วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พงศ์เทพ เผย "เราอาจผิดหวังที่ตุลาการไม่ได้ทำนุบำรุงรักษาระบอบประชาธิปไตย"

คณะนิติราษฏร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฏร) จัดอภิปรายเรื่อง "ตุลาการ – มโนธรรมสำนึก – ประชาธิปไตย" ในวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2553 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง แอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบไปด้วย นายพนัส ทัศนียานนท์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.), นายสถิตย์ ไพเราะ (ผู้พิพากษาอาวุโส), นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา (อดีตอาจารย์ผู้บรรยายวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย) และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ (ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์)

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวว่า "ความน่าเชื่อถือของศาลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้การตัดสินคดีไม่เหมือนกันในแต่ละชั้นเป็นเรื่องปกติ หรือต่อให้ตัดสินไม่ถูก แต่โจทก์หรือจำเลยต่างก็ยอมรับได้ เพราะไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงในองค์กรตุลาการ แต่ถ้ามีความเคลือบแคลงเสียแล้ว ต่อให้ตัดสินถูกต้องที่สุดคนก็ยังไม่เชื่อ สถานการณ์หลังยึดอำนาจ มีพฤติการณ์ คำพิพากษาหลายฉบับที่ก่อความเคลือบแคลงใจต่อสาธารณชน ประกอบกับหลายเหตุการณ์ทำให้ความเคลือบแคลงนั้นกลับเป็นความแน่ใจว่าเกิด อะไรขึ้นในวงการตุลาการ

ยกตัวอย่างกรณีคำตัดสินของศาลยุติธรรมที่ก่อความ แคลงใจ  เช่น อดีต กกต. 4 คนถูกฟ้องคดีอาญา ต่อมาพิพากษาว่า กกต.3 คนมีความผิด มีการขอปล่อยชั่วคราวซึ่งตามปกติแล้วต้องให้ แต่ศาลไม่ให้ จน กกต.เหล่านั้นลาออกจึงได้รับการปล่อยชั่วคราว ต่อมามีการปล่อยเทปบันทึกเสียงผู้พิพากษา 2 คน คุยกับข้าราชการระดับสูง เลขาธิการ ปปง. พูดข้อมูลที่เกี่ยวพันกับคดีนี้ คนปล่อยเทปถูกฟ้องด้วยข้อหาดักฟังโทรศัพท์แล้วแอบอัดเสียง แต่สุดท้ายในแวดวงศาลก็ไม่มีการสอบข้อเท็จจริงใดๆ

ส่วนกรณีคลิปศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเกิดขึ้น ผมเห็นว่าหากมีการตัดต่อจริงถือเป็นการจงใจทำลายใส่ความศาลรัฐธรรมนูญ ที่รุนแรงมากต้องดำเนินคดี แต่หากเป็นเรื่องจริง สื่อมวลชนควรไปสัมภาษณ์ตุลาการที่เหลือว่าเห็นควรทำงานร่วมกับคนเหล่านั้น ต่อไปหรือเปล่า ที่ผ่านมาศาลฎีกาเคยพิพากษาคดีครูเอาข้อสอบไปให้เด็กดู ตัดสินให้เจ้าพนักงานต้องโทษจำคุกคนละ 9 ปี คนสนับสนุนโดนคนละ 6 ปี

ส่วนในประเด็นสำนึกเรื่องประชาธิปไตยของตุลาการนั้น ตั้งแต่ในอดีตเราอาจผิดหวังที่ตุลาการไม่ได้ทำนุบำรุงรักษาระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควร คำพิพพากษาศาลฎีกาปี 2496 ก็รับรองให้ประกาศคณะปฏิวัติเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และปีเดียวกันนั้นเองหนึ่งในผู้พิพากษาคดีนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ยุติธรรม ผ่านมาจนปี 2549 ก็ยังมีผู้พิพากษาที่มีบทบาทก่อนการยึดอำนาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง สำคัญหลายท่านด้วยกัน

สรุปแล้ว มโนธรรมสำนึก เท่ากับ โน(No) สำนึก ไม่ต้องพูดเรื่องหลักวิชาชีพทางกฎหมาย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใครต้องบรรยายเรื่องจริยธรรมตุุลาการคงปวดหัวมาก เพราะไม่สามารถปรับหลักการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย”

ที่มา: ประชาไท และ ปรับปรุงข้อความจาก Twitter #Nitiraj
Justice, Law, and Democracy by Phongthep Thepkanjan

ไม่มีความคิดเห็น: