วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
แถลงการณ์พันธมิตรฯ นัดชุมนุมจนกว่ายกเลิกแก้ไข รธน. 23 พ.ย.นี้
แถลงการณ์ฉบับที่ 13/2553 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดสร้างเงื่อนไขวิกฤติเพื่อยุบสภา โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง (มาตรา 93-98) 1 ฉบับ และเรื่องเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 190) อีก 1 ฉบับ เพื่อขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาโดยเริ่มต้นวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ถึง วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งกำหนดเป็นวันลงมติของสมาชิกรัฐสภานั้น
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ถือว่าเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองกันเอง โดยที่ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งรัฐบาลยังใช้เล่ห์เพทุบายในการตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพียงเพื่อตบตาประชาชนโดยจำกัดการศึกษาเฉพาะประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น
ทั้งนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอแจ้งให้ทราบว่า เราได้ทำการเตือนรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มาแล้วถึง 4 ครั้ง กล่าวคือ
ครั้งแรก ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 29/2551 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2551 เรื่องคำเตือนก่อนเข้าสู่อำนาจ โดยข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ดังกล่าวได้รวมถึงการขอให้รัฐบาลแสดงจุดยืนที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง และส่งเสริมสนับสนุนร่วมกับประชาชนปฏิรูปการเมืองสร้างการเมืองใหม่เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤติทางการเมืองในอนาคตขึ้นมาอีก
ครั้งที่สอง ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 เรื่องคำเตือนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราได้ประณามและประกาศคัดค้านความพยามของนักการเมืองที่จะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เพราะประเทศชาติยังคงเต็มไปด้วยปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง ปัญหาวิกฤติการทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ แต่นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลกลับสนใจแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเอง และไม่เคยคิดที่จะปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง และไม่เคยให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือขอความเห็นชอบจากประชาชน เราจึงได้ประณามการกระทำดังกล่าว และขอประกาศยืนยันที่จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้อย่างถึงที่สุด
ครั้งที่สาม ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 6/2553 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2553 ขอให้รัฐบาลชุดปัจจุบันหยุดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและให้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองเพื่อประโยชน์สูงสุขของประเทศชาติประชาชน
ครั้งที่สี่ ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ว่าขอให้มีการดำเนินการทำประชามติก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาจากการลงประชามติ ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศมากกว่า 14 ล้าน 7 แสนคน
นอกจากรัฐบาลจะไม่รับฟังคำทักท้วงจากภาคประชาชนทั้งๆที่ได้เตือนถึง 4 ครั้งแล้ว บัดนี้ยังปรากฏอีกว่าที่ประชุมของวิป 3 ฝ่ายของสมาชิกรัฐสภา มิได้นำเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น แต่จะนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บรรจุเอาไว้ก่อนหน้านี้เข้าพิจารณาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาด้วยอีก 2 ฉบับคือ
ฉบับแรก ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช ...(ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 71,543 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) หรือที่เรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ( คปพร.) นำโดย นายเหวง โตจิราการ ซึ่งยึดถือเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ทั้งฉบับ โดยมีการสนับสนุนอย่างชัดเจนจาก พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย และ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ ถือเป็นร่างที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ชุมนุมคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 เป็นเวลา 193 วัน เพราะมีเจตนาฟอกความผิดของนักการเมืองทั้งการทุจริตเลือกตั้งและทุจริตคอรัปชั่น อีกทั้งยังมีเจตนาให้มีลักษณะผูกขาดรวบอำนาจเป็นเผด็จการทางรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์ ครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญโดยนักการเมืองจนไม่สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดของนักการเมืองได้ และถือเป็นเจตนาที่จะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ ทั้งๆที่มาจากความเห็นชอบในการลงประชามติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ
ฉบับที่สอง คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.เขตเดียวคนเดียว (มาตรา 94) และ เรื่องเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 190) ซึ่งนำเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มาประชุมกันและมีมติดังต่อไปนี้
1. เราขอประณามการกระทำของรัฐบาล ที่ไม่ตอบสนองคำเตือนของภาคประชาชนที่ได้ออกแถลงการณ์ ถึง 4 ครั้ง ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง และขอให้มีการลงประชามติเสียก่อนที่จะมีการแก้ไขใดๆ แต่ก็ยังดึงดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยไม่เกิดผลประโยชน์ใดๆต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น อีกทั้งยังใช้เล่ห์เพทุบายในการตั้งคณะกรรมการโดยจำกัดประเด็นเฉพาะผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเองอย่างไร้ยางอายเพียงเพื่อหาความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐบาลต้องการ โดยไม่สำนึกถึงปัญหาวิกฤตสำคัญของบ้านเมืองทั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การทุจริตเลือกตั้ง ของนักการเมืองที่ทำลายชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย
การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนอกจากจะไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่มีความเคารพต่อประชาชนเสียงข้างมาก 14 ล้าน 7 แสนคนที่ลงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และยังถือว่ารัฐบาลได้เหยียบย่ำและทรยศต่อพี่น้องประชาชนที่ได้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 193 วัน ที่ต้องเสียสละ เลือด เนื้อ และชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชามติของประชาชนตลอดปี พ.ศ. 2551
หากไม่มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ระบอบทักษิณก็ครองประเทศอย่างที่ไม่มีใครที่จะไปตรวจสอบใดๆ ได้
หากไม่มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลในขณะนั้นก็คงจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดของระบอบทักษิณ ซึ่งก็คงจะไม่มีการเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น หรือยุบพรรคการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้ง และคงไม่มีพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้เช่นกัน
2. เราขอประณามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้หลอกลวงตบตาประชาชนในการการลงมติที่ประชุมของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 เสียงส่วนใหญ่จำนวน 82 ต่อ 48 ว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องเขตเลือกตั้ง โดยในวันเดียวกันนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังได้ให้สัมภาษณ์อีกด้วยว่า ยินดีหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีการลงประชามติ จึงไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ กับทุกฝ่าย แต่มาในวันนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ กลับเห็นชอบสนับสนุนในการประชุมคณะรัฐมนตรีจนนำเสนอให้ที่ประชุมของสมาชิกรัฐสภาเพื่อพิจารณาได้โดยไม่ผ่านการลงประชามติใดๆทั้งสิ้น แล้วยังมาใช้ข้ออ้างในการตระบัดสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาของตัวเองอย่างไร้สำนึกว่า มีฝ่ายคัดค้านในการทำประชามติและกลัวถูกต่อว่า ว่าเป็นการถ่วงเวลา
3. เราขอประณามนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ที่ตัดสินใจนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ทำให้วาระร่างรัฐธรรมนูญ ของ คปพร. ที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้นั้นเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา ย่อมเป็นชนวนสาเหตุอันสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องเผชิญหน้า เพราะรัฐบาลย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2551 จนมีประชาชนต้องเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต ในขณะอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจาก นปช. และ พรรคเพื่อไทย เช่นกัน
จึงถือว่ารัฐบาลจงใจที่จะสร้างสถานการณ์ทำลายบรรยากาศความสงบเรียบร้อยในชาติ เจตนาสร้างความขัดแย้งและการเผชิญหน้าอย่างชัดเจน และหากเกิดความขัดแย้งรุนแรงนายกรัฐมนตรีก็จะได้อาศัยเป็นสาเหตุในการยุบสภาโดยโยนความผิดให้กับความขัดแย้งของภาคประชาชนอย่างไร้ความรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ในความจริงนายกรัฐมนตรีมีเจตนาที่จะยุบสภาในอีกไม่นานนี้เพื่อหนีปัญหาที่ตอบประชาชนไม่ได้ และหนีความรับผิดชอบที่แก้ไขไม่สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งหน้าที่จะพิจารณาการบริหารจัดการพื้นที่เขาพระวิหาร ตลอดจนหนีปัญหาที่ไม่สามารถยุติการเมืองที่ล้มเหลว ดังที่นายกรัฐมนตรีได้เคยประกาศเอาไว้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ได้ และรัฐบาลจะใช้โอกาสโยนความผิดให้กับผู้อื่นในการยุบสภาเพียงเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองเป็นวีรบุรุษในที่สุด
ความขัดแย้งการเผชิญหน้าทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นจากการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องถือเป็นความรับผิดชอบของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
4. เราขอประณามคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวหาว่าคนที่คิดอยากให้มีการรัฐประหารแอบอิงอยู่กับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้สมมุติว่าจะมีคนอยากเห็นการรัฐประหาร ก็เป็นได้เพียงแค่ความคิดของแต่ละบุคคลที่ไม่สามารถจะมีกองกำลังทำให้เกิดการรัฐประหารได้จริง เพราะกองทัพเป็นผู้อุ้มชูสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้มาโดยตลอด ดังนั้นการกระทำของรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เนรคุณ ตระบัดสัตย์ โกหกเป็นนิจ ขายชาติ ขาดศีลธรรม ต่างหากที่จะเป็นชนวนเหตุที่ยั่วยุทำให้เกิดการรัฐประหารที่แท้จริงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลชุดนี้ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาได้ ก็เพราะกองทัพได้ไปสนับสนุนและเจรจาให้พรรคการเมืองอื่นๆมาจัดตั้งมาเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน และเพราะกองทัพได้มีความกล้าหาญในการใช้มาตรการตามกฎหมาย จัดการกับกองกำลังติดอาวุธ ในภาวะที่รัฐบาลมีความอ่อนแอไม่กล้าสั่งการใดๆ จึงทำให้รัฐบาลสามารถอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นการพูดเรื่องรัฐประหารจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่ไม่มีเหตุผลและไม่มีความรับผิดชอบ และทำให้สังคมมองกองทัพด้วยความหวาดระแวงอย่างไร้จริยธรรม
5. เราขอประณามการที่รัฐบาลจงใจพยายามจะใช้ การประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินให้นานเกินความจำเป็น โดยมุ่งหวังดัดแปลงเป็นเครื่องมือเผด็จการที่จะลงโทษและทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่คัดค้านในประเด็นผลประโยชน์แห่งชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลจึงเหิมเกริมฉวยโอกาสในการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินดำเนินการเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชาติและเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองอย่างอุกอาจ ทั้งเรื่องความพยายามนำผลบันทึกการแก้ไขผลบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาที่สุ่มเสี่ยงให้ไทยต้องเสียเปรียบในทางหลักฐานระหว่างประเทศขอความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองด้วยกันเองโดยไม่ต้องการผ่านการลงประชามติ และใช้กฎหมายเผด็จการมาข่มขู่ กำราบและลงโทษผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติยาวนานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เคยเคลื่อนไหวเพื่อให้ประโยชน์ส่วนตน แต่ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติทั้งสิ้น ทั้งการปกป้องรักษาดินแดน และการปกป้องหลักนิติรัฐและให้เคลื่อนไหวให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
6. เพื่อเป็นการหยุดยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ของนักการเมืองและหยุดยั้งการพิจารณาฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ เราจึงขอวิงวอนเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ถอนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากที่ประชุมรัฐสภา หรือสมาชิกรัฐสภาได้โปรดลงมติไม่เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อความเรียบร้อยสงบสุขของประเทศชาติบ้านเมือง และได้โปรดดำเนินการจัดการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุติความขัดแย้งทั้งปวง
อาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 71 ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าใช้สิทธิในการชุมนุม โดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นฉบับลงประชามติครั้งแรกของปวงชนชาวไทยด้วยคะแนนเสียงถึง 14 ล้าน 7 แสนคน ด้วยการมาชุมนุมตามกรอบของกฎหมายที่หน้ารัฐสภาระหว่างวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. จนถึงการปิดประชุมรัฐสภาในแต่ละวัน จนกว่าจะมีการถอนร่างหรือลงมติไม่รับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ณ บ้านพระอาทิตย์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น