วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เอแบคโพลเผย ปชช.อยากให้"ทักษิณ"นิ่ง ปล่อย"ยิ่งลักษณ์" ทำงาน


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความหวังต่อความปรองดองของคนในชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,193 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า


ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52.7 ไม่ไว้วางใจ และเกรงว่าจะมีเหตุวุ่นวายขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นอีกจากกระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ 47.3 ไว้วางใจได้ว่า ไม่มีความวุ่นวายรุนแรงอะไรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 53.3 ไม่เห็นด้วย โดยร้อยละ 12.0 ไม่เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาคัดค้าน และร้อยละ 41.3 ไม่เห็นด้วยแต่จะไม่ชักชวนคนอื่นออกมาคัดค้าน ในขณะที่ร้อยละ 46.7 เห็นด้วยโดยร้อยละ 11.0 เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาเรียกร้องให้แก้ไข และร้อยละ 35.7 เห็นด้วยแต่จะไม่ชักชวนคนอื่นออกมาเรียกร้องอะไร


ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนต้องทำทันทีหรือเป็นเรื่องที่รอได้ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.9 ระบุเป็นเรื่องที่รอได้ ไม่จำเป็นต้องทำทันทีตอนนี้ ในขณะที่ร้อยละ 23.1 ระบุเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องทำทันที


ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามความคิดเห็นต่อการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 พบว่า ก้ำกึ่งกัน คือ ร้อยละ 50.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 49.2 เห็นด้วย โดย ร้อยละ 10.8 ไม่เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาคัดค้าน และร้อยละ 40.0 ไม่เห็นด้วยแต่จะไม่ชักชวนคนอื่นออกมาคัดค้าน ในขณะที่ร้อยละ 11.5 เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาเรียกร้องให้แก้ไข และร้อยละ 37.7 เห็นด้วยแต่จะไม่ชักชวนคนอื่นออกมาเรียกร้องอะไร


นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.1 เห็นว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความพยายามทำเพื่อผลประโยชน์ของคนบางคน บางกลุ่ม ในขณะที่ร้อยละ 44.9 เห็นว่า ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม


ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวสารการเมืองที่ได้รับในเวลานี้ พบว่าร้อยละ 40.9 ระบุรัฐบาลกำลังมุ่งช่วยเหลือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรมากเกินไป ร้อยละ 24.9 ระบุรัฐบาลกำลังมุ่งช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ร้อยละ 19.7 ระบุรัฐบาลกำลังมุ่งมั่นทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง และร้อยละ 14.5 ระบุรัฐบาลกำลังทำให้ประชาชนผิดหวังไปจากช่วงหาเสียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง


ที่ชัดเจนคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.8 ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจของประชาชนมากกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เพียงร้อยละ 2.1 ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า และร้อยละ 18.1 ให้เร่งทำควบคู่กันไป


ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการวางบทบาทของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในเวลานี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 ระบุ ควรนิ่ง ปล่อยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจด้วยตนเอง ในขณะที่ ร้อยละ 20.5 ระบุควรแสดงบทบาทช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน งดให้ข่าวเกี่ยวกับการเมือง และร้อยละ 10.6 ระบุแล้วแต่ดุลพินิจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร คือ อยากทำอะไรก็ทำไปเต็มที่


แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 51.3 ไม่มีความหวังต่อความปรองดอง เยียวยาความแตกแยกของคนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 48.7 มีความหวัง นอกจากนี้ ร้อยละ 50.9 ระบุได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้วกับการรับสถานการณ์ความแตกแยกที่จะเกิดขึ้นอีก ในขณะที่ร้อยละ 49.1 ยังไม่ได้เตรียมอะไร


ดร.นพดล กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่สูตรคำนวณค่าความแตกแยกของคนในชาติ เพราะตัวเลขของผู้เห็นด้วยไม่เห็นด้วยมากพอๆ กัน และตัวเลขที่จะชักชวนคนอื่นๆ เป็นพรรคพวกของฝ่ายตนก็สูสีกัน และแต่ละฝ่ายก็มีจำนวนมากพอจะแสดงตนออกมาให้ปรากฎในที่สาธารณะได้


“จึงแนะให้ผู้ที่ขึ้นสู่อำนาจเป็นผู้นำประเทศ อ่านหนังสือ Arena of Power จะทำให้ทราบว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำในช่วงที่ได้เป็นผู้นำประเทศใหม่ๆ หนังสือเล่มดังกล่าวแนะว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเป็นภารกิจแรกๆ เพื่อนำไปสู่การจัดสรรกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะช่วงแรกๆ ของการเป็นรัฐบาลมักจะได้รับเสียงสนับสนุนเป็นเสียงข้างมากในสภา การผ่านกฎหมายต่างๆ น่าจะเป็นไปได้โดยง่าย ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่กำลังมีทางเลือกสามทางคือ 1) แก้ไขกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการระดมทรัพยากรช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเรื่องปัญหาปากท้องและอื่นๆ เช่น ภัยพิบัติ ความเป็นธรรมทางสังคมไม่เลือกปฏิบัติ ให้กับประชาชนทุกคน และการจัดสรรที่ดินทำกิน เป็นต้น 2) แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเริ่มในเร็ววันนี้ และแนวทางที่ 3) คือทำควบคู่กันไป แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล” ดร.นพดล กล่าว


ดร.นพดล กล่าวต่อว่า สำหรับสังคมไทยถ้าคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจไม่เป็นไปตามทฤษฎีของโลกตะวันตกได้ คือไม่ง่ายและห่วงว่าจะวุ่นวายเกินกว่าจะยับยั้งได้ เพราะการเมืองภาคประชาชนของคนไทยยังคงร้อนแรงและกำลังเข้มข้นระหว่างสองขั้วสองฝ่าย ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างรวดเร็วและอาจสร้างปัญหาทำให้ประเทศชาติโดยรวมเกิดอาการแกว่งตัวระส่ำระสายได้เพราะพรรคเพื่อไทยอาจจะเก่งเรื่องการบริหารจัดการปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้านส่วนใหญ่ระดับรากฐานของสังคม แต่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะเก่งกว่าเรื่องยุทธศาสตร์ทางการเมือง จึงต้องขอให้รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ใช้ดุลพินิจด้วยตนเอง ปลด “อคติแห่งนครา” จากแรงกดดันทั้งปวงเสีย และมุ่งมั่นทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนทุกคนทั้งผู้ที่เลือกและไม่เลือกรัฐบาล


ผ.อ.เอแบคโพลล์ กล่าวสรุปว่า ขอให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ฟังเสียงประชาชนและ“นิ่ง” ปล่อยให้น้องสาวของท่านแสดงความสามารถบริหารจัดการปัญหาบ้านเมืองด้วยตนเอง หากประสบความสำเร็จความผาสุกก็จะเกิดขึ้นเป็นส่วนรวม อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็จะได้รับความชื่นชอบไปด้วย และแม้ผิดพลาดบ้าง ประชาชนส่วนใหญ่ก็คงจะเข้าใจพอให้อภัยได้ แต่ความแตกแยกของคนในชาติอาจส่งผลให้โอกาสที่พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาสู่อำนาจ กลายเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นไปจากอดีตได้ หรือว่า กำลังมีบ่างช่างยุต้องการให้บ้านเมืองปั่นป่วนโดยอาศัย “จุดอ่อนเชิงบุคลิกภาพ” และมือของตัวละครทางการเมืองสำคัญเพียงไม่กี่ตัว และอาศัยอคติที่คนในสังคมไทยวาดไว้ให้ตัวละครเหล่านั้นแล้วมาทำลายแผนปรองดองของคนในชาติ ทางออกคือ คนไทยทั้งประเทศควรรู้ให้เท่าทันจะได้ประคองตนอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ และตัวละครทางการเมืองควรออกมาประกาศจุดยืนของตนเองให้ชัดเจนต่อสาธารณชน

ไม่มีความคิดเห็น: