เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณี น.ส.ไลลา บุญยศักดิ์ หรือ พลอย-เฌอมาลย์ ดาราพันธมิตรที่เคยออกมาขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ในกรณี ใช้สำเนาบัตรประชาชนนายทวีศักดิ์ บุนนาค ในการรับเงินค่าตัวจากบริษัทแอบโซลูท ฟอร์ ยู จนเป็นเหตุให้ถูกมองว่าตั้งใจหลบเลี่ยงภาษี ขณะที่เจ้าตัวอ้างว่าไม่ทราบเรื่อง เพราะทั้งหมดฝ่ายบัญชีเป็นคนจัดการ อาจเกิดความผิดพลาด ต่อมานายทวีศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมาเคยก็ถูกขอยืมบัตรประชาชนไปใช้ในลักษณะนี้มาก่อน ตนก็ยินยอม เพราะไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นญาติห่างๆ ของ นางธัญดา นิลภิรมย์ มารดาของพลอย รวมถึงบุตรชายของตนก็เคยทำงานเป็นคนขับรถให้พลอยด้วยนั้น
นางธัญดาให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า ตนและลูกไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันญาติกับนายทวีศักดิ์ แต่ยอมรับว่าบุตรชายของนายทวีศักดิ์เคยเป็นคนขับรถให้พลอย แต่ตอนนี้ขับรถให้ตนแทนแล้ว สำหรับเรื่องบัตรประชาชนของนายทวีศักดิ์ที่ถูกนำไปใช้นั้น ตนกำลังตรวจสอบที่มา เป็นไปได้ว่าอาจเป็นความผิดพลาดในการประสานงานระหว่างผู้จัดการส่วนตัวของพลอยและสำนักงานบัญชี และพร้อมให้กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องอย่างเต็มที่
สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ หลายคนมองว่าการร้องไห้ของพลอยในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการร้องเพื่อสร้างภาพนั้น นางธัญดากล่าวว่า ใครจะมองอย่างไรก็ช่าง ขออย่างเดียวว่าถ้าจะว่าขอให้ว่าเพียงตนหรือพลอย แต่อย่าลามไปถึงบรรพบุรุษ เพราะไม่มีใครรู้เรื่อง เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดตนคงทำได้เพียงใช้ธรรมะข่มใจ
"ที่พลอยร้องไห้เพราะเขาเห็นแม่ร้องเลยร้องตาม แม่รู้สึกอึดอัดใจมากที่ลูกของแม่พูดว่าตัวเองผิดอยู่ตลอดเวลา ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่เป็นไร เพราะเรารู้ตัวว่าเราเป็นอย่างไรก็พอแล้ว" นางธัญดากล่าวในที่สุด
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้รายงานความคืบหน้ากรณีการเสียภาษีของพลอยแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างให้สรรพากรพื้นที่ที่รับผิดชอบเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งพลอย บริษัทผู้ว่าจ้างและผู้ที่ยื่นรับค่าจ้างแทนมาให้ปากคำกับสรรพากรพื้นที่ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ที่ระบุว่า ผู้ใด (1) โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ (2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2 พันบาทถึง 2 แสนบาท
นอกจากความผิดดังกล่าวแล้ว กรมสรรพากรจะต้องดำเนินการเอาผิดทางแพ่งด้วย ผู้ที่กระทำความผิดจะต้องจ่ายเบี้ยปรับกรณีไม่ยื่นแสดงรายได้เป็นจำนวนเงิน 1 เท่าของอัตราภาษีที่ต้องชำระตามกฎหมายและชำระเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนนับตั้งแต่มีการคำนวณภาษีเงินได้
"เราถือกรณีนี้เป็นบทเรียน คนทำความผิดเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือไม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะความผิดที่เกิดขึ้นในอดีตถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ต้องปล่อยให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และถือโอกาสทำความเข้าใจกับคนหมู่มากให้ดำเนินการทางด้านภาษีได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป" นายทนุศักดิ์กล่าว
นายทนุศักดิ์กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังจึงได้มอบหมายให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านภาษีแก่บุคคลสาธารณะที่ไม่ได้มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำหรือเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) โดย "นักแสดงสาธารณะ" หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์กโชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น
"บุคคลสาธารณะต่างๆ เหล่านี้บางครั้งรายได้ที่หัก ณ ที่จ่าย 5% เขาไม่รู้ว่าต้องยื่นแบบแสดงรายได้อีกครั้งคิดว่าหักไปแล้วก็หักไปเลย จึงอยากทำความเข้าใจในวงกว้างสำหรับผู้เสียภาษีกลุ่มนี้ให้ดำเนินการทางด้านภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้ไม่มีปัญหาต่อไปในอนาคต" นายทนุศักดิ์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น