน ทั้งหมดให้เสร็จ และส่งให้พนักงานอัยการก่อนวันที่ 17 ธ.ค. ตามกรอบเวลา

"ขณะนี้พนักงานสอบสวนมีพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมาก และสามารถระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิตได้แล้ว โดยเบื้องต้นพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนคดีที่เหลืออีก 14 สำนวน ส่งความเห็นให้อัยการพิจารณาได้ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้อย่างแน่นอน" หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีชันสูตรพลิกศพ 16 สำนวน กล่าว

กลาโหมกัมพูชา ตบหน้า "สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์"


เมื่อช่วงเย็น (28 พฤศจิกายน 2554) โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ออกแถลงการณ์ตอบโต้การให้ข่าวของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยระบุว่า นายสมเกียรติ ได้กล่าวว่า ตนทราบว่าคนของกลุ่มอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ได้จ้างทหารเขมรที่อยู่ตามแนวชายแดนเขมร-เวียตนาม จำนวน 5,000 คน ไว้สำหรับช่วยน้องสาวและกลุ่มของนายทักษิณ หากมีการทำรัฐประหาร(เผยแพร่ในเว็บไซต์ ASTV Manager online เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554)

แถลงการณ์กล่าวต่อว่า ตามบันทึกในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ได้ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อความพยายามของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(GBC) ในการดำเนินการต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น กองทัพแห่งชาติกัมพูชา เสนออย่างหนักแน่นไปถึงคณะกรรมการชายแดนทั่วไปฝ่ายไทย ให้ความใส่ใจอย่างสูงและใช้มาตรการที่สมควรต่อข่าวที่สร้างขึ้น โดยนักเคลื่อนไหวเสื้อเหลือง ชื่อ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่สับสน พร้อมกับจะบั่นทอนมิตรภาพและความร่ววมือที่กำลังดีขึ้น ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศในปัจจุบัน การกระทำของนักเคลื่อนไหวเสื้อเหลือง สมเกียรติ และการเผยแพร่ข่าวประดิษฐ์นี้ เป็นการละเมิดทั้งต่อข้อตกลง บันทึก และความพยายามของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย

โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ทิ้งท้ายว่า การเผยแพร่ประดิษฐ์ข่าวในที่นี้ อาจถือได้ว่าเป็นแนวโน้มและเป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายการก่อการร้าย เป็นเจตนาไม่ดีที่เป็นเหตุกระทบต่อเสถียรภาพและสันติสุขในภูมิภาค โดยเฉพาะในขณะที่กัมพูชาเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน

อ้างอิง 15thmove

สงครามสี พวงหรีด?


ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปงานศพอยู่หลายงาน ปกติงานศพทั่วไปก็มีคนส่งพวงหรีดมาไว้อาลัย แต่มี2-3งาน ที่ได้ไปแอบฟังเรื่องราวที่ออกจะขำๆ แต่ลึกๆมันไม่ขำ คือ “สงครามพวงหรีด”

สงครามของคนสองสี “แดง-เหลือง” มันลามเข้าไปถึงในงานศพ ทั้งที่ไม่น่าเชื่อแต่เป็นไปแล้ว บางงานผู้วายชนม์อาจสีเหลือง แต่ลูกหลานสีแดง บางทีลูกหลานด้วยกันมีทั้งแดงและเหลืองตัวพ่อ บางที ญาติฝ่ายหนึ่งแดง ฝ่ายหนึ่งเหลือง

มันขำตรงที่บังเอิญแต่ละฝ่ายก็มีแบล็คชั้นดี

งานแรก “แดง” ทั้งครอบครัว ปรากฏว่าถิ่นที่ตั้งของบ้านเขาอยู่ในวง “เหลือง” คนมางานส่วนมาก “มองตารู้ใจ” ก็แดงทั้งนั้น แต่พวงหรีดที่วางกลายเป็นพวงหรีดของพรรค ปชป. เจ้าถิ่นในตำบลนั้น ปรากฏว่า แขกเขม่นหรีดศพ? แขกมางานที่เสื้อแดงทนไม่ได้ กริ๊งกร๊างมาใหญ่ ให้ส่งหรีดสีแดงไปด่วน คืนถัดมารู้สึกจะ สส.ปชป.มางาน หัวคะแนนก็มาที่ศาลาจัดฉากให้เสร็จก่อน คือมา "ย้ายหรีดศพของ สส.ปชป." มาวางไว้หน้าสุด เบียดหรีดของสีแดง ไปอยู่หลังศาลา เพื่อไม่ให้ สส.เกิดอาการ "กังวลใจ" เจ้าภาพก็ตามใจ พอคืนถัดมา ปรากฏว่าผู้ใหญ่ในเสื้อแดงมางาน ก็เอาละสิ ญาติรู้ทัน รีบย้ายหรีดศพของ สส.ปชป.ไปไว้หลังศาลา เอาหรีดของผู้ใหญ่ท่านนี้ที่โดนโยกไปไว้หลังศาลาวานนี้ สลับมาตั้งหน้าหีบแทน

กรณีถัดมา คุณพ่อเธอสีหนึ่ง คุณลูกเธอสีหนึ่ง แต่บังเอิญ "คุณลูกดัง" เลยต้องมีการแอบโทรเช็คเล็กน้อยว่าห้ามใส่เสื้อสีแดงหรือไม่? ห้ามหรีดสีแดงหรือไม่? เพราะญาติสีเหลืองเยอะ โชคดีที่ไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น แค่มีหรีดศพที่ไปส่งวางเป็นเกียรติ ชื่อ “พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร” ก็แอบได้ยินมาแต่ไม่กล้าถามคือ ญาติบางคนก็ไม่ปลื้มเอาซะเรย

กรณีสุดท้ายขำมาก คือฝ่ายเจ้าภาพลูกหลานมีทั้งแดง และเหลืองอย่างละครึ่ง แถมแดง-เหลืองตัวพ่อ ซึ่งปกติแล้ว ก็เขม่นสัพยอกกันไปมาอยู่แล้ว พอเข้าโหมดงานศพ ปรากฏมีพวงหรีดของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกฯ มาก่อน ญาติฝ่ายเหลืองโห่ฮิ้วดีใจภูมิใจ รับพวงหรีดพลางไปจัดวางด้านหน้าสวยสุด มุมดีสุด พร้อมเยาะเย้ยอีกฝ่ายกลายๆ ทำนองว่า "ไหนละสีแดงมีอะไร? เค้าไม่เห็นจะมีพวงหรีดอะไรมาเลย?" อีกฝ่ายทนไม่ได้ แอบโทรเช็คขุมกำลังภายใน แค่วันรุ่งขึ้น พวงหรีดของ “นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็มาถึงหน้าศาลา ฝ่ายรักสีแดงรีบยืดไปรับตั้งแท่นขึ้น แบ่งซ้ายขวาชัดเจน ซ้ายฝ่ายหนึ่งอภิสิทธิ์ ขวาฝ่ายหนึ่งยิ่งลักษณ์ ฮายังไม่จบ ฝ่ายรักอภิสิทธิ์ ก็สำแดงอิทธิ์ฤทธิ์ไม่ยอมจำนน เท่ากับมีหรีดนายกฯ และอดีตนายกฯ ประชันกันแล้ว ก็ยังมีพวงหรีดของบรรดา สส.ในพื้นที่ สีเหลืองโผล่มาต่อท้ายอภิสิทธิ์ พร้อมสัพยอกนิดๆแถม แต่มันไม่นิดสิครับ เพราะหนึ่งวันถัดไปถูกตอกกลับด้วยพวงหรีดชุดใหญ่ “พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร” รัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรีอีกบางกระทรวง จนแทบจะเบียดหรีดของ อภิสิทธิ์ไปนอกศาลา?

ไม่เฉพาะงานนี้ สมัยงานของท่านสมัคร สุนทรเวช ปรากฏว่าพวงหรีดของท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็กระเด็นไปอยู่ข้างๆศาลามุมในสุด ท่ามกลางกองเชียร์สะใจแอบถ่ายภาพมาเยาะเย้ย แต่ด้านข้างศาลาด้านบนจุดเด่นชัดกลายเป็นจุดแขวนหรีดของ “ทักษิณ-พจมาน ชินวัตร” อันนี้เจ้าภาพท่านคงไม่ทราบจริงๆ เพราะหรีดเยอะมาก แต่คนวางจัดหรีดแขวนขึ้นไป อาจมีใจ ฮา....

ที่เล่ามาทั้งหมด ด้วยอยากให้มองโลกอย่างสนุกสนาน ด้วยอยากให้ท่านขำขันคลายเครียดบ้าง ที่สุดของชีวิตแล้ว พวกเราก็ต้องจากกันไปด้วยกันทุกคน ถอยกันได้สักคนละก้าวเพื่อคนรุ่นหลังๆ เถอะครับ

(หมายเหตุ ตัวอย่างทั้งหมดเกิดขึ้นจากจินตนาการเสมือนจริงของผู้เขียน หากไปพ้องกับงานศพผู้ใด ผู้เขียนขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวกันใดๆทั้งสิ้น :-P)

ตอบโจทย์ : ข้อเสนอนิติราษฏร์ 1-3







รายการ ทีนี่ไทยพีบีเอส ช่วงตอบโจทย์ ออกอากาศทางไทยพีบีเอส วันที่ 28-30 พ.ย. 54 เวลา 22.30 น. ข้อเสนอนิติราษฎร์ รัฐประหาร..คอรัปชั่น..ทักษิณ..สถาบัน ตอนที่ 1-3

คลิปคุณขอมา "สนธิ ลิ้มฯปราศัย-วางโกเต็กรอบฐานพระรูปฯ ล้างไสย"


หมายเหตุ มีแฟนคลับฝากให้ค้นหาคลิปตอนที่สนธิ ลิ้มทองกุล พูดบนเวทีพันธมิตร ถึงกรณีนำผ้าอนามัยเปื้อนระดู ไปวางรอบฐานพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทีมงานจึงลองค้นหาดูได้ดังนี้ครับ

"อภิรักษ์ สั่งตรวจสอบบริเวณฐานพระบรมรูปร.5 หลังมีคลิปว่อนทั่วเมือง แฉ สนธิ ฟุ้งบนเวทีเรื่องทำคุณไสย เอาโกเต๊กเปื้อนเลือดไปเช็ดที่ฐานพระบรมรูปเพื่อแก้เคล็ดหมอเขมร หลังนายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศบนเวทีพันธมิตรฯกระจายสัญญาณผ่านสถานี ASTV ของตนเองวานนี้ (30 ต.ค.) ว่าได้ทำพิธีบางอย่างกับพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ด้วยการนำผ้าอนามัยหญิงที่ใช้แล้วจำนวน 6 ชิ้นไปวางไว้ที่บริเวณดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องการป้องกันภูติผีตามความเชื่อของตน"

ที่มา


วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : เปิดใจแก้ ม.112 และแนวทางปรับตัวของสถาบันฯ


ปัญญาชนสยาม เปิดใจถึงการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 และแนวทางการปรับเปลี่ยนของสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ธำรงอยู่คู่สังคมไทยตราบนานเท่านาน

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเขียนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านสนับสนุน และไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทยอยู่ไม่น้อย


แม้กฎหมายมาตรานี้ ที่มีเนื้อหาบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์และสถาบัน แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับถูกนักการเมืองหรือบุคคลบางกลุ่มหยิบฉวยมาเป็นเครื่องมือทำลายศัตรูฝ่ายตรงข้าม ดังปรากฏให้เห็นกันอยู่เนืองๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา

เช่นเดียวกันกับ กรณีของ ส.ศิวรักษ์ แม้เป็นคนหนึ่งที่พิสูจน์ถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในชีวิตของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ไม่วายถูกฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึง 3 ครั้ง

ดังนั้น ขณะที่กลุ่มนักเขียนกำลังรวบรวมรายชื่อ เพื่อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ จึงนับเป็นเรื่องน่ารับฟังไม่น้อย เมื่อนักคิดนักวิจารณ์สังคมคนสำคัญคนนี้ ได้ออกมาวิเคราะห์ถึง "ทางออก" ที่เหมาะสม เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชน ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของสังคมไทย

มีกลุ่มนักเขียนออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยเหตุที่อาจารย์เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ จึงน่าจะมองปัญหานี้ได้ชัดเจนกว่าคนอื่นๆ

อ๋อ ผมได้เปรียบครับ เพราะผมโดนกฎหมายนี้เล่นงานมา 3 หนแล้ว ครั้งแรกก็คราว(พลเอก)อาทิตย์ กำลังเอก ปี 27 อาทิตย์ต้องการเอา (พลเอก)เปรม (ติณสูลานนท์) ลง ตอนนั้นเปรมกำลังอ่อนแอ ทั้งทางการเมืองและทางสุขภาพอนามัย อาทิตย์นึกว่าจะจับผม นักศึกษาจะออกมาเดินขบวน จะเอาเปรมลง หนังสือผมยังอยู่ในโรงพิมพ์อยู่เลย ก็มาจับในโรงพิมพ์ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นี่คือครั้งแรก


เพราะฉะนั้น นักการเมืองจะฉวยประโยชน์ตรงนี้ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์ของเขาเอง

ครั้งที่ 2 (พลเอก)สุจินดา คราประยูร รสช. ผมปาฐกถาที่ธรรมศาสตร์ว่า ชี้ให้เห็นว่า 6 เดือน รสช.มันเลวร้ายอย่างไร ผมถือว่าที่เขาทำเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายรัฐธรรมนูญที่ในหลวงทรงลงพระนาม มันหาว่าผมหมิ่น ผมต้องหนีกระเจิดกระเจิง


ครั้งล่าสุด คือ ทักษิณ (ชินวัตร) เล่นผม 3 คดีเลย มีทั้ง ฟ้าเดียวกัน และคราวที่ผมไปพูดที่ขอนแก่น ย่ำค่ำเอาหมายมาจับผม ผมต้องขึ้นไปประกันตัวที่ขอนแก่น ตีสองถึงจะได้ประกันตัว ไม่มีคดีครับ เพราะมันไม่มีเทปที่ผมพูด ตอนนั้นผมต้องขึ้นไปทุกๆ เดือน แล้ว อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) โทรศัพท์ถึงผม บอกว่าเรื่องนี้ผมจะสั่งให้ยุติเลย แต่จากนั้นอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำอะไรเลย

โดยเนื้อแท้ กฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ?

มาตรา 112 ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาท และ/หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปกป้องก็หมายความว่าท่านเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ แต่ที่จริงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาก็ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิเศษอย่างใดเลย

มาขึ้นพิเศษเมื่อเป็นเผด็จการครับ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายนี้ (โทษ) ไม่เกิน 3 ปี มาถึง (จอมพล) สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) เพิ่มเป็น 7 ปี มาถึงปี 19 ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี โทษขั้นต่ำ 3 ปี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนครับ

โทษขั้นต่ำ 3 ปี หมายความว่า ศาลให้รอลงอาญาไม่ได้ โทษต่ำกว่า 2 ปี ศาลถึงให้รอลงอาญาได้ เท่ากับว่าพอโทษ 3 ปีปุ๊บ ศาลให้เข้าคุกอย่างเดียว และโทษมากถึง 15 ปี โอ้โห ! ธานินทร์ ถูกทหารถอดออกไปแล้ว แต่กฎหมายยังอยู่
เพราะกฎหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองที่จะเล่นงานฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นเอง ไม่เป็นประโยชน์ต่อพระเจ้าอยู่หัวนะครับ ไม่เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน เพราะท่านเองทรงรับสั่ง คุณจำได้มั้ย ปีหนึ่งก่อนวันเฉลิมพระชนม์พรรษาวันนึง ท่านรับสั่งเลยว่า ใครฟ้องเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นการรังแกพระองค์ท่าน เป็นการทำให้สถาบันเสื่อมเสีย แล้วทุกคนที่อ้างความจงรักภักดี ไม่เห็นมีใครทำตามท่านเลย


ใช่แต่พระองค์ท่านเท่านั้น สมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี คุณสนั่น (ขจรประศาสน์) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งกับคุณสนั่น คุณสนั่นบอกผมเลยนะครับ คุณสนั่นบอกตำรวจทั้งหมดเลย ไม่ให้จับเรื่องคดีนี้ จากนั้นก็ไม่ได้ผล เพราะอะไร เพราะตำรวจเองมันเป็น"รัฐภายในรัฐ" เมื่อสมัยผมถูกจับ ตำรวจอยู่ฝ่ายทักษิณ ไม่ได้อยู่ฝ่ายรัฐบาล


ประชาธิปไตยเป็นของเล่นของนักการเมืองที่เข้ามาหาประโยชน์ นักการเมืองเหล่านี้ ไม่มีใครมุ่งประสงค์เพื่อความยุติธรรมในสังคม ไม่มีใครมุ่งประสงค์เพื่อศักดิ์ศรีของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ยากแค้น ยากไร้ แล้วมาคุยโม้ว่าจะให้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ ส่งเดชครับ คุณเอาเงินที่ไหนมาให้

ทุกพรรคประกาศว่า ต้องการให้เมืองไทยเป็นประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทุกๆ พรรคประกาศเหมือนกันหมด ผมถามว่า เมืองไทยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ควรจะอยู่ในพระสถานะใด ไม่เห็นพูดเลยครับ การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คุณจะเอาอย่างไร เอาอย่างญี่ปุ่นมั้ย ที่ญี่ปุ่น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างเดียวครับ ทำอะไรไม่ได้เลยในกรณีของญี่ปุ่น เอามั้ย

หรือจะแบบอังกฤษ ที่อังกฤษยังมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อยู่ไม่ใช่น้อย แต่ต้องเสียภาษีให้บ้านเมืองนะครับ แต่พระราชินีเอง พระราชดำรัสต่างๆ นั้น รัฐบาลต้องร่างถวายหมด แม้พระราชดำรัสวันคริสต์มาสที่กระจายเสียงไปทั่วโลก รัฐบาลร่างถวาย เปิดรัฐสภา the Queen's Speech รัฐบาลร่างถวาย เหมือนใส่พระโอษฐ์ถวาย พอท่านเสด็จกลับ มันก็ debate เล่นกันเลย เป็นที่ยอมรับกัน แบบนี้เอามั้ย

แล้วประการสำคัญก็คือว่า พระเจ้าแผ่นดินยังศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ เหนือสามัญมนุษย์รึเปล่า ซึ่งรัชกาลที่ 5 ท่านประกาศเลยนะครับ และผมชนะคดีสุจินดาด้วยเรื่องนี้ รัชกาลที่ 5 ประกาศ เมื่อบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ประกาศว่า ประเพณีในกรุงสยามนั้นมีหลายอย่างเล่อล่าล้าสมัย กดขี่ราษฎร เช่น หมอบคลาน ตั้งแต่นี้ต่อไปให้เลิกหมด ให้ยืนเฝ้า เสมอกันหมด เลิกหมอบคลาน และเป็นมาตลอดตั้งแต่นั้น สมัยราชาธิปไตยเลิกมาตลอด หมอบคลานเป็นวงการภายในเท่านั้นเอง ถ้าเป็นทางราชการไม่ได้ ... เพราะตอนนั้น เราอายฝรั่ง เพราะหมอบคลานมันเป็นสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อน

แล้วเราย้อนกลับมาสู่สภาพเดิมๆ ได้อย่างไร

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจปี 2500 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น พอยึดอำนาจ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ จอมพลสฤษดิ์บอกให้เลิกรัฐธรรมนูญทั้งหมด ความชอบธรรมมีอยู่อย่างเดียว คือรักษาพระมหากษัตริย์กับศาสนา มันสมองคือหลวงวิจิตรวาทการ


เมื่อไทยมีตัวร้ายที่สุด 2 คนที่คนไทยมองไม่เห็น หลวงวิจิตรวาทการคนหนึ่ง (ม.ร.ว.) คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกคนหนึ่ง แล้วคนจะหลงนะครับ อย่าง สี่แผ่นดิน นี่หลงเลย เป็นหนังสือที่ล้างสมองว่าเจ้าวิเศษหมด พวกไพร่นี่โง่เขลา ...

เคยมีความพยายามเสนอแก้กฎหมายมาตรานี้หลายครั้ง รวมถึงการลงนามของบรรดานักคิดนักวิชาการต่างประเทศ อย่าง นอม ชอมสกี และอีกหลายคนเมื่อ 2 ปีก่อน ?

พวกเขาเสนอเข้ามาครับ แต่คุณอภิสิทธิ์ ไม่ทำอะไรเลย สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ทำ คือตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่ง ให้มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีตำรวจ มีอัยการสูงสุด แต่ก็ไม่ทำอะไร คดีผมที่ยุติได้ คือคณะกรรมการชุดนี้เรียกประชุม ในหลวงท่านต้องการแล้ว โอเค เลิก มันเป็นตรากระดาษครับ


ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ ไอ้ Truth on Trial คุณต้องกล้าเผชิญความจริง แต่ไม่มีใครกล้าเผชิญความจริงครับ ถ้าคุณกล้าเผชิญความจริง มันถึงจะแก้ปัญหาได้ ประเด็นที่ผมอยากจะพูดก็คือว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับความจริง และไม่มีใครกล้าเผชิญความจริงครับ

วันก่อน ภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) สัมภาษณ์คุณอานันท์ (ปันยารชุน) ออกรายการทีวี คุณอานันท์ก็น่ารักมาก ตอบแบบการทูตอย่างเดียว คุณอานันท์ ไม่ได้พูดความจริงเลย พูดถึงแก้มาตรา 112 คุณอานันท์ก็ว่าแดงไปหน่อย จากที่ใครฟ้องก็ได้ ก็น่าจะแก้ไม่ให้ใครก็ฟ้องได้ ภิญโญก็ถาม งั้นก็จะให้ราชเลขาฯ เป็นคนฟ้องได้ไหม คุณอานันท์ก็ไม่ตอบ

คือคนที่จะฟ้องได้ ต้องเป็นคนที่มีกึ๋นสิครับ ข้าราชการในระบบ ไม่ควรฟ้อง ผมคิดว่าใครก็ได้ที่มีกึ๋น สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้

เท่ากับว่า ควรมีการกำหนดคณะบุคคลมาทำหน้าที่นี้ ?

คุณเลือกได้เลย คณะกรรมการคุณอานันท์ อาจารย์ประเวศ (วะสี) ยังอยู่ คุณคณิต (ณ นคร) ยังอยู่ คุณเอาคณะกรรมการคุณคณิต ก็ได้ หมอความทั้งนั้นเลย ตั้งเขาเลย รัฐบาลตั้งมาเลยว่า การที่จะฟ้อง ต้องผ่านคณะนี้เลย คุณสมชาย (หอมลออ) ทนายของผมก็อยู่ในคณะนี้ ให้คณะนี้เป็นคนพิจารณาเลยว่าควรฟ้องไม่ควรฟ้อง แต่คนที่มาเป็นกรรมการก็ต้องมีความกล้าหาญ


เมื่อคดีแรกของผม มีคนเขียนเป็นหนังสือ เขาทำงานอยู่ไทยคดีศึกษา เขียนถึงอาจารย์ภาวาส บุนนาค ท่านเป็นรองราชเลขาฯ อาจารย์ภาวาสดีอย่าง ใครเขียนถึงท่าน ท่านกราบบังคมทูลหมดเลย จดหมายฉบับนี้เขียนว่าเรื่องอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ นี้ เป็นที่รู้กันทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศ แต่ไปจนถึงนานาประเทศ ว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต้องการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ ปล่อยคดีนี้ยิ่งยืดเยื้อออกไปเท่าไหร่ เสียสถาบันกษัตริย์เท่านั้น อาจารย์ภาวาสอ่านถวาย ทรงรับสั่งว่า จริงของเขา

อาจารย์ภาวาส ท่านเป็นคนมีกึ๋น ในอีกนัยยะหนึ่ง ในเวลานี้สังคมไทยหาคนมีกึ๋นได้น้อยมาก คนแต่ละคนสนใจแต่ตำแหน่งหน้าที่ สนใจเรื่องเงินเรื่องอำนาจ ไม่สนใจความจริง สัจจะ ไม่มีเลย

มองความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเขียนที่ออกมาในครั้งนี้อย่างไร

ก็ดีครับ ปลุกมโนธรรมสำนึกให้เกิดขึ้น แต่ช่วงนี้ พวกเลือกตั้งมันไม่สนใจ พอเข้ามาแล้วก็ไม่สนใจ เพราะอะไร เพราะ-ชนชั้นปกครอง ไม่ทั้งหมด 99 เปอร์เซนต์ ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม พูดภาษาปากก็คือเป็นคนไม่มีกึ๋น
ด้วยความเคารพครับ คุณอานันท์เองก็ไม่มีกึ๋น คนที่มีกึ๋น คือคนที่กล้าพูดในสิ่งที่เป็นสัจจะ ไม่กล้าพูด หนีประเด็นกันหมดเลย


ดูอย่าง วิกีลีคส์ ที่ออกมาเผยแพร่ คุณอานันท์ คุณสิทธิ (เศวตศิลา) คุณเปรม ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ทูตอเมริกัน (ฟ้าเดียวกัน นำออกเผยแพร่) ทำไมคุณไม่กราบบังคมทูล คุณในฐานะองคมนตรี เพียงพูดกับนายคุณ คุณยังไม่กล้าพูดเลย ไปพูดกับทูตอเมริกัน สิ่งนี้เป็น confidential แต่มันหลุดออกมา ใช้ไม่ได้ครับ มันต้องพูด

เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สิ่งที่มนุษย์ต้องการที่สุดคือ กัลยาณมิตร สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่อำนาจ ไม่ใช่ชื่อเสียง กัลยาณมิตร คือผู้ที่พูดในสิ่งที่เราไม่อยากจะฟัง เขากล้าพูดในสิ่งที่เราไม่อยากจะฟัง นั่นแหละ กัลยาณมิตร หากเราไม่มีกัลยาณมิตรเลย ทุกคนพูดดีหมด เสร็จเลย ไม่มีใครกล้าพูดว่า โครงการของเรา 70 เปอร์เซ็นต์ล้มเหลว

สถาบันต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เงินเสด็จพระราชกุศลไปไหน บัญชีอยู่ที่ไหน อย่าง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องตรวจสอบได้ บอกว่าให้คนยากคนจนอยู่ แต่คนยากคนจนกลับถูกไล่เหมือนหมูเหมือนหมา ให้แต่คนรวยอยู่ จุฬาฯ ก็เอาแบบอย่างมาทำ

หากให้สถาบันเป็นที่พูดถึงได้ ทำอย่างไรไม่ให้ไปไกลถึงขั้นโจมตี

กฎหมายหมิ่นประมาทมีอยู่แล้วครับ อย่างคุณโจมตีผม เล่นงานผม ผมก็ฟ้องได้ ปัญหาอยู่ตรงที่โจมตี มันเป็นเรื่องจริงเสียด้วย


ปัญหาคือต้องทำตัว อย่าให้เขาโจมตีได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสชัดเจนเลย ใครมาโจมตีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าไปโกรธแค้นเขา ฟังที่เขาโจมตี ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าจริงก็แก้ไข ถ้าไม่จริงก็เป็นผิดของมันเอง ไม่ใช่ความผิดของเรา

อีกอย่าง คุณอยู่จุดสูงสุด จะไม่ให้คนโจมตีได้อย่างไร คนก็ต้องโจมตีเบื้องสูง

มีคนถามรัชกาลที่ 7 ว่าไม่กลัวราษฎรจะด่าเหรอ ท่านบอกคนไทยมันด่าพระเจ้าแผ่นดินตลอดเวลา ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็ด่าพระเจ้าแผ่นดิน ทำไมต้องมีพระยาแรกนา เพราะเมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินแรกนาเอง พอปีไหน ข้าวยากหมากแพง เขาก็ด่าเลย ตอนนี้พระยาแรกนาถูกด่าแทน

ในอนาคต มองการดำรงอยู่ของสถาบันคู่กับสังคมไทยอย่างไร

สถาบันจะอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปได้ จักต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาก ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่ได้ ผมยังชมนะครับ ไม่รู้คุณอ่านใน "ฟ้าเดียวกัน" รึเปล่า ฉบับที่แล้วที่มีเทปให้ด้วย เทปที่สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) พูด เขาไม่ใช่คนวิเศษเลยนะ แต่ครั้งนั้นเขาพูดดีมาก ว่าควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หากเปลี่ยนตามที่สมศักดิ์เสนอ อยู่ได้เลย


ผมก็เสนอลง "ฟ้าเดียวกัน" เหมือนกันว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้เป็นของแผ่นดินไปเลย ขึ้นกับกระทรวงการคลัง ในหลวงอย่าไปเกี่ยวข้อง ต้องการให้เขาถวายกี่เปอร์เซนต์บอกมาเลย อันนี้อึมครึมครับ ไม่รู้เป็นของใคร แล้วจิรายุ (อิศรางกูร ณ อยุธยา) ก็มีอำนาจสิทธิขาดเต็มที่ อันตรายมาก

หากเป็นไปได้ อาจารย์มองแนวทางการแก้กฎหมายนี้อย่างไร

เห็นสมควรแก้ แต่ขอให้รอมชอม หนึ่ง-ขอให้ลดความรุนแรงลง เหตุผลคือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สมัยพระเจ้าไกเซอร์ เรืองอำนาจ เป็นกฎหมายที่มีความรุนแรงที่สุดในยุโรป แล้วมีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากที่สุด เหมือนเมืองไทยเวลานี้ เพราะกฎหมายรุนแรง คนถูกฟ้องมาก ปรากฏว่าพระเจ้าไกเซอร์ไปเลย


แล้วที่อังกฤษ มันอยู่ได้ เพราะมันเปลี่ยนกฎหมายให้เบาลงเรื่อยๆ แล้วพอคนด่า เจ้าเปลี่ยนตลอด อย่างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ราชวงศ์อังกฤษยังเป็นราชวงศ์เยอรมัน ชื่อราชวงศ์ฮาโนเวอร์ เปลี่ยนชื่อเป็นราชวงศ์วินเซอร์เลย เพราะต้องฟังเสียงคนส่วนมาก

ควีนองค์ปัจจุบัน หมั่นไส้พระญาติ ไดอานา รถคว่ำตาย แต่ชาวบ้านรักมาก เอาดอกไม้มาวางหน้าวังบัคกิงแฮม ขอให้ลดธงครึ่งเสา ไม่ยอมลด จน โทนี แบลร์ โทรศัพท์ไปเลยบอกว่า จะให้ถือตามกฎเกณฑ์ตลอดไม่ได้หรอก ตอนนี้ชาวบ้านเขาอยู่ฝ่าย ไดอานา ลดธงเท่านั้น ชาวบ้านจะมาจงรักภักดี พอลดธงคราวนี้ชาวบ้านเชียร์เลย เพราะฉะนั้น อย่าไปขืน เมืองไทยนี่ขืนตลอดเวลา เสร็จเลย

เพื่อความอยู่รอดของสถาบัน หนึ่ง-ลดความรุนแรงของโทษลง ให้เลิก minimum 3 ปี ส่วน maximum 3 ปี หรือ 7 ปีพอแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนมากกว่านี้ สอง- คนที่จะฟ้อง ต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง เอาชุดคุณคณิตนี่แหละ มีอยู่แล้ว คราวนี้ ถ้าเขาฟ้องก็ถูกด่า เขาไม่ฟ้องก็ถูกด่า พูดง่ายๆ มีคนถูกด่าแทนนั่นเอง

แต่ระยะยาว สถาบันจะอยู่ได้ คนจะต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นเป็นอย่างไร มีพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ของราษฎร ไม่ใช่มีพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ของพระมหากษัตริย์

เรามีตัวอย่างให้ดูนี่ครับ ที่ญี่ปุ่น ก็ได้ อังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ อีกหลายแห่งเลย ที่สำคัญคือ ทุกแห่งที่อยู่รอดมาได้ คือเลิกความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ทั้งหมด อย่างญี่ปุ่น ตั้งแต่เริ่มตราบจนแพ้สงคราม ไปอ้างว่าต้นราชวงศ์ไม่ได้มาจากพระอาทิตย์ ก็ถูกตัดหัว ไม่จงรักภักดีก็ตัดหัวแล้ว

คุณต้องเห็นคนเป็นคน เห็นทุกคนเสมอกันหมด แล้วทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากับเรา อย่างที่พระพุทธศาสนาบอก วรรณะไม่ได้แปลว่าอะไรเลย ไม่ได้แปลว่าสูงส่ง

ขอขอบคุณ