วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

"เจ้าสัวซีพี" พูดชัด! "จำนำข้าวดีกว่าประกันรายได้" ชาวนารวยขึ้น

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานายธนินท์  เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เจ้าของอาณาจักรธุรกิจเกษตรรายใหญ่ของเมืองไทยได้ขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ประเทศไทยรับมือเศรษฐกิจโลกใหม่"  ในงานสัมมนาระดับชาติในวาระครบรอบ 20 ปี แห่งการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของปาฐกถาเจ้าสัวธนินท์ได้ให้มุมมองถึงยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรสำคัญของไทยในอนาคตที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน โดยโฟกัสไปที่สินค้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย (น้ำตาล) และปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ
++จี้พลิกโฉมยางครั้งใหญ่ สำหรับสินค้ายางพารานั้น นายธนินท์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยส่งออก ยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลกโดยปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกกว่า  6.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกในรูปยางแท่งที่ใช้เป็นวัตถุดิบ 3.97 แสนล้านบาท และยางพาราแปรรูปอีก 2.52 แสนล้านบาท  ซึ่งยางพาราไทยยังมีอนาคตไปได้อีกไกล จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกรในการลงทุนปลูกยางไร่ละ 3.6 หมื่นบาท/ไร่ และระหว่างที่รอยางพาราโต และกรีดยางพาราได้ต้องลงทุนอีก 5 ปี ปีละ 8,000 บาท/ไร่ เพื่อปลูกพืชอื่นระหว่างแปลงยางเพื่อเสริมรายได้ อาทิ ปลูกมันสำปะหลัง สับปะรด เป็นต้น
 ทั้งนี้หากในระหว่างร่องยางมีการปลูกมันสำปะหลัง สับปะรด ใน 3 ปี เกษตรจะมีรายได้ 1.2 หมื่นบาท  หักต้นทุนไป 4.8 หมื่นบาท ยังเหลือ 2.6 หมื่นบาท  พอปีที่ 6 เริ่มกรีดยางได้ สมมติราคาที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ได้ยาง 180 กิโลกรัมต่อไร่ จะมีรายได้เข้ามา 1.14 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี พอปีที่ 7 ได้ยาง 300 กิโลกรัมจะได้ 2.4 หมื่นบาท  ปีที่ 8 ได้ผลผลิตยาง  500 กิโลกรัม ก็ได้ 4 หมื่นบาท รวม 3 ปีได้เงิน 7.84 หมื่นบาทต่อไร่ ถ้าเกษตรกรยังมีหนี้อยู่ 3.6 หมื่นบาท แต่ 3 ปีได้ถึง 7.84 หมื่นบาท หักแล้วยังมีเงินเหลือ
 เรื่องนี้ผมว่าให้เกษตรกรกู้ไปเถอะไม่เสียหายแน่นอน และหากราคายางเป็น 100 บาท เป็น 120 บาทต่อกิโลกรัมเกษตรกรยิ่งมีรายได้เพิ่มมาก ผมมองแล้วยางในอีก 20 ปียังไม่มีอะไรมาทดแทน เพราะน้ำมันยิ่งแพงยางเทียม(ยางสังเคราะห์)ก็แพงตามไปด้วย
++ต้องเร่งสปีดหนีแอฟริกา อย่างไรก็ดี นายธนินท์ เตือนให้ระวังแอฟริกาจะปลูกยางแข่งกับไทย เพราะประชากรมีมาก และภูมิอากาศเหมาะสม ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ยางพันธุ์ดีให้ผลผลิตต่อไร่สูง ปัจจุบันมียางพันธุ์ดีให้ผลผลิตเกือบ 500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และให้ผลิตยาวนานถึง 36 ปีแล้ว จากเวลานี้ยางพาราโดยทั่วไปให้ผลผลิตเฉลี่ย 25 ปี นอกจากนี้ขอให้สนับสนุนเงินทุนในท้องถิ่นตั้งโรงงานยางแท่ง และต่อยอดถึงโรงงานผลิตยางรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือชักชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุนโดยรัฐควรลดภาษีรายได้เท่ากับฮ่องกง สิงคโปร์ จะช่วยดึงเม็ดเงินการลงทุนได้อีกมาก และเรายางพาราไทยจะไปได้อีกไกลใครก็ตามไม่ทัน
++อ้อย-มันต้องวางแผนพลังงานทดแทน
 ส่วนในสินค้าอ้อย(น้ำตาล) ขณะนี้มูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทยเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ส่วนแง่ผลผลิตไทยอยู่อันดับ 4 รองจากบราซิล จีน อินเดีย รัฐบาลจะต้องเร่งวางแผนส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และนำอ้อย และมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเอทานอลเพื่อใช้ในประเทศทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ที่แต่ละปีไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศปีละกว่า 1.3 ล้านล้านบาท  เฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือมีความเหมาะสมในการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้งสองชนิด
 "ไทยนำเข้าน้ำมันดิบปีละ 1.3 ล้านล้านบาท หากเราสามารถผลิตเอทานอลมาทดแทนได้ 30% จะสามารถเซฟเงินซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ปีละ 2.66 แสนล้านบาท"
++2.2 ล้านล้านเพิ่มผลผลิตข้าว
 นอกจากนี้นายธนินท์ยังพูดถึงสินค้าข้าวว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานของไทยมีประมาณ 24 ล้านไร่ แต่ระบบชลประทานยังไม่สมบูรณ์ หากจะให้สมบูรณ์รัฐบาลจะต้องลงทุนอีก 2.2 ล้านล้านบาท ในเรื่องคลองส่งน้ำ และระบบระบายน้ำ เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือได้ผลผลิตเท่ากับ 57 ล้านไร่ เน้นข้าวคุณภาพดี ผลผลิตต่อไร่สูงใช้พื้นที่น้อย ส่วนพื้นที่การเกษตรของไทยที่เหลืออีก 33 ล้านไร่สามารถนำไปปลูกพืชอื่นได้ เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ไม่จำเป็นต้องมาปลูกข้าว 
 "ประเทศไทยเราอุดมด้วยดินฟ้า อากาศ น้ำฝนแต่ละปีก็มีมากจนเกินความต้องการทำไมไม่ลงทุนทำเรื่องชลประทาน ผมว่าลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท  ทำให้ที่ดินเราเหลืออีก 33 ล้านไร่ ลงทุนปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่ข้าว ไร่ละ 5 หมื่นบาท เพิ่มมูลค่าอีก 5 หมื่นบาทก็จะได้อีกเกือบจะ 2 ล้านล้านบาท
 นายธนินท์ กล่าวอีกว่าอยากให้ชาวนาไทยได้ไปเที่ยวทั่วโลก และพักโรงแรมห้าดาวเหมือนชาวนาญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ จากเมื่อ 20 ปีก่อนชาวนาไต้หวันจนกว่าชาวนาไทย ส่วนชาวนาเกาหลีใต้ใช้เวลาในการพัฒนาการเพาะปลูกข้าว 27 ปีชาวนาอยู่สุขสบาย ขณะที่ชาวนาไทยยังเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งมองว่าหากนโยบายของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ผิดพลาดจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
 "ผมว่าทุกอย่างมีจุดดีและจุดเสีย ผมว่าเราควรมาแก้ไข นักวิชาการน่าจะแนะนำว่ามีอะไรที่ดีกว่าเดิม และต้องมีเหตุมีผลว่าดีอย่างไร และสามารถปฏิบัติได้ ส่วนหนึ่งจะมีโอกาสถ้าหากทุกฝ่ายช่วยผลักดันชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น จากประสบการณ์ผมมองว่า จำนำข้าวดีกว่าประกันรายได้ เพราะสมมติผมจำนำไว้ 15 บาท ถ้าข้าวเปลือกในตลาดเป็น 16 , 17 บาท ผมยังไถ่ถอนออกมาขายได้ ขณะที่ประกันรายได้ 10 บาทก็ 10 บาท"
++รัฐไม่ต้องเร่งระบายข้าว ส่วนกรณีที่รัฐบาลต้องแบกสต๊อกข้าวสารในเวลานี้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตันจากโครงการรับจำนำข้าวมองว่าไม่น่าห่วง เพราะหากต้องการความปลอดภัยทางด้านความมั่นคงด้านอาหารเราต้องเก็บสต๊อกไว้อย่างน้อย 6 ล้านตัน หรือต้องเก็บไว้หนึ่งรอบการผลิต(4-5 เดือน) ไม่ใช่ขายจนเกลี้ยง เพราะหากมีข้าวขาดตลาดชาวบ้านเคยซื้อครั้งละ  5 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 10 กิโลกรัม หรือจาก 10 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 20 กิโลกรัม ถือเป็นเรื่องเล็ก เวลานี้ก็มีข่าวสหรัฐอเมริกา  และอินเดียเกิดภัยแล้งอาจะเป็นโอกาสของไทยการส่งออก
 สำหรับการเก็บข้าวไว้ในสต๊อก 6 ล้านตัน ถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนที่เกิน 2-3 ล้านตัน ถ้ายกระดับราคาข้าวไทยในตลาดโลกได้ถือว่าได้ฟรี เราอย่าไปแข่งกับอินเดีย  อย่างไรก็สู้ไม่ได้ เพราะเวลานี้ค่าเงินของอินเดียลดลงไป 24% เขาขายข้าวราคาถูกกว่าไทย 24% ก็ไม่ขาดทุน แต่ของไทยยังไม่ระบาย นักวิชาการบอกว่าจะเสียหายแสนล้าน ถ้ารัฐบาลไม่เสียหายแสนล้าน ไปกดราคาต่ำไปแสนล้าน แล้วแสนล้านมาเอาจากเกษตรกร เกษตรกรเอาที่ไหนมาเสียแสนล้าน
   "เราจะทำอย่างไรไม่ให้เสียแสนล้าน ต้องเก็บข้าวเอาไว้ และทำอย่างไรให้ราคาสูง คุณขายไปก่อน ผมขายทีหลัง ผมขายน้อยได้เงินมาก ที่เกินนั้นได้ฟรี แล้วผมไปหาข้าวประเทศอื่นไปขาย เช่น ซีพีวันนี้ก็เริ่มซื้อข้าวจากกัมพูชาไปขายทั่วโลก เขาก็พอใจเพราะเราไปช่วยเขานี่คือธุรกิจสมัยใหม่  ผมจะไม่สู้กับเวียดนาม สู้กับพม่า แต่จะสู้ด้วยการเพิ่มมูลค่า  สู้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ และการแปรรูป เขาขายข้าวสาร  ผมขายข้าวผัด ขายข้าวสำเร็จรูป ทำไมผมต้องไปแข่งขันขายข้าวราคาถูกๆ  ซึ่งผู้ที่จะเสียหายคือชาวนา และรัฐบาล" 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,762  2-4  สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: