เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ วาระการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเปิดตัวเว็บไซต์ Thailawwatch เว็บไซต์ระบบติดตามร่างกฎหมายไทย
จอน อึ๊งภากรณ์กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน วาระการปฏิรูปกฎหมายไม่ต่างกัน และเราต้องยอมรับความจริงว่ากระบวนการยุติํธรรมของประเทศไทยมีปัญหามากในแง่การให้ความเป็นธรรมในสังคม
เขากล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยเน้นการเอาคนจนเข้าคุก ทั้งที่คนรวยก็ทำผิดไม่ต่างกัน แต่คนรวยมีการคุ้มครองมากกว่า แต่ยากมากที่คนรวยจะติดคุกได้ และมันยากที่จะพูดเรื่องความยุติธรรม เช่น ตอนนี้ในคุกมีคนกว่าสองแสนคน มากกว่าครึ่งเป็นคนเสพยาซึ่งไม่ควรอยู่ในคุก นอกจากนี้ การลงโทษก็ไม่สมดุล เช่น คนข่มขืนติดคุกหนึ่งปี แต่เผาศาลากลางติดคุก 33 ปี เราต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สังเกตได้ว่าใครขึ้นมามีอำนาจคดีความของฝ่ายนั้นก็จะได้ผ่อนผันหรือมีโทษเบา
จอนเห็นว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่ค่อยเข้าใจประเด็นทางสังคมเท่าไร
"ผมเป็นคนหนึ่งที่เชียร์ให้มีระบบลูกขุน แต่ก็ถูกเถียงตลอดว่าลูกขุนจะถูกซื้อ แต่ในความเห็นผม ระบบลูกขุนจะช่วยถ่วงดุลกระบวนการยุติธรรม หลายเรื่องลูกขุนจะเข้าใจมากกว่าผู้พิพากษา"
จอนกล่าวว่า กฎหมายไทยเน้นการเอาคนเข้าคุก สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือการลดการลงโทษประชาชนในเรื่องต่างๆ หลายชั้น ลดบทบาทของกฎหมายในฐานะเครื่องมือผู้มีอำนาจและให้อำนาจแบบไม่จำกัดต่อเจ้าหน้าที่ ขณะที่สิ่งที่ต้องเพิ่มคือการให้ความสำคัญของกฎหมายในฐานะทีเป็นเครื่องมือของผู้ไร้อำนาจ เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิ ส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมสวัสดิการประชาชนหรือรัฐสวัสดิการ และส่งเสริมอำนาจประชาชนในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ
"เราต้องการกฎหมายที่เขียนง่าย เข้าใจง่าย ที่คนทั่วไปอ่านรู้เรื่อง กฎหมายหนึ่งฉบับควรต้องมีเหมือนบทสรุปสำหรับผู้บริหารเป็นภาษาชาวบ้านกำกับไปด้วย และเวลาประชาพิจารณ์ ต้องคุยกันในเรื่องหลักการ ไม่ใช่เรื่องภาษา"
จอนยังวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า แทนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะทำงานเป็นช่างเทคนิคที่ช่วยเขียนกฎหมายให้รัดกุม แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ทำงานแบบนั้น แต่ทำหน้าที่เกินกว่าช่างเทคนิค และคิดว่าตัวเองรู้เรื่องทุกอย่าง ไม่สามารถมีจินตนาการคิดนอกกรอบของตัวเองได้ เคยเขียนกฎหมายแบบใดก็เขียนอย่างนั้น ทุกฉบับจะเหมือนกัน เริ่มที่อารัมภบท ตามด้วยคณะกรรมการ ตามด้วยกองทุน ตามด้วยอำนาจที่ให้ผู้มีอำนาจ ฯลฯ สังเกตได้ว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเจอกฎหมายจากภาคประชาชนก็จะสะดุดทันที เขาจะบอกว่าผิดหลักการหมดเลย ใช้ไม่ได้ ดังเช่นที่เคยเกิดกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน และ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ
จอนเสนอแนะลักษณะกฎหมายที่ดีในยุคสมัยนี้ว่า ประการที่หนึ่ง หากเป็นกฎหมายที่เริ่มจากภาคประชาชนยิ่งดี ประการที่สอง ควรต้องเป็นกฎหมายที่เสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไม่ใช่กฎหมายที่เสริมอำนาจเจ้าหน้าที่ ประการที่สาม กฎหมายเหล่านี้ควรต้องมีการประชาพิจารณ์อย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกเป็นเรื่องการตกลงในหลักการในประเด็นสาระสำคัญของกฎหมาย ครั้งที่สองคือเมื่อร่างเสร็จแล้วกำลังจะนำเข้ารัฐสภา และการประชาพิจารณ์ควรเป็นกระบวนการที่ประชาชนรับรู้ ไม่ใช่งุบงิบ
จอนกล่าวถึงกฎหมาย ที่ประเทศไทยต้องการ และไม่ต้องการว่า "กฎหมายที่ให้อำนาจเกินขอบเขตแก่เจ้าหน้าที่ เป็นกฎหมายที่ต้องลบทิ้ง" เขาเสริมว่า ประเทศไทยควรยกเลิกกฎอัยการศึก แต่เรื่องนี้มีข้อถกเถียงว่านักกฎหมายบางส่วนเห็นว่าต้องเก็บไว้เผื่อเกิดสงคราม แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามในยุคปัจจุบันมันยาก และหากมีจริงมันจะเป็นประเด็นเกินกว่าประเทศไทย แต่เป็นประเด็นในระดับสากล
นอกจากนี้ จอนยังเสนอด้วยว่า ควรยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้โดยเชื่อว่ากลไกกฎหมายปัจจุบันสามารถดูแลครอบคลุมได้ อีกทั้งประสบการณ์การใช้กฎหมายทั้งสามฉบับที่ผ่านมาบอกได้ว่าไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย
กฎหมายที่ประเทศไทยไม่ต้องการ ยังรวมถึงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นกฎหมายที่กระทบต่อการเดินขบวนสาธารณะ และมีกฎหมายที่ควรแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ต้องยกเลิกมาตราต่างๆ ที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ
"ผมไม่ได้เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ผมคิดว่าสถาบันมีสิทธิได้รับการคุ้มครองในการถูกใส่ร้าย แต่ต้องปรับปรุง ไม่ใช่พูดอะไรไม่ได้ "
จอนกล่าวว่า เรามีกฎหมายหมิ่นสถาบันที่ร้ายแรงที่สุดในโลก แต่ผมกลับเห็นว่า กฎหมายนั้นเองเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสถาบัน เขายกตัวอย่างประเทศอังกฤษซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้ แต่กลับพบว่าสถาบันยิ่งเข้มแข็ง ไม่สั่นคลอน ประชาชนเคารพรักและอยากให้มีสถาบัน
"ในประเทศประชาธิปไตย คนเรามีสิทธิพูดในสิ่งที่คิด สังคมไหนบังคับไม่ให้คิด เป็นสังคมที่โหดร้าย แต่ละสังคมก็ต่างมีเรื่องไม่ให้พูดไม่ให้คิด แต่มันเป็นสังคมที่กดดันและอึดอัด"
จอนกล่าวถึงกฎหมายที่มีความสำคัญ เช่น กลุ่มกฎหมายด้านฐานทรัพยากร กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ กฎหมายเกี่ยวกับระบบทุนการศึกษาถ้วนหน้า
เขายกตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการว่า ภาคประชาชนได้เสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญชราภาพ เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าคนทุกคนเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์จะได้รับบำนาญตามเส้นความยากจน แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะพูดเรื่องการออม โดนส่วนตัวเขาไม่เห็นค้านแต่ควรเริ่มต้นที่ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับบำนาญ ดำรงชีพได้เสียก่อน แล้วค่อยเพิ่มเรื่องการออมเข้ามา และแม้พรรคเพื่อไทยจะขยายเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ แต่กลไกบำนาญจะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายบำนาญชราภาพเสนอโดยการระดมชื่อของประชาชน ซึ่งได้รายชื่อมากกว่าสามหมื่นชื่อ แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรอง แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่เซ็นลงนามให้ เขาเห็นว่า เงื่อนไขนี้ทำให้วัตถุประสงค์ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่เป็นจริง
“ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมและเป็นการลิดรอนอำนาจประชาชน” เขากล่าวถึงกลไกการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ต้องรอนายกรัฐมนตรีลงนาม
สำหรับเรื่องการศึกษา จอนเสนอว่าต้องมีระบบทุนการศึกษาถ้วนหน้า แต่ทุนการศึกษาปัจจุบันไม่ทั่วถึงและไม่ถ้วนหน้า กล่าวคือ หากจะแก้ปัญหาความยากจน ต้องเปิดโอกาสการศึกษาถ้วนหน้า และลูกของคนยากคนจนต้องได้รับเงินชดเชยด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้บุตรคนยากจนได้เรียนแทนที่จะไปทำงานช่วยพ่อแม่
จอนกล่าวประเด็นสุดท้าย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้หลายคนจะเห็นว่าจะเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโชน์บางกลุ่ม แต่นั่นเป็นกระบวนการที่ภาคประชาชนต้องตรวจสอบอยู่แล้ว เจตนารมณ์ของการแก้คือแก้เพื่อประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลผลิตจากรัฐประหารเผด็จการ ไม่สามารถถือเป็นประชาธิปไตยได้ สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการในการร่างรธน.ใหม่นั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โครงสร้างจะเป็นอย่างไร ใครจะได้รับเลือกเข้าไปร่างรธน.ใหม่ คนเหล่านั้นคงไม่ใช่คนที่ร่างตามความเห็นของตัวเองแต่ร่างโดยฟังความเห็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อไป
ที่มา : http://thailawwatch.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น