วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

.....ประเด็นคดียุบพรรคที่บางท่านแกล้งทำไม่รู้ หรือ มองข้าม


ตาม พรบ.พรรคการเมือง 2550

มาตรา ๙๓ ใน กรณีที่พรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมืองแต่พรรคการ เมืองนั้นยังมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ หรือในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๒ ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น

เมื่อ ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐ ธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น


*******************************

มีข้อน่าสังเกต 4 ประการคือ

1 กำหนดเวลา 15 วัน ตามมาตรานี้ เป็นอายุความหรือไม่ หรือเป็นเพียงกำหนดกรอบเวลาการทำงานขององค์กร

หากเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้คดีเป็นอันสิ้นสุด เมื่อไม่ดำเนินการภายใน กำหนดเวลาดังกล่าว ในพรบ.พรรคการเมือง2550 น่าจะระบุให้ชัด แต่กรณีนี้ในพรบ.ไม่มีการระบุไว้เช่นนั้น

กรณีการกำหนดกรอบเวลาการทำงานขององค์กร มีปรากฏในกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่เกินระยะเวลาที่กำหนด ฯลฯ หากถือว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นอายุความ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่ตั้งเมื่อเกินระยะเวลาที่กำหนด มิต้องกลายเป็นโมฆะหรือ?

2 ถ้ากำหนดเวลา 15 วัน ตามมาตรานี้ ถือว่าเป็นอายุความ แต่การที่ศาลรับคดีไว้พิจารณา แสดงว่าศาลได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/29 ที่บัญญัติว่า "เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้" มาปรับใช้ หมายความว่า แม้ สิทธิเรียกร้องอายุความจะครบกำหนดแล้ว กฎหมายก็มิได้ห้ามผู้ร้องฟ้องร้องอย่างเด็ดขาด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล ผู้ถูกร้องต้องยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจึงจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องได้ หากผู้ถูกร้องไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอยุบพรรคผู้ถูกร้อง นั้น พรรคผู้ถูกร้องไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจึงไม่มีอำนาจยกเรื่องอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องได้

3 หากพิจารณามาตรา93 จะพบว่ามีลำดับการทำง่าน 3 ขั้นคือ

1 ปรากฏต่อนายทะเบียนว่า มีพรรคการเมืองทำการตรงตามมาตรา 93 วรรคแรก…..คือ นายทะเบียนทราบว่ามีพรรคการเมืองทำการตรงตามมาตรา 93 วรรคแรก แล้วจึงหาหลักฐานเบื้องต้นเพื่อพิสูจน์ว่า พรรคการเมือง นั้นทำผิดจริง โดยการตั้งคณะทำงาน ฯลฯ เปรียบเหมือนขั้นตอนของพนักงานสอบสวนหรือตำรวจ

2 นายทะเบียนได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องต่อศาล….คือ นายทะเบียนเมื่อได้หลักฐานที่น่าเชื่อได้จากคณะทำงาน จึงนำเรื่องขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานแน่นหนาพอ จึงจะมีมติให้ยื่นต่อศาล เปรียบเหมือนขั้นตอนของพนักงานอัยการ

3 นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน....คำว่าความปรากฏต่อนายทะเบียนจึงต้องหมายความว่า นายทะเบียนรับทราบขั้นตอนที่1และ2 แล้ว จึงยื่นเรื่องต่อศาล

ในกรณีนี้ เมื่อผ่านขั้นที่1 และ 2 คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2552 แต่เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนใหญ่มีความเห็นที่ต่างกันกับนายอภิชาติ ไม่ว่าจะในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือในฐานะนายทะเบียนก็ตาม ก็แสดงว่านายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนยังไม่มี ความตามขั้นตอนที่1 และ 2 ปรากฏต่อตนในฐานะนายทะเบียน

เพราะถ้าถือว่าความปรากฏต่อนายทะเบียนแล้ว นายอภิชาตก็ต้องมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

แต่จากพฤติกรรมที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 จนมีมติตามรายงานการประชุมกกต.ครั้งที่ 41/2553 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องยุบพรรค ปชป.ต่อศาลรธน.กรณีใช้เงินกองทุน 29 ล้าน ก็เป็นการพิสูจน์ว่า นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนยังไม่มีความปรากฏต่อนายทะเบียนในขั้นตอนที่1 และ 2

กรณีนี้เป็นขั้นตอนการทำงานภายในขององค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีสิทธิตัดสินว่า ขั้นตอนเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่มีใครยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาเรื่องนี้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์กรอื่น หรือมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีสิทธิก้าวล่วงไปพิจารณาในเรื่องขั้นตอนการทำงานภายในของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ดังนั้นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องนับจากวันที่กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลในครั้งหลัง คือ วันที่ 12 เมษายน 2553

4 ตามมาตรา93 วรรค2 ตอนท้าย ระบุว่า เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตาม คำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น หากตีความอย่างเคร่งครัด จะเห็นว่า ตามพรบ.ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน หรือไม่ เท่านั้น ซึ่งแสดงว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้ตีความเรื่องอื่น โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนการทำงานภายในขององค์กรอิสระอื่น ที่ไม่มีผู้ร้อง เพราะถ้าเจตนารมณ์กฎหมายต้องการให้พิจารณาเรื่องอื่นได้ มาตรา93 วรรค2 ต้องเขียนว่า "เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐ ธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น"



ไม่มีความคิดเห็น: