วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำเตือนก่อนคุณทักษิณไปญี่ปุ่น: ใครฉลาด? ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน?


พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่ามีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี แต่คุณทักษิณเห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่เป็นธรรม จึงปฏิเสธการจับกุมโดยหลีกไปอาศัยอยู่ ณ ต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าคุณทักษิณได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่น และมีการให้สัมภาษณ์ว่าการเดินทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย แม้จะมีรายงานข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ยอมรับว่าได้หารือเรื่องดังกล่าวกับทูตของญี่ปุ่นก็ตาม (http://bit.ly/p91HBp)

ล่าสุด (15 สิงหาคม 2554) สำนักข่าว Kyodo ประเทศญี่ปุ่นรายงานการแถลงข่าวโดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า กงสุลใหญ่แห่งญี่ปุ่น ณ ดูไบ ได้ออกหนังสือตรวจลงตรา (วีซ่า) เพื่ออนุญาตให้คุณทักษิณสามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้เป็นกรณีพิเศษ หลังได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทย (“in response to a request from Thailand” http://bit.ly/qVFL8h)

สำนักข่าว AFP รายงานคำแถลงข่าวของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในทางเดียวกันว่า รัฐบาลไทยได้แจ้งว่าไม่มีนโยบายห้ามคุณทักษิณเดินทางไปประเทศอื่น และขอให้ประเทศญี่ปุ่นออกวีซ่าให้คุณทักษิณ(“The Thai government… takes a policy of not prohibiting former prime minister Thaksin from visiting any country and requested that Japan issue a visa” http://bit.ly/mRPUg2)

หากคำพูดของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นพอเชื่อถือได้ สื่อมวลชนไทยสมควรต้องกลับมาถามรัฐบาลไทยที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่กี่วันว่า ที่มีคนบอกว่ารัฐบาลไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกวีซ่าครั้งนี้นั้น ใครพูดจริง ใครโกหก???

ความจริงหากจะพูดให้ดูดีหน่อย ก็น่าจะบอกว่า กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญา ICCPR ซึ่งทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องเคารพ) ก็รับรองสิทธิเสรีภาพของคุณทักษิณให้สามารถเดินทางได้อย่างเสรีภายในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ หากคุณทักษิณเข้าไปในประเทศนั้นโดยถูกกฎหมาย

อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 82 ก็สื่อความให้รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนข้อนี้ แน่นอนว่าหากคุณทักษิณเดินทางเข้ามาสู่เขตบังคับของกฎหมายไทย ไทยก็ย่อมต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย

ในเมื่อสุดท้ายคุณทักษิณก็ยังคงเป็นมนุษย์ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตัวคุณทักษิณอยู่แต่เดิมก็มิได้หายไปไหน การที่คุณทักษิณได้รับวีซ่าญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อเดินทางไปแสดงความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ หรือแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ จึงมิใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย และก็คงอยู่นอกอำนาจที่รัฐบาลไทยจะไปห้ามญี่ปุ่นได้ ไทยจะไปยุ่มย่ามเรื่องภายในก็จะหาว่าแทรกแซงและผิดกฎบัตรสหประชาชาติ

อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยของประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2009 มาตรา 5-2 ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถออกวีซ่าพิเศษให้กับผู้ที่ต้องโทษจำคุก เช่น คุณทักษิณ ให้เข้าญี่ปุ่นได้ หากเห็นว่าเป็นกรณีสมควร

แต่เมื่อรัฐบาลไทยไม่เคยชินกับการอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน และดันมีคนใจดีไปช่วยขอวีซ่าจนกลายเป็นข่าว จนมีผู้ตั้งประเด็นว่าเป็นการทำให้การจับกุมคุณทักษิณลำบากขึ้นและผิดกฎหมายนั้น เป็นการฉลาดหรือไม่ ก็น่าคิดอยู่!

ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน?

เกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อคุณทักษิณมีความผิดตามกฎหมายไทย ถูกศาลฎีกาไทยพิพากษาจำคุก 2 ปี แล้วหากคุณทักษิณเดินไปญี่ปุ่น ไทยจะขอให้ญี่ปุ่นส่งตัวคุณทักษิณกลับมารับโทษในประเทศไทยในลักษณะการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่?

ตอบว่าไทยขอได้ แต่ญี่ปุ่นจะส่งตัวคุณทักษิณมาหรือไม่ เป็นไปได้ยาก หากตอบโดยไม่ต้องนึกถึงข้อกฎหมายใดๆ การที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้คุณทักษิณเข้าเมืองมากล่าวสุนทรพจน์และเยี่ยมผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ แล้วค่อยเข้าจับกุมส่งตัวนั้น คงจะดูแปลกอยู่

และหากพิจารณาในข้อกฎหมาย ก็จะพบอุปสรรคหลายด่าน ดังนี้

ด่านที่ 1: ไทยและญี่ปุ่นยังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

จริงอยู่ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2552 ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามสนธิสัญญาอีกฉบับ คือสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ซึ่งอาจมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ความจริงสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีที่ไทยจับคนญี่ปุ่นที่ทำผิดกฎหมายไทย แล้วอาจส่งตัวคนญี่ปุ่นนั้นกลับไปจำคุกที่ญี่ปุ่นตามโทษกฎหมายไทย ในทางเดียวกัน ญี่ปุ่นก็อาจส่งตัวคนไทยที่ทำผิดกฎหมายญี่ปุ่นกลับมาจำคุกที่ไทย

แต่กรณีคดีของคุณทักษิณนั้น เป็นกรณีที่คนไทยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายไทย จึงไม่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาดังกล่าว (นอกจากคุณทักษิณเข้าญี่ปุ่นแล้วดันทะลึ่งทำผิดกฎหมายบ้านเขาแล้วถูกจำคุก ไทยก็อาจขอให้ส่งตัวมาได้)

ด่านที่ 2: ไม่มีสนธิสัญญาก็ส่งได้ แต่ส่งยาก

การที่ไทยและญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ไม่ได้แปลว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะทำไม่ได้ เพียงแต่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องอาศัยกฎหมายภายในประเทศและ “วิถีทางการทูต” (diplomatic channel)” ซึ่งอาศัยดุลพินิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญ

ด่านที่ 3: กฎหมายไทยให้อำนาจนักการเมือง ไม่ใช่อัยการ

พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 30 ให้อัยการสูงสุดของไทยมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะร้องขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แต่กระนั้น กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้ “คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นอย่างอื่น” ได้ กล่าวคือหากอัยการสูงสุดต้องการขอ แต่คณะรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ขอ สุดท้ายก็ขอไม่ได้

ด่านที่ 4: กฎหมายญี่ปุ่นไม่ให้ส่งฟรีๆ

แม้หากสุดท้ายคณะรัฐมนตรีไทยไม่ขัดข้อง ก็มิได้แปลว่าไทยขอแล้วญี่ปุ่นจะให้ทันที แต่กฎหมายภายในของประเทศญี่ปุ่น คือ กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2004 กำหนดว่า นอกจากฝ่ายไทยต้องส่งคำขอพร้อมเอกสารรายละเอียดที่เข้าเงื่อนไขต่างๆแล้ว มาตรา 3 ยังบังคับว่า ไทยต้องให้คำมั่นว่าจะส่งตัวผู้ร้ายจากไทยไปที่ญี่ปุ่นในลักษณะต่างตอบแทนอีกด้วย (reciprocity) กล่าวโดยง่ายก็คือ หากไทยไม่มีผู้ร้ายไปสัญญาแลก ญี่ปุ่นก็ไม่ส่งให้

ด่านที่ 5: รัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องพอใจ

ไทยต้องเอาผู้ร้ายไปสัญญาแลกเท่านั้นไม่พอ กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของญี่ปุ่น มาตรา 4 ยังกำหนดว่า ในกรณีที่ไทยและญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นมีดุลพินิจพิจารณาอย่างกว้างขวางว่า “หากเป็นการไม่เหมาะสม” (deemed to be inappropriate) ญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องทำตามคำขอของไทย ซึ่งอะไรจะเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็คงสุดแท้แต่ที่ท่านรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะคิด

ด่านที่ 6: กฎหมายญี่ปุ่นระบุข้อห้ามไม่ให้ส่งตัว

แม้ท่านรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นการเหมาะสมที่จะส่งคุณทักษิณกลับมาประเทศไทย ก็มิใช่ว่าจะส่งได้ แต่ต้องผ่านด่านกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของญี่ปุ่น มาตรา 2 ซึ่งกำหนดข้อห้ามไม่ให้ส่งตัวคุณทักษิณไว้อีกหลายกรณี หากเข้ากรณีใดกรณีหนึ่ง ก็ส่งไม่ได้ อาทิ

- ห้ามส่งตัวหากเห็นว่าความผิดของคุณทักษิณเป็นความผิดทางการเมือง (political offense) หรือการขอให้ส่งตัวคุณทักษิณเป็นการพยายามนำตัวคุณทักษิณมาลงโทษทางการเมือง

(เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า คดีความทั้งหมดที่มุ่งเล่นงานคุณทักษิณตั้งแต่กระบวนการรัฐประหารโค่นอำนาจทางการเมือง ฯลฯ แต่คุณทักษิณก็ต้องไม่ลืมว่าคดีที่ศาลฎีกาตัดสินนั้นเป็นเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับการประมูลที่ดิน ญี่ปุ่นอาจไม่มองว่าเป็นเรื่องการเมือง)

- ห้ามส่งตัวหากความผิดคุณทักษิณตามกฎหมายไทยเป็นความผิดที่มีโทษเบา กล่าวคือกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดว่า หากโทษความผิดคุณทักษิณเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ก็ห้ามส่งตัว

(เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า คุณทักษิณถูกศาลไทยพิพากษาจำคุกเพียง 2 ปี จึงเป็นกรณีโทษเบาที่ไม่ให้ส่งตัว แต่อย่าลืมว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ศาลไทยใช้ลงโทษคุณทักษิณนั้น มาตรา 122 ได้บัญญัติให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ว่าญี่ปุ่นจะตีความกฎหมายอย่างไร)

- ห้ามส่งตัวหากความผิดของคุณทักษิณตามกฎหมายไทยเป็นความผิดที่ไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษตามกฎหมายของญี่ปุ่นได้ (double criminality)

(เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า ความผิดเรื่องการทุจริตที่เกิดจากการประมูลที่ดินโดยภรรยานายกรัฐมนตรีนั้น แม้กฎหมายไทยจะมองว่าผิด แต่กฎหมายญี่ปุ่นอาจไม่ถือว่าเป็นความผิด ก็ห้ามส่งตัว)

หากจะบอกว่าคุณทักษิณมั่นใจในข้อกฎหมายว่าไม่ถูกส่งตัวกลับไทย ก็พอเข้าใจอยู่ แต่ที่น้องคุณทักษิณต้องมานั่งตอบคำถามว่า ทำไมถึงไม่ขอส่งตัว หรือทำไมขอแล้วส่งมาไม่ได้ ก็อาจเข้าใจยากหน่อย

หรือกล่าวอีกทางหนึ่ง สุดท้ายใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ข้อนี้ตอบง่าย แต่งานนี้ใครฉลาดหรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก!



เจ้าของบทความ

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

นักกฎหมายระหว่างประเทศ นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ที่มา facebook.com/verapat.pariyawong

ไม่มีความคิดเห็น: