ศาล รธน. มติ 7 ต่อ 1 ตัดสิน 6 ส.ส. ถือหุ้นต้องห้าม-ขัดรัฐธรรมนูญ "เกื้อกูล-บุญจง-ม.ร.ว.กิติวัฒนา" ไม่รอด ส่วน ส.ว.ทั้ง 16 คน ไม่เข้าข่ายขัดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ให้ ส.ส.จำนวน 6 คนกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 265 จากกรณีการเข้าไปถือหุ้นในกิจการที่รับสัมปทานรัฐและกิจการสื่อหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งถือเป็นการกระทำต้องห้าม จึงมีผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
สำหรับ ส.ส. 6 คน ได้แก่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา, นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช (ลูกชาย นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีต ส.ว.ขอนแก่น) ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ม.ร.ว.กิติวัฒนา(ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งมีทั้งกรณีที่เข้าไปถือหุ้นด้วยตัวเอง หรือคู่สมรสเข้าไปถือหุ้น
ทั้งนี้ นายเกื้อกูล ปัจจุบันเป็น รมช.คมนาคม และ นายบุญจง เป็น รมช.มหาดไทย ส่วน ส.ว.ทั้ง 16 คน ศาลฯ เห็นว่าไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรรมนูญ
อนึ่ง คดีนี้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของ 16 ส.ว. และ 29 ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(5) และ 106(6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265(2) (4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่
ขณะที่ผู้ถูกร้องประกอบด้วย ส.ว. 16 คน และ ส.ส.อีก 29 คน ได้แก่ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 13 คน, เพื่อไทย 8 คน, เพื่อแผ่นดิน 3 คน, ภูมิใจไทย 2 คน, ประชาราช 2 คน และชาติไทยพัฒนา 1 คน โดยในจำนวนนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี ไปก่อนหน้านี้แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น