วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555
"นิติราษฏร์" เสนอ "ล้างผลพวงรัฐประหาร เพื่อนำคนก่อกบฏมาลงโทษ"
วันนี้ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเวทีวิชาการนิติราษฎร์เสวนา 2 ปี นิติราษฎร์ 6 ปีรัฐประหาร โดยเป็นเวทีวิชาการที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกการครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยในงานมีกลุ่มประชาชนและกลุ่มคนเสื้อแดงมาร่วมฟังการบรรยายจนล้นออกมาจากหอประชุมศรีบูรพา
นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรในหัวข้อ รัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่า เมื่อมีการรัฐประหารแล้วอำนาจอธิปไตยควรจะไปอยู่ทีประชาชนหรือที่องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะนิติราษฎร์ที่จะหาคำตอบนั้น นอกจากนี้ในสมัยก่อนเมื่อเกิดการรัฐประหารจะไม่มีนักกฎหมายคนไหนออกมาปกป้องหรือป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประะหารแต่หลังจากเกิดการรัฐประหารปี 2549 ก็มีกลุ่มนักกฎหมายบางกลุ่มออกมาตะโกนให้สังคมรู้ว่า ยังมีวิธีที่จะลบผลพวงและป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารในอนาคตได้
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ถ้าสามารถทำให้ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารเป็นจริงได้ ก็จะสามารถนำตัวผู้ก่อการรัฐประหารถูกดำเนินคดีในชั้นศาลได้ แต่ที่ยังไม่สามารถปรากฎเป็นจริงได้นั้นเพราะคณะนิติราษฎร์ไม่มีอำนาจทางการเมือง ดังนั้นสิ่งที่ควรช่วยกันก็คือ ประชาชนจะต้องเผยแพร่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ให้เผยแพร่ออกไปให้มากที่สุด เพื่อฝ่ายการเมืองจะนำไปปฎิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้ แล้วแม้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะไม่สามารถเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้ แต่ข้อเสนอก็ยังอยู่และถูกเผยแพร่้ไปแล้ว ดังนั้นถ้าเกิดมีการรัฐประหารในอนาคต ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างแน่นอน
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นกำเนิดให้รัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นสากล โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารในครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถ่วงดุลหรือสอดคล้องกันตามหลักรัฐธรรมนูญสากลเหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2492 มีการเพิ่มองคมนตรีขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ กำหนดให้องคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการ ห้ามมีการแก้่ไขกฎมณเฑียรบาล ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นสากลให้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์มีอิสระต่ออำนาจของประชาชนขนาดนี้ ดังนั้นข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญก่อนการรัฐประหารปี 2490 เป็นต้นแบบในการจัดร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะนิติราษฎร์ เหตุเพราะช่วงปี 2475 ถึง 2490 สังคมไทยในช่วงนั้นมีการถ่วงดุลกันระหว่างองค์กรทางการเมืองกับสถานะของสถาบันนั้นมีความสอดคล้องกับหลักสากล
ส่วนนายปิยบุตร แสวกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีการรัฐประหารกี่ครั้ง อำนาจสูงสุดก็จะเป็นของประชาชน ไม่มีทางถอยเป็นก่อนปฎิวัติ 2475 อีกแล้ว แล้วแม้บางครั้งอำนาจของประชาชนจะถูกฉกฉวยเพราะอำนาจที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยบ้าง อย่างไรเสียประชาชนก็จะทวงอำนาจที่เคยเป็นของตัวเองคืนมา
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็เป็นการช่วงชิงอำนาจสูงสุดของประเทศจากพระมหากษัตริย์ไปสู่ประชาชน โดยพระมหากษัตริย์ยินยอมที่จะให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนผ่านการลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
แต่ปัญหาสำคัญของสังคมไทยและกระบวรการยุติธรรมของไทยก็คือ นักกฎหมายยุคปัจจุบันกลับไม่ซึมซับแนวคิดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงตีความกฎหมายไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เกิดปัญหาสองมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมของไทย ใช้หลักนิติรัฐนิติธรรมแบประชาธิปไตย นักกฎหมายจะต้องตีความกฎหมายตามแนวคิดการปกครองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ใช่มีสำนึกทางกฎหมายว่าอำนาจสูงสุดมิใช่เป็นของประชาชน
ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวถึงความชอบธรรมของประชาชนในการยืนยันถึงอำนาจอธิปไตย ว่า นักกฎหมายของฝ่ายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้สร้างวาทกรรมที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานานคือ “อเนกนิกรสมโสรสมมติ” กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับผู้ปกครองในการใช้อำนาจปกครองที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ซึ่งมาจากคติทางพระพุทธศาสนาใช้มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ “กษัตริย์ถูกพร้อมใจให้เลือกเป็นผู้ปกครองเพราะทุกคนยินยอมพร้อมใจกันเลือกให้เป็นผู้ปกครอง” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ “ผู้ปกครองเป็นผู้ถูกเลือกให้ขึ้นไปปกครอง” มิใช่ “ผู้ถูกปกครองยอมศิโรราบให้แก่ผู้ปกครอง”
ในประวัติศาสตร์ของไทยกลับไม่มีราษฎรเกี่ยวข้องในกระบวนการการเลือกผู้ปกครองอย่างแท้จริง นอกจากเหล่าชนชั้นสูงและขุนนางที่เป็น “นิกรสมมติ”แทน และคติ “อเนกนิกรสมโมสรสมมติ” กลับถูกนำไปสร้างคำอธิบายให้กับการปกครองเผด็จการที่ใช้คำอื่น ๆ ของไทยในเวลาต่อมา เช่น คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกที่แพร่หลายในช่วงหลัง พ.ศ.2500 ประชาชนมีหน้าที่เชื่อฟังผู้ปกครองแบบอำนาจไหลจากบนลงล่างด้วยเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนไทยยอมจำนนยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้น ประชาชนต้องยืนหยัดอำนาจประชาธิปไตยของตนเอง เพราะประชาชนเป็นผู้ตั้งผู้ปกครอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น