วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

อึ้ง! "หมอสุพัฒน์" จอมโหด เคยเขียน จม.ยกย่อง "คมช. เป็นวีรบุรุษของชาติ"

go6TV (22 กันยายน 2555) จากกรณีข่าวนายแพทย์มือโหดฆ่าสองสามีภรรยาและแรงงานพม่าอีก 2 คนตาย และฝังอำพรางศพที่ในไร่หลังบ้านจังหวัดเพชรบุรีนั้น  ทีมงานได้ตรวจสอบย้อนหลังประวัติ พ.ต.อ. นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ นั้น อดีตเคยชื่นชมคณะรัฐประหาร หรือ คมช. ขนาดเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึง คณะ คมช. ผ่านหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน และตีพิมพ์ซ้ำลงในคอลัมน์ บ.ก.ฟอรัม วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2550 แสดงความเห็นชื่นชม ยินดีในการรัฐประหาร และชื่นชมที่คณะรัฐประหารต่างเป็นคนดี กำจัดคนชั่วเพื่อชาติบ้านเมือง ดังมีข้อความในจดหมายดังนี้

“จากประชาชนถึง คมช."

เรียน บรรณาธิการมติชน

จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศในอดีต อาทิ นโปเลียน, ฮิตเลอร์, มุโสลินี, ฮวน เปรอง รวมทั้งท่านทักษิณ ล้วนแล้วแต่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน แต่หากผู้นำเหล่านี้เมื่อมีอำนาจมากมักลืมตัวใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งมีบริวารที่คอยประจบประแจงสอพลอ ให้ข้อมูลผู้บริหารประเทศไม่ตรงกับความจริง ทำให้ผู้นำเหล่านั้นตัดสินใจผิดพลาด ศรัทธาของประชาชนเสื่อมถอยนำไปสู่ชะตากรรมสุดท้ายที่น่ากลัว จึงเป็นบทเรียนที่ผู้นำทั้งหลายควรศึกษา เพื่อจะได้ไม่เดินตามวัฏจักรผู้นำในอดีต (Knowing The Future by Learning the Past)

เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ถึงขณะนี้ผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดกำลังเดินเข้าสู่วัฏจักรแห่งอดีต โดยมีสิ่งบอกเหตุหลายประการ

1.ทำร้ายคนดีหรือส่งเสริมคนชั่ว ข้าราชการเปรียบเสมือนมือของผู้บริหารในการปฏิบัติงาน หากทำร้ายคนดีและให้คนชั่วได้มีอำนาจ ประชาชนก็จะเดือดร้อน (ตามพระราชดำรัส) รัฐบาลบริหารราชการสำเร็จต้องใช้คนดี เก่ง และซื่อสัตย์ มิใช่ลิ่วล้อที่สร้างภาพประจบสอพลอ คนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของงาน

2.เริ่มมีความคิดที่จะไม่ฟังใครและมองผู้ที่มีความเห็นแตกต่างไปในทางลบ เห็นได้ชัดเจนจากรัฐบาลชุดที่แล้วในยุคปัจจุบันหมดสมัยผู้นำเผด็จการไปแล้ว แม้จะมีอำนาจสูงสุดก็ควรรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของ ผู้นำ ประการหนึ่งคือ มีความคิดริเริ่มและนำเสนอแนวความคิดให้ผู้ร่วมงานและประชาชนให้ยอมรับ และต้องรู้จักอธิบายให้ประชาชนหรือผู้ร่วมงานเข้าใจถึงแนวความคิดของตนเอง นำไปสู่การปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ

3.ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง มีอำนาจก็มีการเสื่อมอำนาจ ต้องก้าวลงจากอำนาจในจังหวะที่เหมาะสม ในขณะที่มีอำนาจเด็ดขาดจะต้องใช้ความเด็ดขาดเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ (รัฐบาลเลือกตั้งไม่มีอำนาจนี้) การจัดการกับข้าราชการทุจริต องค์กรท้องถิ่นทุจริต นักการเมืองทุจริต การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดน ปัญหายาเสพติดที่กลับคืนมา หากไม่ใช้โอกาสนี้แก้ไขก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่ปฏิวัติ หรือการปฏิวัติเป็นเพียงความต้องการอำนาจเพียงเท่านั้น

คณะปฏิวัติและท่านนายกฯ ล้วนแต่เป็นข้าราชการระดับสูงที่มีประวัติการทำงานที่ดีเด่นมาตลอดชีวิต ทุกคนล้วนเสียสละและทุ่มเทให้กับประเทศชาติมาโดยตลอด จึงสมควรได้รับการยกย่องและจารึกในประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่ดีเพื่อเป็นที่ภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล

ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ท่านจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในด้านดีหรือชั่ว ท่านเองเป็นตัวกำหนดอนาคต

ด้วยรักและหวังดี

นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ

ไม่มีความคิดเห็น: