วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

"กรมชลประทาน" สุดทนแฉ! "กทม." ไม่เปิดประตูช่วยระบายน้ำฝั่งปทุมฯ

go6TV (11กันยายน 2555) นายชูชาติ ศุภวรรธนางกูร ผอ.โครงการชลประทานปทุมธานี เปิดเผยสถานการณ์น้ำ ในเขต จ.ปทุมธานี ขณะนี้เท่าที่สังเกตจากกระแสน้ำ รอยต่อระหว่าง จ.พระนครศรอยุธยา-ปทุมธานี ณ บริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งอยู่ที่ 1,800  ลูกบาศก์เมตร/วินาที เท่านั้น ระดับน้ำก็ยังต่ำกว่าตลิ่ง 80 เซนติเมตร ต่างจากจุดวิกฤตน้ำท่วมของปี พ.ศ. 2554 ที่กระแสน้ำไหลผ่านบริเวณเดียวกันที่ 3,000-3,500 ลูกบาศก์เมตรวินาที หรือสูงกว่านั้น จนถึงกว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ปริมาณน้ำฝน ในเขื่อนหลักๆ ของประเทศ บริเวณต้นน้ำตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ เท่าที่ติดตามดูก็เริ่มเบาบางลง อันเป็นปัจจัยที่โอกาสน้ำท่วมหนักเช่นปี พ.ศ.2554 นั้นไม่เกิดขึ้นแน่นอน



"ขอพี่น้องประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก สิ่งที่น่าห่วงคือกระแสความวิตกกังวลของประชาชน ซึ่งเคยมีบทเรียนจากปัญหาอุทกภัยของปี พ.ศ.2554 มาแล้ว เพื่อลดกระแสวิตกกังวลลง จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบงานประตูระบายน้ำของ กทม.ฝั่งตะวันออก ที่ไม่ยอมเปิดรับน้ำจากคลองติดต่อเขต จ.ปทุมธานี อาทิ คลองพระยาสุเรนท์ เขตสายไหม คลองควายหาย และคลองบางเขน ขอให้เปิดประตูระบายน้ำขึ้นระบายน้ำผ่านบ้าง และนอกจากนี้ บริเวณคลองส่งน้ำลอดใต้ดิน หรือระบบส่งน้ำไซฟอน พระธรรมราชา, ผ่านคลองสิบสาม, ที่รับน้ำผ่านได้เพียง 30-40 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ไม่สามารถรองรับการระบายน้ำของคลองระพีพัฒน์ ที่อยู่ฝั่งด้านเหนือของปทุมธานี เขตติดต่อพระนครศรีอยุธยา จึงอยากเสนอแนวคิดให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน กบอ. ให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยระบายน้ำจากคลองต่างๆ ในเขต จ.ปทุมธานี ที่รับน้ำจากคลองระพีพัฒน์"

นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือหนัก รถแบ๊กโฮ รถขุด รถแทร็กเตอร์ รถเครน และพนักงานเจ้าหน้าที่ อยู่ในความพร้อมที่จะเผชิญเหตุออกปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐบาลประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งจากการติดตามเฝ้าระวัง ได้ตรวจตามแนวตลิ่งในเขต อ.เมือง และ อ.สามโคก ก็ยังอยู่ระดับต่ำกว่าตลิ่ง ซึ่ง จ.ปทุมธานี เป็นจังหวัดที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำจะมามากหรือน้อย ก็ได้รับผลกระทบกับชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยชินกับวิถีชีวิตริมน้ำ คาดว่าระดับน้ำปี 2555 จะไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ประมาท ได้ติดตามผลของปริมาณน้ำฝนตลอดอย่างใกล้ชิด จนถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม

ไม่มีความคิดเห็น: