วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" ชวน "เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์" ผลิตรถยนต์ในไทยลงทุน 1.5 หมื่นล้าน



Go6TV (8กันยายน2555) เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ออโตโมบิล จ่อยึดไทยผลิตรถเก๋งลงทุนเบื้องต้น 1.5 หมื่นล้านบาท ผลิต 1แสนคัน/ปี   เน้นส่งออกตลาดเออีซี ขนาดตั้งแต่ 1300, 1500และ1800 ซีซี เป็นเครื่องเทอร์โบ ใช้แบรนด์"เอ็มจี"   ประธานพร้อมผู้บริหารจากจีนจะเดินทางมาไทย ลั่นหากบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรและเริ่มทำตลาดรถแบรนด์เอ็มจี ในไทยทันที

        ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าหลังจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เดินสายไปโรดโชว์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกับฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้ไปพบกับผู้บริหารบริษัท   เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ออโตโมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์เอ็มจี (มอร์ริส การาจส์) เพื่อทาบทามให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยบริษัทดังกล่าวแสดงท่าทีสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ผลิตรถเก๋งนั่งพวงมาลัยขวาโดยใช้แบรนด์"เอ็มจี"
  
         "ในเบื้องต้นที่หารือกันว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินลงทุนที่ยังไม่รวมซัพพลายเชน มีขนาดกำลังการผลิตปีแรกที่ 100,000 คัน เป็นระบบหัวฉีดเครื่องทอร์โบ มีขนาดตั้งแต่ 1300 ซีซี , 1500ซีซี และ1800 ซีซี ตอนที่ไปโรดโชว์นั้นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและยืนยันกับนักลงทุนต่างชาติว่าสถานการณ์ในประเทศไทยกลับมาสู่ภาวะปกติแล้วหลังจากเผชิญวิกฤติภัยธรรมชาติ"
  
           ปัจจุบันบริษัท  เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ออโตโมบิล จำกัด มีรายได้ต่อปีราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลิตรถยนต์นั่งปีละ 4 ล้านคัน  มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษและจีน  ก่อนหน้านี้ไปเทกโอเวอร์แบรนด์"เอ็มจี"พร้อมกับเข้าซื้อเทคโนโลยีของรถโรเวอร์(ซื้อเฉพาะเทคโนโลยีไม่ได้ซื้อแบรนด์) จากประเทศอังกฤษ

         ด้านนายธนากร  เสรีบุรี  รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) และประธานสภาธุรกิจไทย-จีน เปิดเผยว่า กรณีการนำแบรนด์ เอ็มจี  ภายใต้การดูแลของ เซี่ยงไฮ้ออโตโมบิล ประเทศจีน มาทำตลาดในประเทศไทยนั้น ประธานเซี่ยงไฮ้และคณะผู้บริหารจากจีนจะเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งหากบรรลุข้อตกลงร่วมกันก็จะเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรและเริ่มทำตลาดรถแบรนด์เอ็มจี ในไทยให้เร็วที่สุด

  "การทำตลาดนั้น ในเบื้องต้นจะมีการใช้โรงงานรับจ้างประกอบในประเทศไทยก่อน เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่เพื่อรองรับการผลิตในอนาคต คาดว่าจะต้องใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ในจำนวนหลักพันคันเป็นต้นไป และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ขยับขยายไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในหลัก 4-5 หมื่นคัน"

  สำหรับการรุกตลาดในครั้งนี้บริษัท เซี่ยงไฮ้ ฯได้วางให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์นั่งสไตล์สปอร์ตแบรนด์เอ็มจี พวงมาลัยขวา ที่จะผลิตเพื่อป้อนทั้งตลาดในและตลาดต่างประเทศ  ซึ่งซีพีเราทำธุรกิจในประเทศจีนมานาน และ เซี่ยงไฮ้ ก็เป็นพันธมิตรร่วมกัน ซึ่งตัวแทนจากจีนระบุว่าจะต้องทำกับซีพีเท่านั้น ในส่วนของเราทางคุณธนินท์ (ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานซีพี)มองว่าน่าสนใจ ก็เลยมีการศึกษาร่วมกัน และตัวแทนจากจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5 เที่ยวแล้ว มีความสนใจในตลาดไทยมาก เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ หากมีโอกาสก็อยากจะทำตลาดให้เร็วที่สุด
นายธนากร กล่าวว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงาน และเงินลงทุนนั้น จะมีความชัดเจนเมื่อมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ  เบื้องต้นเชื่อมั่นว่าแบรนด์เอ็มจี จะได้รับการตอบรับที่ดีในไทย เนื่องจากเป็นแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียง อีกทั้งคุณภาพมาตรฐานในการผลิตก็ไม่แพ้รถญี่ปุ่นแต่อย่างใด
"จริงๆหากบรรลุข้อตกลงและเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ เราก็มีการเตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ เนื่องจากบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิลฯ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์"

  นายธนากร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจับมือร่วมกันกับไทยยานยนตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์"เฌอรี่"ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันไทยยานยนตร์มีการทำตลาดโดยนำรถเข้ามาจำหน่ายจากจีน  ซึ่งซีพี เคยประกาศว่าหากมีการตั้งโรงงานผลิตรถในประเทศไทย ก็มีความสนใจที่จะร่วมธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีแผนงานและความคืบหน้าเรื่องการตั้งโรงงานแต่อย่างใด 

              นายกลิน บุณยนิตย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนต์ จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ซีพีจะเข้ามารุกในธุรกิจยานยนต์ โดยนำแบรนด์ เอ็มจี มาเปิดตัวต่อตลาดไทยนั้น มิได้มีผลกระทบกับไทยยานยนตร์แต่อย่างใด ปัจจุบันการบริหาร-การขาย-การตลาดต่างๆ ของแบรนด์เฌอรี่ในประเทศไทยจะเป็นหน้าที่หลักของไทยยานยนตร์ แต่หากเป็นการเจรจากับบริษัทแม่ที่จีน หรือดีลเงื่อนไขต่างๆ นั้นจะมีซีพีเข้ามาดูแล

            ขณะที่ความเคลื่อนไหวของบริษัท ในการเจรจากับบริษัทแม่เพื่อมาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยนั้น ยังคงมีการพูดคุยกันอยู่ต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนที่จะเปิดเออีซี ซึ่งรถที่จะผลิตจะเป็นรถยนต์ในกลุ่มเพื่อการพาณิชย์

            "เฌอรี่มีไลน์ประกอบที่มาเลเซีย แต่ยังติดขัดปัญหาด้านส่งออก ทำให้บริษัทที่จีนต้องมองหาฐานการผลิตเพิ่ม และไทยก็มีความน่าสนใจ ประกอบกับไทยยานยนตร์มีโรงงานประกอบรถยนต์อยู่แล้ว หากบริษัทแม่ตกลงก็สามารถที่จะรีโนเวต ลงทุนด้านเครื่องจักรเพิ่มเติมได้เลย"

            สำหรับไทยเฌอรี่ยานยนต์เป็นการจับมือร่วมกันของกลุ่มซีพี และกลุ่มไทยยานยนตร์ ของนายวิทิต ลีนุตพงษ์ เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ปัจจุบันมีรถยนต์ที่จำหน่ายได้แก่ คิวคิว,ทิกเกอร์,เอ 1,ครอส และบิ๊ก ดี

ไม่มีความคิดเห็น: