วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"มาร์ค" แถช่วยสุเทพ "ประชุมลับ = คุยนอกรอบ" , ดร.สุนัยถามขย่มต่อ!


ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี องค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามเจรจาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลกับทางกัมพูชา ว่า ทุกอย่างมีความชัดเจนว่า ในตอนเริ่มต้นรัฐบาลนั้น ได้มอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการ และนายสุเทพ ก็คงชี้แจงไปแล้ว เท่าที่ตนทราบการเจรจาที่ว่า เป็นการขอคุยนอกรอบเพื่อทำกรอบเจรจา เพราะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาฯ และในที่สุดเมื่อมีการแขวนบันทึกความเข้าใจร่วมไทย - กัมพูชา (เอ็มโอยู) ก็ยุติกันไป ไม่ได้มีเรื่องอะไรซับซ้อนเลย ทั้งนี้ คงต้องใช้สามัญสำนึกดีกว่า ว่าถ้ารัฐบาลไปเอื้อผลประโยชน์กับกัมพูชาจริง กัมพูชาก็น่าจะพอใจ แต่ที่กัมพูชาพยายามดิสเครดิตรัฐบาลที่แล้วนั้น เป็นเพราะรัฐบาลชุดก่อนไม่เคยตามใจกัมพูชา เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ส่วนแถลงการณ์ที่ออกมาจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เรียนไปตามข้อเท็จจริง และขอย้ำว่า ถ้ามีความพยายามทำอะไรเพื่อเสียผลประโยชน์จริง กัมพูชาคงชอบใจ เมื่อถามถึงกรณีที่ กัมพูชาระบุถึงความโปร่งใสในช่วงที่ได้มีการเจรจากับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพร้อมจะเดินหน้าเจรจาต่อในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ถึงบอกให้ไปคิด ว่าถ้ากัมพูชาพึ่งพอใจ ต้องไปดูว่ารัฐบาลไหนกำลังจะไปเอื้อ จะไปดูวิกิลิกส์ ก็ได้ครับ"


วันที่31ส.ค. ที่รัฐสภา นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่องค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ออกแถลงการณ์ ระบุว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหมไปเจรจาลับที่ประเทศฮ่องกง และคุณหมิง ประเทศจีน เรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 52, วันที่ 1 ส.ค. 52 และวันที่ 16 ก.ค. 53 นั้น ตนขอตั้งคำถาม 5 ข้อ คือ


1.ทำไมถึงไม่มีการเจรจาแบบเปิดเผยที่ประเทศกัมพูชา


2.ทำไมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานคณะกรรมการการเจรจา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้


3.ทำไม พล.อ.ประวิตร ถึงไปร่วมเจรจาด้วยและไปร่วมด้วยแค่ไหน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทางการทหารและสงคราม

4.การฉีกเอ็มโอยู่ปี 44 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยอ้างเหตุผลว่าทางกัมพูชา โดยสมเด็จฮุนเซ็น ตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษา แต่การฉีกเอ็มโอยูดังกล่าวทำหลังจากการเจรจาลับ ซึ่งเป็นการเจรจาแล้วตกลงกันเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัวใช่หรือไม่


5. เนื้อหาในเอ็มโอยูที่ถูกฉีก ไม่ได้การเป็นดำเนินการในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่เป็นการเจรจาต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งระบุในเอ็มโอยูว่า เป็นผลการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมที่ชะอำ ในวันที่ 5ต.ค.2543 ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลชี้แจงตอบคำถามทั้ง 5 ข้อ เพื่อให้ความสามัคคีปรองดองเกิดขึ้น เพราะเราถูกใส่ร้ายมาตลอด 5 ปี





ขอขอบคุณ

http://www.ryt9.com/s/nnd/1225893?utm_source=twitterfeed&utm_medium=twitter

และ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314785776&grpid=03&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น: