วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สทศ.ทำสมุดปกขาว"วิกฤติการศึกษา"

สทศ.เตรียมแจกสมุดปกขาว 5 หมื่นเล่มแฉวิกฤติการศึกษาไทย ตอกย้ำด้วยข้อมูลอ้างอิงทั้งในและนอกประเทศ ชี้ชัดไม่ขยับเขยื้อนพัฒนาได้ไกล เกาะแน่นอยู่ที่อันดับรั้งท้ายตลอด แนะเลิกทีระบบสอนเหมือนกันหมดทุก รร. ต้องหา "ผู้รู้" มาทำหลักสูตร จัดรถโมบายส่งครูคุณภาพวิ่งสอน รร.ขนาดเล็ก
     นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทศ.ได้จัดทำต้นฉบับสมุดปกขาวเรื่อง "วิกฤติการศึกษาไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว " อยู่ระหว่างการพิมพ์เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนประมาณ 50,000 เล่ม ทั้งนี้สำหรับเป้าหมายการจัดทำเรื่องดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมา สนใจเรื่องการศึกษา และร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติการศึกษาของชาติเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลทั้งหมดที่สื่อ ว่าการศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤตินั้น สทศ.ไม่ได้พิจารณาแต่ข้อมูลผลการทดสอบ ต่างๆ ที่อยู่ในมือเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลอ้างอิงเรื่องคุณภาพการศึกษาของนักเรียนไทยจากหน่วยงานทั้งใน ประเทศและต่างประเทศด้วย อาทิ การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันภาพรวมของ 58 ประเทศ โดยสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาด้านการจัดการ (IMD) ซึ่งปี 2551 ไทยอยู่อันดับที่ 27 ปี 2552 อยู่อันดับที่ 26 และปี 2553 อยู่อันดับเดิม ซึ่งยังตามหลังสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย และเมื่อมองในมุมของการพัฒนาการแล้วพบว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีการขยับอันดับขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยอินโดนีเซียขยับจากอันดับที่ 42 ในปี 2552 เป็นอันดับที่ 35 ในปี 2553 ดังนั้นหากไทยยังเดินย่ำอยู่กับที่แบบนี้ อีกไม่กี่ปีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อาจแซงหน้าไทย

     นอกจากนี้โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2550 (TIMSS) ยังประเมินพบว่า ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของไทยมีคะแนนเฉลี่ย 441 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ย 471 คะแนน โดยทั้งสองวิชาคะแนนต่ำกว่ามัธยฐาน นานาชาติซึ่งอยู่ที่ 500 คะแนน อีกทั้งยังมีคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่ามาเลเซีย จีน-ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน-ไทเปด้วย ส่วน World Banks ได้จัดอันดับประเทศที่มีสถาบันอุดมศึกษาติดระดับนานาชาติ โดยไทยถูก จัดอยู่อันดับที่ 32 จาก 58 ประเทศ รองจากญี่ปุ่นซึ่งอยู่อันดับ 13 ฮ่องกงอันดับ 15 ไต้หวันอันดับ 19 สิงคโปร์อันดับ 26 และจีนอันดับ 31 ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาคุณภาพการศึกษาจากการประเมินของหน่วยงานในประเทศ เช่น การสอบ O-NET ของ สทศ.คะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศในทุกระดับชั้นต่ำกว่า 50% ทุกวิชาทุกปี ส่วนคะแนน GAT-PAT จากการสอบ 5 ครั้ง แต่ละครั้งทุกวิชามีคะแนนไม่ถึง 50% ของคะแนนเต็ม เป็นต้น

     รักษาการ ผอ.สทศ.กล่าวว่า การแก้วิกฤติการศึกษาในครั้งนี้ ต้องเริ่มจากที่ทุกฝ่ายยอมรับความจริงแล้วร่วมกันหาทางออก เพราะหากไม่เริ่ม ตั้งแต่วันนี้ทางออกของการศึกษาไทยก็จะเป็นทางตันอยู่วันยังค่ำ ซึ่ง สทศ.ขอเสนอแนะทางออกที่ต้องช่วยกัน อาทิ ควรยกเลิกให้ทุก รร.สอนเหมือนกันทุกชั้น หาผู้รู้จริงมาทำหลักสูตร แก้ปัญหา รร.ขนาดเล็กโดยใช้รถเคลื่อนที่วิ่งตามหมู่บ้าน มีครูเก่งไปสอน จัดตารางเรียนใหม่ รร.ขยายโอกาสโดยเฉพาะ ม.1-ม.3 ต้องหาครูมัธยมมาสอน นอกจากนี้การคัดเลือกครูควรรับผู้จบปริญญาตรีในทุกสาขามาสัมภาษณ์ถึงความ อยากเป็นครู แล้วเติมเต็มวิชาครุศึกษา 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง จากนั้นทดลองงานถ้าพอใจทั้ง 2 ฝ่ายก็รับเป็นครู ส่วนเรื่องงบประมาณทางสำนักงบควรโอนเงินให้ รร.โดยตรง เพื่อ รร.จะได้มีงบบริหารทันเวลาไม่ต้องผ่านเขตพื้นที่ 

     "ที่ผ่านมา สทศ.พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ นำผลการสอบไปใช้พัฒนาการเรียนการสอน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นในเมื่อสิ่งที่ สทศ.ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทย สทศ.ก็มีข้อเสนอว่าควรยุบ สทศ.ทิ้ง" ผอ.สทศ.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: