วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อ.ธรรมศาสตร์ตีแสกหน้า "นักกฏหมายหายหัวไปใหนหมด"

กระแสข่าวคลิปฉาวที่เกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญถูกปล่อยออกมา 2 ระลอกต่อเนื่องกัน คลิปแรกนั้นพุ่งประเด็นไปที่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และคลิประลอกที่สอง เป็นประเด็นที่อ้างว่าเกี่ยวพันกับการทุจริตสอบเข้ารับราชการในศาลรัฐธรรมนูญ

อาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หากพิจารณาตาม หลักกฎหมาย ตามหลักของนิติรัฐ หลักที่บอกประชาชนว่ารัฐจะทำอะไรได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ถ้าอ้างกฎหมายตัวไหนมาใช้ไม่ได้เลย นั่นคือกำลังทำโดยไม่มีอำนาจ เรื่องการเผยแพร่คลิปหากในที่สุดแล้ว ศาล หรือผู้พิพากษา หรือใครต่อใครที่เกี่ยวข้องคิดว่า การเผยแพร่คลิปนั้นกระทบต่อสิทธิของท่าน ท่านก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ทำคลิป ผู้เผยแพร่คลิปได้ เมื่อคิดว่าเป็นความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด

แต่แน่นอนต้องได้รับการพิสูจน์กันในชั้นศาล แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคลิปเอง ก็จำเป็นต้องทำความจริงให้กระจ่าง ชี้แจงกับประชาชนเช่นกัน ว่าจริงไม่จริงอย่างไร ไม่ใช่พยายามออกมาบิดเบือน หรือเบี่ยงประเด็นว่า เป็นคลิปเท็จ คลิปปลอม ดิสเครดิต สร้างความเสื่อมเสียต่อศาล ฯลฯ เพราะคำถามจากประชาชน ก็คือ แล้วคลิปปลอมอย่างไร ? หรือคลิปเป็นความเท็จอย่างไร ? ต้องพิสูจน์

"ศาลจะเสื่อมเสียหรือไม่ ไม่ใช่เพราะมีคนเอาคลิปที่มีพฤติกรรมที่น่าเสื่อมเสียของคนในองค์กรออกมาประกาศหรือเผยแพร่ แต่ศาลจะเสื่อมจะเสียก็เพราะพฤติกรรมที่เสื่อมเสียเองของคนในองค์กรที่ปรากฎอยู่ในคลิป จะเสื่อมเสียก็เพราะคนที่เกี่ยวข้องขององค์กร นอกจากไม่ชี้แจงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในคลิปเองแล้ว ยังนิ่งเฉยช่วยกันบิดเบือนประเด็นด้วย อย่างนี้แหละจะยิ่งเสื่อมเสีย"

ผู้สื่อข่าว ถามว่า ประชาชนร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้ หรือไม่ อาจารย์สอนกฎหมายอาญา กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะเป็นหลังจากคลิปฉาวดังกล่าวหลุดออกสู่สาธารณะ ก็คือ กระบวนการหาข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะโดยองค์กรศาล หรือ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เพื่อชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจข้อเท็จจริง แต่ขณะนี้ยังไม่มีคนฟ้องป.ป.ช. ซึ่งจริงๆ ประชาชนทั่วไป หรือใครที่เคยไปสอบเข้ากรณีที่มีประเด็นทุจริตอยู่ในคลิปก็ไปร้องเรียน ป.ป.ช. ได้ เพื่อให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ นักกฎหมายจะเงียบไม่ได้เลย แต่ปรากฏว่า บรรดานักกฎหมายต่างเงียบงันกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักกฎหมายที่สอนหลักวิชาชีพไปทำอะไรอยู่ที่ไหนกันหมด ในระยะหลัง จริง ๆ มันก็นับตั้งแต่มีตุลาการภิวัฒน์ นั่นแหละ ศาล ประชาชน นักกฎหมายสายคุณธรรมทั้งหลาย เรียกร้องศีลธรรมจริยธรรมจากนักการเมือง แต่พอมีประเด็นปัญหา ความสงสัยต่อคุณธรรมจริยธรรมในองค์กรศาลเอง คนที่เคยเรียกร้องเหล่านั้นกลับเงียบงัน

"หลายคนทำหูทวนลม นักกฎหมายบางคนบอกว่าจนบัดนี้ตัวเองยังไม่ได้ดูคลิปเพราะเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ มันน่าเหลือเชื่อที่สุด เพราะในต่างประเทศ คลิปเจ้าหน้าที่ซ้อมผู้ต้องหาซึ่งถ่ายจากมือถือของประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ คลิปการทรมานในคุก หลุดออกมา ยังใช้เป็นพยานหลักฐาน เป็นเบาะแสในการสืบหาข้อเท็จจริงต่อได้ กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก จนผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาทำความกระจ่างให้ปรากฏ เพราะปล่อยไว้ให้เป็นที่สงสัย ก็รังแต่จะเกิดผลเสีย และกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชน แต่นักกฎหมายในประเทศไทยจำนวนมาก กลับเพิกเฉย แล้วกล่าวคำมักง่ายลอย ๆ ว่าคลิปที่หลุดออกมาเป็นของปลอม ไม่ต้องดู และไม่ต้องพิสูจน์ " อาจารย์สาวตรี สุขศรี กล่าว

"เรื่องเร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือ คุณต้องพิสูจน์ว่า องค์กร สถาบัน ยึดถือคุณธรรมจริยธรรมจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงต้องจัดการกับคนที่ไร้จริยธรรมและไร้คุณธรรมนั้น เพื่อรักษาสถาบัน และองค์กรไว้"

เรื่องที่สอง คือ เรื่องการดำเนินคดีกับคนที่ทำคลิปมาเผยแพร่ เรื่องนี้ ก็ต้องทำควบคู่กันไป เพราะหากเขาทำจริง ก็อาจจะฟ้องฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน แต่พอฟ้องแล้วก็จะเกิดกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง สอบพยานกันในชั้นศาล ซึ่งประชาชนรอดูอยู่

กรณีที่กองปราบออกมาให้ข่าวว่าจะไล่ล่าคุณพสิษฐ์(ศักดาณรงค์) ก็เป็นเรื่องของกระบวนการ หากมีการฟ้องร้องกันแล้ว ซึ่งคาดว่าคงฟ้องด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 198 แต่ต้องมีการแจ้งความก่อน ส่วนที่สุดแล้วจะขอตัวมาจากต่างประเทศเพื่อดำเนินคดีได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สาม คือเรื่อง ของการเผยแพร่ ต่อๆ ไป คือ ทำได้ตามวิสัยของประชาชนตามปกติ ติชมด้วยความเป็นธรรม โดยความสุจริต และต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำด้วย เช่น การใช้ถ้อยคำว่า เลวจริง ๆ หรือเหยียดหยาม ประณาม ประจาน ก็ควรหลีกเลี่ยง


ขอขอบคุณ ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น: