สาวฉันทนาชนะคดี ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้ บ.โรงงานทอผ้ากรุงเทพฯ ชดใช้ค่าเสียหาย 3.6 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้"สมบุญ สีคำดอกแค-และลูกจ้างรวม 38 ราย"ที่สูดฝุ่นฝ้ายเข้าไปจนป่วยปอดอักเสบ หลังต่อสู้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2538
ศาลฎีกาพิพากษายืน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ให้บริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวม 3,690,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง ให้กับนางสมบุญ สีคำดอกแค และลูกจ้างในสถานประกอบการรวม 38 คน ที่สูดฝุ่นฝ้ายเข้าไปจนป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ
การอ่านคำพิพากษาคดีนี้ มีขึ้นที่ศาลแรงงานกลาง ถนนพระรามที่ 4 โดยศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง ให้บริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด จำเลยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2537 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,690,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง ให้กับนางสมบุญ สีคำดอกแค โจทก์ที่ 1 กับลูกจ้างในสถานประกอบการรวม 37 คน ที่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้ดำเนินการให้เกิดภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอันตรายต่อลูกจ้าง ไม่ได้จัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยอย่างได้มาตรฐานและเพียงพอ ทำให้โจทก์ที่เป็นลูกจ้างทั้ง 37 คน ต้องสูดฝุ่นฝ้ายเข้าไป จนป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ
ในชั้นพิจารณาโจทก์และจำเลยแถลงขอให้ถือผลการตรวจวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ที่ศาลตั้งขึ้นเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดี โดยศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์อื่นอีก 36 คน จำนวนคนละ 60,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,690,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องคดี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และโจทก์ไม่ได้เป็นโรคปอดอักเสบทุกคน อีกทั้งผ้าปิดจมูกที่จำเลยจัดให้ได้มาตรฐานแล้ว จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความปลอดภัยในการทำงานนั้น ล้วนเป็นข้อเท็จจริงซึ่งห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 อีกทั้งแม้ฝุ่นฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุอันตรายและเป็นมลพิษจะรั่วไหลหรือแพร่กระจายแค่ในโรงงานของจำเลย ก็ถือเป็นการกระจายของมลพิษตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานแหล่งกำเนิดมลพิษจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2537 มาตรา 96 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบและศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ขณะที่นางสมบุญให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลพิพากษาว่า พอใจกับผลคำพิพากษาของทั้งศาลฎีกา และศาลชั้นต้น ต้องขอขอบคุณที่ศาลให้ความเมตตาและความยุติธรรม ส่วนตนเองนั้นตอนนี้ยังคงต้องดูแลรักษาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แต่โชคดีที่ได้ทำงานด้านการให้คำปรึกษากับพนักงานลูกจ้างโรงงานต่างๆ ที่ต้องทำงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นเดียวกับตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น